
'พระเอกนักกลอน พรเทพ พรทวี'
'พระเอกนักกลอน พรเทพ พรทวี' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย
รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ เป็นสำนวนคำของคนโบราณที่ว่าเอาไว้ หมายถึงว่าบุคคลต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับ 4 อย่างนี้ จะเป็นคนเจ้าชู้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ได้พบปะกับผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงอย่างมากมายเป็นพิเศษ แต่ก็คงเป็นแค่เพียงสำนวนคำของคนโบราณ ว่ากันจริงๆ แล้วในสมัยนี้ อะไรที่ทำให้ผู้คนนั้นมีจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ขนาดพระภิกษุสงฆ์ทรงศีลก็ยังมีข่าวคราวอะไรในทางที่ไม่ดียิ่งเสียกว่าพวก รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ อีกนะครับ และว่าไปแล้วมันก็คงเป็นที่บุคคลนั้นๆ มากกว่าไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะเป็นตำรวจหรือลิเกหรอกครับที่เป็นคนเจ้าชู้ และก็ใช่ครับผมกำลังจะเขียนถึงพระเอกลิเกท่านหนึ่งที่มีนามว่า พรเทพ พรทวี จริงๆ แล้วคนนี้ก็ไม่ได้เป็นคนเจ้าชู้และก็เป็นพระเอกลิเกที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่พอสมควร และยิ่งโดยเฉพาะในหมู่ของผู้ที่นิยมชมลิเกหรือง่ายๆ ว่าแฟนลิเก รับรองได้ว่าคณะนี้มีชื่อเสียงไม่เป็นสองรองใครในหมู่ของคนเหล่านี้
"พรเทพ พรทวี" พระเอกลิเกคนนี้ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วก็คือเพื่อนศิลปินของผมที่คงต้องบอกว่าเราค่อนข้างจะนับถือซึ่งกันและกันมากพอสมควรครับ สืบเนื่องจากการที่ผมไปตีระนาดประกอบพิธีไหว้ครูที่บ้านหรือที่คณะลิเกพรเทพ พรทวี มานานหลายปี คือจำได้ว่าก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โน่นเลยล่ะครับและปีนี้ก็เพิ่งจะผ่านพ้นไปมาเมื่อต้นเดือนที่แล้ว และจากการที่ได้รู้จักกันมานานพอควรแล้วนั้นก็ทำให้ผมนั้นพอทราบว่า พระเอกพรเทพ หรือคุณบูรณ์ ที่ลูกน้องในคณะนิยมเรียกกันนั้น เขาเป็นคนที่จะค่อนข้างธรรมมะ ธัมโม นิสัยจะเรียบร้อยและอ่อนน้อมมากแถมวาจาก็สุภาพเรียบร้อย คือถ้าใครคุยด้วยแล้วก็จะทราบได้เลยว่าเขาเป็นคนดีและเป็นคนซื่อมากๆ ด้วยครับ จึงไม่น่าแปลกใจที่พระเอกคนนี้จะมีแฟนคลับที่รักและชื่นชมเขามากๆ ผมก็จะเห็นได้จากงานไหว้ครูในทุกๆ ปีจะมีบรรดาแฟนคลับนั้นมาร่วมงานกันนับร้อยคนทั้งที่พรเทพนั้นก็มีวัยมิใช่น้อย ไม่ใช่พระเอกลิเกวัยรุ่นที่สาวแก่แม่หม้ายหลงใหลในรูปร่างหน้าตาแต่เป็นพระเอกลิเกที่ผู้คนนั้นชื่นชมในอุปนิสัยและคุณงามความดีและยิ่งโดยเฉพาะผลงานการแสดงบนเวที ที่มีแต่คนล่ำลือว่านี่คือ สุดยอดลิเกไทยในด้านผลงานการแสดงมากที่สุดครับ
สมบูณร์ แย้มศรี คือชื่อจริงของพระเอกนักกลอน พรเทพ พรทวี ซึ่งเขาเองนั้นมีภูมิลำเนาเดิมและปัจจุบันอยู่ที่ อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี เมื่อวัยเด็กก็ได้ติดตามคุณพ่อไปแสดงลิเกในตามงานต่างๆ พอเมื่อพรเทพนั้นมีอายุได้ 10 ปี ก็เริ่มหัดแสดงลิเกกับ ครูณรงค์ แก้วแสง และพอเมื่ออายุ 14 ปีจึงเดินทางเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อฝึกหัดการแสดงลิเกกับคณะสามยอด ทับทิมศิลป์และพออายุ 17 ปี จึงได้มาแสดงกับ คณะแสงอรุณ มีอนันต์กับคณะโนนาฏ เรืองนาม และหลังจากนั้นเมื้อปีพ.ศ. 2534 ก็ได้ไปแสดงอยู่กับลิเกลพบุรีชื่อดังในยุคนั้นก็คือ คณะพร วันเพ็ญ และทำให้ได้ไปรู้จักกับนักจัดรายการวิทยุชื่อดังเมืองลพบุรีก็คือ แทน เทวิญ จึงได้ช่วยกันจัดตั้งคณะลิเกขึ้นใหม่ที่มีชื่อว่า ทิวา เทวิญ หลังจากที่เล่นเป็นพระเอกอยู่ในนามนี้มาประมาณ 3 ปีจึงได้มาตั้งชื่อคณะใหม่อยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองที่สิงห์บุรีในนามว่า พรเทพ พรทวี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 มาจนถึงปัจจุบันนี้นั่นเองแหละครับ
เมื่อปีพ.ศ. 2542 ได้มีการจัดประกวดลิเกทองคำ ครั้งที่1 ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งในครั้งนี้พรเทพ พรทวี ได้สร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลพระเอกยอดเยี่ยม แถมด้วยลูกน้องในคณะก็คว้ารางวัลนักแสดงประกอบฝ่ายหญิงและตลกยอดเยี่ยมอีกต่างหาก จึงทำให้คณะลิเกพรเทพ พรทวี นั้นมีชื่อเสียงและมีงานแสดงมากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 300 งานแต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้งานแสดงของลิเกคณะนี้นั้นมีมากมาย ก็ด้วยผลงานแสดงที่สนุกสนานและประทับใจผู้ชมในทุกๆ งาน จึงเป็นเหมือนกับปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไปและผมคิดว่าถ้าท่านผู้อ่านที่คิดจะหาการแสดงลิเกไปแสดงในงานต่างๆ ที่ท่านจะจัดขึ้นนั้น ผมแนะนำคณะนี้เลยครับ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องผลงานแสดงหน้าเวทีเท่านั้นหรอกครับ ราคาว่าจ้างนี้แหละครับที่สมเหตุสมผลกว่าคณะลิเกชื่อดังอื่นๆ มากมายครับ
พรเทพบอกกับผมว่าพออายุเริ่มมากขึ้นก็พยายามหาผู้สืบทอดด้วยการตั้งคณะลิเกให้กับหลานสาวและใช้ชื่อว่า พรพรรณ พรทวี ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2545 แต่พอถึงในปัจจุบันนี้ปรากฏว่าคณะของตัวเองนั้นมีงานแสดงมากกว่าคณะของหลานสาวหลายเท่าตัว จึงทำให้ตัวเขาเองนั้นยังคงต้องรับงานแสดงลิเกอีกต่อไปและยังไม่รู้เลยว่าอีกสักกี่ปีจะได้แขวนไมค์เพื่อที่ตัวเองจะได้พักผ่อนและใช้ชีวิตปกติเหมือนกับคนทั่วๆ ซึ่งผมคิดว่าก็คงเป็นเรื่องยากเพราะ ตราบใดถ้ายังมีคนที่จ้างวานให้ไปแสดงด้วยความศรัทธาแล้ว มันก็ยากมากที่จะปฏิเสธเขาไปล่ะครับ และที่สำคัญก็คือลูกน้องจะอดตายสิครับ ฉะนั้นแล้วก็ต้องสู้ต่อไปล่ะครับ พระเอกนักกลอน ของชาวบ้านบางระจัน
.......................................
(หมายเหตุ 'พระเอกนักกลอน พรเทพ พรทวี' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย)