บันเทิง

'เพลงเก่าและเพื่อนใหม่ของ จอห์น โฟเกอร์ตี้'

'เพลงเก่าและเพื่อนใหม่ของ จอห์น โฟเกอร์ตี้'

03 ต.ค. 2556

'เพลงเก่าและเพื่อนใหม่ของ จอห์น โฟเกอร์ตี้' : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ


    
          คอเพลงสากลยุคปลาย 60 และต้น 70 ต้องรู้จัก จอห์น โฟเกอร์ตี้ ครับ เพราะเขาคืออดีตนักร้องนำและนักแต่งเพลงหลักของวง Creedence Clearwater Revival หรือ CCR ที่มีเพลงดังในยุคนั้นอย่าง Have You Ever Seen The Rain, Lodi, Fortunate Son, Proud Mary ฯลฯ เพลงของพวกเขาเป็นรูทส์ร็อกและร็อกแอนด์โรลล์ที่มีความเป็นอเมริกันสูงมากทั้งเนื้อหาและเนื้อดนตรี อธิบายให้เข้าใจง่ายอีกหน่อยก็คือมันมีความเป็นคันทรี บลูส์ และมีความดิบปนกันอยู่ เนื้อหาก็พูดถึงเรื่องชาวบ้านๆ และเรื่องคนชนบทมากกว่าคนเมืองน่ะครับ
    
          วง CCR แตกวงเมื่อ ค.ศ. 1972 เพราะมีปัญหากันภายในวง หลังจากนั้นจอห์นก็เป็นศิลปินเดี่ยว เขายังทำอัลบั้มดีๆ ออกมาอีกหลายชุดครับ ผมเองเกิดไม่ทันวง CCR หรอก แต่อาศัยว่าชอบเพลงแนวนี้อยู่ไม่น้อย เลยตามเก็บอัลบั้มของพวกเขาทุกชุด และลามมาถึงงานเดี่ยวของจอห์นด้วย ชุดหนึ่งที่ผมเคยฟังแล้วก็ชอบมากคือ Centerfield ที่ออกเมื่อปี 1985 ชุดนั้นมีเพลง I Saw It on T.V. ที่เป็นเพลงเพราะๆ เศร้าๆ แต่เสียดสีวงการสื่อได้อย่างแสบทรวง อีกงานหนึ่งที่ชอบก็คือ Blue Moon Swamp เมื่อปี 1997 ที่เขาแสดงพลังร็อกได้เหลือเฟือ แต่แอบมีเพลงสุดเพราะชื่อ Joy of My Life ซึ่งแต่งให้กับภรรยาแทรกอยู่ด้วย
    
          ในการประกอบอาชีพศิลปินเดี่ยวของ จอห์น โฟเกอร์ตี้ นั้น เขาไม่สามารถเอาเพลงฮิตของ CCR มาเล่นในคอนเสิร์ตได้ครับ เพราะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์กับค่ายเพลงเก่าและกับเพื่อนร่วมวงเก่านี่แหละ แต่ในที่สุดปัญหานี้ก็เพิ่งจะตกลงกันได้เมื่อไม่นานมานี้ แล้วจอห์นก็ไม่รอช้า เขาตัดสินใจทำอัลบั้มล่าสุดเป็นงานกึ่งทริบิวต์ตัวเองโดยเชื้อเชิญเพื่อนใหม่ๆ ในวงการดนตรีมาร่วมเล่นร่วมร้องเพลงฮิตเก่าๆ ของเขาด้วยกัน แล้วตั้งชื่ออัลบั้มว่า Wrote A Song For Everyone ซึ่งเคยเป็นชื่อเพลงๆ หนึ่งของเขาด้วย
    
          คอเพลงที่ติดตาม CCR มาตั้งแต่ยุคโน้นน่าจะรู้สึกอินอัลบั้มนี้ได้ไม่ยาก เพราะมันให้อารมณ์ถวิลหาอดีตอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับคอเพลงรุ่นใหม่ งานนี้เราจะได้ฟังศิลปินรุ่นหลังอย่าง คิด ร็อก, Foo Fighter, Zac Brown Band, My Morning Jackets, มิแรนด้า แลมเบิร์ต, อลัน แจ็กสัน หรือกระทั่งรุ่นไล่ๆ กับ จอห์น โฟเกอร์ตี้ อย่าง บ็อบ ซีเกอร์ มาแจมกับเขาอย่างอบอุ่นครับ จะเห็นได้ว่ามีตั้งแต่ศิลปินร็อกเท่ๆ ยันศิลปินคันทรีจ๋าเลยทีเดียว
    
          แต่ฟังรวมๆ แล้ว อาจเป็นเพราะผมไม่ค่อยชอบเพลงที่เอามาเรียบเรียงใหม่ แล้วก็ไม่ค่อยชอบอารมณ์แบบฟีเจอริ่งที่ต้องสลับกันร้องกระมัง ส่วนหนึ่งผมเลยรู้สึกว่าอัลบั้มนี้มีอารมณ์เหมือนงานที่ศิลปินพากันมาแสดงความเคารพรุ่นใหญ่อย่างจอห์น มันเลยดูเป็นเรื่องส่วนตัวนิดๆ แถมบางเพลงก็กลายเป็นเวอร์ชั่นที่ดูอ่อนนุ่มลงไปเมื่อเทียบกับต้นฉบับดั้งเดิม
    
          แต่เพลงที่ผมคิดว่าเจ๋งมากๆ ในอัลบั้มนี้คือเพลงเปิดอัลบั้มที่เคยเป็นเพลงประท้วงสงครามเวียดนามอย่าง Fortunate Son ที่วงฟู ไฟเตอร์มาทำให้พลังร็อกของเพลงนี้ถึงระดับเต็มสิบไปเลย พอมาฟังเพลงนี้ในอารมณ์นี้ และในวันนี้ มันน่าสะเทือนใจและชวนให้โมโหอยู่ไม่น้อยที่บริบทในเพลงยังไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่เลยนะครับ สงครามยังเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับคนที่ขาดโอกาสในสังคมมากกว่าคนที่ร่ำรวยหรือผู้มีอำนาจอยู่ดี ทั้งที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่ค่อยได้เป็นคนเริ่มก่อสงครามหรอกนะ
    
          ส่วนตัวผมแล้ว อัลบั้มนี้มี 2 เพลงใหม่เอี่ยมที่ผมคิดว่าเป็นไฮไลต์ของอัลบั้มครับ คือ Mystic Highway และ Train of Fools ซึ่งได้อารมณ์เก๋าๆ แบบเพลงเก่าก่อนของ จอห์น โฟเกอร์ตี้ และ CCR เพียงแต่ว่าเนื้อเพลงนั้นเฉียบขาดมากขึ้นตามระดับวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น ทั้งคู่เป็นเพลงที่มีการเปรียบเปรยและใช้สัญลักษณ์ได้อย่างลงตัวมากๆ
    
          ของแถมที่คุ้มค่าสุดๆ ของอัลบั้มนี้คือบุ๊กเล็ตที่แถมอยู่ในปกอัลบั้มครับ เพราะ จอห์น โฟเกอร์ตี้ ลงมือเขียนบันทึกเบื้องหลังบทเพลงทุกๆ เพลงให้เราอ่านกัน ความยาวเท่ากับหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนึงเลยทีเดียว และเนื้อหาที่เขาบรรยายเอาไว้ก็เป็นเหมือนการเขียนชีวประวัติของไอคอนแห่งวงการดนตรีอเมริกันคนหนึ่งผ่านการเล่าเรื่องด้วยบทเพลงฮิต เพลงไม่ฮิต และเพลงใหม่ๆ ของตัวเองด้วย
    
          ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ แฟนเก่า แฟนใหม่ แต่ถ้าสนใจเรื่องดนตรีอเมริกัน ผมคิดว่าบันทึกและบทเพลงของ จอห์น โฟเกอร์ตี้ มีคุณค่าพอสำหรับการผ่านสายตา ผ่านหู และผ่านหัวใจเราสักหลายๆ ครั้งครับ

.......................................
(หมายเหตุ 'เพลงเก่าและเพื่อนใหม่ของ จอห์น โฟเกอร์ตี้' : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ )