
'Midnight in Paris รัตติกาลมหัศจรรย์'
'Midnight in Paris รัตติกาลมหัศจรรย์' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ในจำนวนหนังเฉียด 50 เรื่อง ของผู้กำกับ วู้ดดี้ อัลเลน ในความเห็นส่วนตัวของผม หนังชุดตระเวนยุโรปของเขา เป็นหนังสนุกและพาเราดื่มด่ำกับโลกศิลปะได้มากที่สุดด้วยการพาไปเยือนเมืองแห่งศิลปะใน 3 ประเทศ มีตัวละครเอกเป็นศิลปิน หรือกระทั่งปลุกชีพศิลปินนามอุโฆษมากมายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ตั้งแต่ “Vicky Cristina Barcelona” ที่พา ‘วิคกี้’ และ ‘คริสติน่า’ สองสาวชาวอเมริกันเที่ยวท่องเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ก่อนจะไปตกหลุ่มรักศิลปินหนุ่ม จนเกิดเรื่องวุ่นๆ ตามมา ต่อด้วยเรื่องที่สอง ครั้งนี้ วู้ดดี้ อัลเลน พาคนดูล่องต่อไปยังปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน “Midnight in Paris” จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี เล่าเรื่องความรักของคนหลายคู่ และเฝ้ามองความมหัศจรรย์ในชีวิตของใครอีกหลายคน ผ่านหนัง “To Rome With Love”
…มาดูเรื่องเอกในหนังชุดตระเวนยุโรปของวู้ดดี้ อัลเลน กันครับ เป็นหนังที่กวาดทั้งเงิน คว้าทั้งกล่อง มาครองได้อย่างสมน้ำสมเนื้อเลยทีเดียว สำหรับ “Midnight in Paris” หนังไม่เพียงเล่าความมหัศจรรย์ในเวลาเที่ยงคืนที่เกิดกับ ‘กิล’ นักเขียนหนุ่มชาวอเมริกัน ผู้ติดสอยห้อยตามพ่อตาแม่ยายมาเที่ยวเมืองปารีส ก่อนที่คืนหนึ่งจะแยกกับคู่หมั้นที่ขอไปปาร์ตี้กับเพื่อนสนิท ระหว่างเดินหลงอยู่ในตรอกซอกซอย มีรถเปอร์โยต์คลาสสิก มาจอดรับเขาไปยังงานปาร์ตี้ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านของ ฌองค็อคโต้ กวี นักเขียน นักทำหนัง ชื่อดังแห่งยุค 1920's และที่นั่นเอง เขาได้พบกับบรรดาศิลปินชื่อดังแห่งยุค 20’s มากมาย ตั้งแต่นักดนตรีชื่อก้องโลก โคล พอทเตอร์, สองสามีภรรยา นักเขียน เซลดา และ เอฟสกอตฟิทเจอร์รัลด์ ที่พาเขาไปเจอกับ เออร์เนสต์ เฮมิ่งเวย์ นักเขียนระดับพระกาฬ ซึ่งหลังจากทั้งคู่แนะนำตัวเป็นที่รู้จักกัน กิล ก็อยากให้เฮมิ่งเวย์ ศิลปินในดวงใจ ได้อ่านและขอคำแนะนำให้กับงานเขียนของเขา ก่อนที่เฮมิ่งเวย์ จะแนะนำให้ กิล ไปหาเกอร์ทรูดสทีนผู้ที่ตรวจต้นฉบับให้เขาเป็นประจำ รับหน้าที่ดังกล่าว
กิลเล่าเรื่องประหลาดให้คู่หมั้นฟัง แรกๆ เธอประหลาดใจและขอติดสอยห้อยตามไปด้วย แต่ก็ไม่เจอรถคลาสสิกมาจอดรับเหมือนที่กิลบอก และจากนั้นมาเธอไม่เคยเชื่อสิ่งที่กิลเล่าให้ฟังเลยแม้แต่น้อย ส่วน กิล เอง ในทุกค่ำคืนก็จะหาโอกาส ออกมารอรถเปอร์โยต์คลาสสิกในเวลาเที่ยงคืน เพื่อรับเขาไปหาศิลปินขวัญใจในยุค 1920's อยู่เสมอ จนวันหนึ่ง เขามีโอกาสไปพบเกอร์ทรูด ในโรงแรมที่เธอพัก ก่อนจะพบความมหัศจรรย์ครั้งใหญ่เมื่อมีได้เห็นพาโบลปิกาสโซ่ จิตรกรชื่อก้องโลก ทำงานศิลปะอยู่ที่นั่น และยังได้ทำความรู้จักกับเอเดรียน่าชู้รักของเขาด้วย
กิล ใช้ชีวิตคู่ขนานระหว่างโลกแห่งความจริงในปัจจุบันขณะ กับโลกที่หวนกลับไปสู่วันเวลาแห่งยุคสมัยที่เขาหลงใหลไปกับศิลปินน้อยใหญ่ที่ตัวเองปลาบปลื้ม เท่านั้นยังไม่พอ กิลยัง ได้รู้จักเหล่าศิลปินที่ทำงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ อย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี, แมน เรย์ และ หลุยส์ บุนเยล แถมความสัมพันธ์ของเขาและเอเดรียน่า ก็พัฒนาคืบหน้า เพราะต่างก็ปฏิเสธเวลาแห่งปัจจุบันขณะ แต่กลับหลงใหลอดีต ต้องมนต์เสน่ห์ใน ยุคที่ตัวเองปลาปลื้ม (กิล รัก ยุค1920's ส่วนเอเดรียน่า ก็หลงรักยุค 1890's)
Midnight in Paris ไม่ได้แค่พูดถึงความลุ่มหลงผู้คน แต่ยังพาเราเข้าไปในโลกที่พวกเขาหลงรัก โลกที่กำหนดด้วยยุคสมัย, ไอดอล กระทั่งรสนิยมและทัศนคติที่ต้องตรงกันของคนหนุ่มสาว เช่นเดียวกัน วู้ดดี้อัลเลน ก็ได้สร้างโลกในฝันของเขา ตั้งแต่การบันทึกภาพของมหานครปารีสในแต่ละสถานที่อย่างสวยงามในแทบทุกมุม คืนชีพศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย เรื่องราวเหนือจริงที่เขาสร้างขึ้นไม่ได้ยากต่อการรับรู้ แต่กลับมีเสน่ห์อย่างประหลาด และพูดถึงความรัก ความลุ่มหลง และการค้นหาคนที่ใช่สำหรับตัวเอง แต่ขึ้นชื่อของวู้ดดี้อัลเลน เขาคงไม่เล่าเรื่องแบบนี้ด้วยวิธีง่ายๆ เป็นแน่
Midnight in Paris ยังคงเป็นหนังที่ผู้กำกับ เอลเลน ระดมดาราน้อยใหญ่มาร่วมแสดงคับคั่ง แต่ทั้งหลายทั้งมวลล้วนเป็นนักแสดงมากฝีมือ ตั้งแต่โอเว่นวิลสัน ในบท กิล, มาริยง โกติยาร์ ในบท เอเดียน่า, ราเชลแมคอดัมส์ คู่หมั้นของกิล มีดาราออสก้าร์อย่าง เอเดรียนโบรดี้ มาเล่นเป็น ซัลวาดอร์ ดาลี ส่วนรุ่นใหญ่อย่าง เคธี่เบตส์ กับบท เกอร์ทรูด แถมได้นักร้อง นักแต่งเพลงคาร์ล่า บรูนี่ ภรรยาคนสวยของอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโคล่าส์ ซาโกซี่ มาเป็นนักแสดงรับเชิญในบทไกด์สาวชาวฝรั่งเศสประจำพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่วายมีข่าวลือว่า เธอเล่นถึง 30 เทก กว่าจะแสดงได้ แต่ผู้กำกับอัลเลนก็ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว อีกทั้งยังชมบรูนี่ว่า เธอเป็นมืออาชีพมากส่วนโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ (ที่กลายมาเป็นปก Blu Ray) ก็เก๋ไก๋ ด้วยการให้ตัวละครเดินอยู่บนฉากหลังซึ่งเป็นภาพเขียนของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ที่ชื่อ The Starry Night ในปี ค.ศ. 1889
.......................................
(หมายเหตุ 'Midnight in Paris รัตติกาลมหัศจรรย์' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)