
สื่อผู้ดียก'ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น'ตีแผ่ความจริง
สื่อผู้ดียก'ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น' ตีแผ่ความจริงวัยรุ่นไทย : รายงาน
กระแสร้อนของซีรีส์สุดฮอต "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ด้วยเนื้อหาที่ตีแผ่ชีวิต "มุมมืด" ในวัยเรียนอย่างตรงไปตรงมา ใช่เพียงโด่งดังในเมืองไทยเท่านั้น ล่าสุดได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศอย่างหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน แห่งอังกฤษ นำไปเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากซีรีส์ "สกินส์" (Skins) ในอังกฤษ ที่จี้ใจดำสังคมเมืองผู้ดีได้อย่างถึงพริกถึงขิง
เดอะการ์เดี้ยนระบุว่า ตั้งแต่ตอนแรกของละครเรื่องนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่าทำไม "ฮอร์โมน" ที่สะท้อนเรื่องราวของวัยรุ่นโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นรายการโทรทัศน์ไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุด โดยในเวลาไม่กี่นาทีหลังเปิดเรื่อง ก็มีฉากเด็กแอบสูบบุหรี่ตอนเช้าก่อนเข้าเรียน การแอบมีเพศสัมพันธ์ในห้องน้ำ การคุยกันเรื่องไร้สาระว่าใครชอบใคร ความทรมานกับการให้โอวาทอันน่าเบื่อ และแบดบอยรูปหล่อเกือบถูกสั่งพักการเรียน
การดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมไทย ส่วนใหญ่ยังคงความเป็นอนุรักษนิยม รายการโทรทัศน์หนักไปทางเกมโชว์ ละครน้ำเน่า
หากเป็นเรื่อง "เพศศึกษา" จะเน้นเรื่องการบังคับใจตัวเองเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม "ฮอร์โมน" จึงโดนใจเหล่าสาวกที่พากันชื่นชมในความตรงไปตรงมา กล้านำเสนอฉากวัยรุ่นสูบบุหรี่ และจูบกัน แต่ฝ่ายที่วิจารณ์ก็โจมตีว่าขาดการไตร่ตรอง คล้ายกับซีรีส์เรื่องสกินส์ ซึ่งถ่ายทอดปัญหาชีวิต และเรียนรู้ประสบการณ์ของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในอังกฤษ
บทความดังกล่าวอ้างความเห็นของผู้กำกับ "ทรงยศ สุขมากอนันต์" มองว่า สังคมไทยปิดหูปิดตาการรับรู้ความเป็นจริงมานาน
"ในวัยเด็กของผม ผู้ใหญ่เลือกที่จะไม่สอนเรื่องเพศสัมพันธ์ในห้องเรียน เพราะกลัวว่าจะทำให้เด็กไปมีเพศสัมพันธ์ แต่ตรงกันข้าม มันทำให้เด็กออกไปลอง และเรียนรู้ด้วยตัวเอง"
เดอะการ์เดียน นำเสนอข้อมูลเกี่ยวประเทศไทยว่า มีอัตราวัยรุ่นตั้งครรภ์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก มีอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือเอดส์ สูงที่สุดในเอเชีย แม้ว่าเพศศึกษาเป็นวิชาบังคับ แต่การสอนในหัวข้อนี้ จำกัดอยู่แค่ 8 ชั่วโมงต่อปี โดยที่ฝ่ายรณรงค์อ้างว่า ครูผู้สอนยังไม่ยอมแตะเรื่องสำคัญและจำเป็น อาทิ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยทำอย่างไร ทว่าเลือกที่จะมุ่งที่การบังคับใจ หักห้ามตัวเองมากกว่า
สำหรับ "ฮอร์โมน" ถือเป็นภาพสะท้อนความอิหลักอิเหลื่อในสังคมยุคใหม่ ผ่านตัวละครที่มีบุคลิกขัดแย้งหลากหลาย เช่น ตอนหนึ่ง "สไปรท์" เปลี่ยนใจไม่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กรุ่นน้องที่ห้องทดลองเคมี ซึ่งเป็นจุดนัดพบ เพราะอีกฝ่ายไม่มีถุงยางอนามัย (ฉากนี้เป็นคลิปตัวอย่างอยู่บนเว็บไซต์การ์เดี้ยน พร้อมซับไตเติลภาษาอังกฤษ) และฉากที่ "ดาว" ตัวละครที่มองโลกสวยถูกเลี้ยงอย่างประคบประหงม จำต้องไปคลินิกทำแท้งผิดกฎหมายหลังเสียความบริสุทธิ์
ฉากเหล่านี้ถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มองว่า ล่อแหลมและต้องการเซ็นเซอร์
ขณะที่ ฝ่ายชื่นชมมองว่า นี่เป็นรายการโทรทัศน์คุณภาพและชวนคิด อาจเปลี่ยนแนวการชมโทรทัศน์ของไทย และอาจจะเลยไปถึงวัฒนธรรมด้วย บทความอ้างความเห็น "จะเด็จ เชาวน์วิไล" ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งรณรงค์ให้เพิ่มการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนว่า ฮอร์โมนสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย แต่น่ากลัวสำหรับคนส่วนใหญ่
"เมื่อเราพูดเรื่องเพศศึกษาอย่างเปิดเผยไม่ได้ วัยรุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อมีสัมพันธ์ต้องทำอย่างไร และหญิงสาวส่วนใหญ่ไปทำแท้ง เพราะไม่รู้จะป้องกันตัวเองยังไง พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ถุงยางอนามัยใช้ยังไง"
ในช่วงท้ายของบทความดังกล่าว ผู้กำกับชาวไทย อธิบายว่า การเลี่ยงไม่แตะประเด็นเหล่านี้ จะเป็นอีกตัวอย่างการปิดหูปิดตาการรับรู้ความจริงของผู้ใหญ่ อัตราทำแท้งในเมืองไทยสูงมาก ตัวเลขวัยรุ่นอยู่ที่เกือบ 1 แสนคนในทุกปี
การไม่พูดถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูละครเรื่องนี้กับลูกวัยรุ่นจะได้เข้าใจชีวิตในโรงเรียนของพวกเขา
เราเรียนรู้-เติบโตจากความผิดพลาด
หลังจาก ทรงยศ สุขมากอนันต์ หรือ ย้ง ผู้กำกับซีรีส์ "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ประกาศเดินหน้าลุยต่อภาค 2 ได้เปิดใจต่อ "คม ชัด ลึก" ว่า จะไม่ตัดทอนบทให้เบาลง แม้ว่าภาคแรกจะถูกวิจารณ์เรื่องการนำเสนอมุมมืดในสังคมวัยรุ่น
"ไม่คิดที่จะทำภาค 2 ให้มีเรื่องราวที่เบาลง เชื่อว่าความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนมากกว่า ประสบการณ์ดีๆ"
เสน่ห์ของฮอร์โมนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะเล่าเรื่องจริงที่คนดูสัมผัสได้ และสะท้อนช่วงชีวิตหนึ่งของวัยรุ่น ไม่ว่าคนที่เคยผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้ว หรือคนที่กำลังอยู่ในช่วงนี้
"ผมยังรู้สึกว่า ฮอร์โมนเบาเกินไป เมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ แต่สำหรับคนทำงาน เรารู้สึกว่าการนำเสนอในระดับนี้ ถือว่าเราสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้เป็นอย่างดีแล้ว คงไม่ลดอะไรลงให้เบากว่านี้ และไม่คิดจะหันไปทำซีรีส์ความรักวัยรุ่นทั่วๆ ไป"
สังคมทุกสังคมมีทั้งดีและไม่ดี เหมือนในตัวคนเราก็มีทั้งมุมที่ดี และมุมที่ไม่ดี ฉะนั้น "ฮอร์โมน" คือ มุมมองหนึ่งที่สะท้อนสังคมในตอนนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าการทำซีรีส์ไม่จำเป็นต้องเล่าตัวละครทุกตัว ว่าทุกคนทำความดีหมด เพราะจริงๆ แล้วในสังคม ไม่ได้มีคนที่เป็นเหมือนผ้าขาวทั้งหมด ถ้าเลือกนำเสนอแต่คนที่ดีๆ คนดูก็คงไม่เชื่อแน่ๆ
"เวลาที่เราเรียนรู้และเราเติบโตขึ้น เราเรียนรู้และเติบโตจากความผิดพลาด เหมือนตอนล่าสุดของเรื่องนี้ ว่าทำไมต้องให้ครูอ้อทำพลาดถึงขนาดที่ว่าให้เด็กกินเหล้าในบ้านของตัวเอง เพราะสุดท้ายก็โดนไล่ออก เนี่ยแหละเสน่ห์ของฮอร์โมน เพราะตัวละครในฮอร์โมนไม่ได้เป็นคนดี 100% ขนาดครูอ้อ ที่ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเป็นครูที่เข้าใจเด็กนักเรียน และเป็นคนที่ดูจะเป็นคนที่มีสติ แต่ก็ยังพลั้งเผลอได้เหมือนกัน เพราะต้องการเปิดตัวเองให้เข้าหาเด็ก เลยอนุญาตให้เด็กทำสิ่งที่ผิด จึงนำพาไปสู่จุดที่ผิดพลาด"
"ผมเชื่อว่าตัวของครูอ้อ ตัวเด็กนักเรียน หรือคนดู ที่เป็นครูและเป็นนักเรียนน่าจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากประสบการณ์ชีวิตของครูอ้อ" ย้งกล่าวในตอนท้าย
........................
(หมายเหตุ : สื่อผู้ดียก'ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น' ตีแผ่ความจริงวัยรุ่นไทย : รายงาน)