
ทำไม Drag Me to Hell ถึงจะต้องทำเงิน?
โดยปกติ ผมจะเป็นคนดูหนัง(โรง)เร็วและเขียนเร็ว คือดูหนังต้นสัปดาห์ พอวันศุกร์ก็วิจารณ์ลงใน นสพ. แต่สำหรับ Drag Me To Hell ผมดู ช้าเล็กน้อย แต่ดู สองรอบ โดยไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้
แต่ถึงดู “ช้าไปบ้าง” แต่มันกลับมีอะไรให้พูดถึงได้หลายแง่มุม มากกว่าหนังดูเร็วๆ หลายเรื่อง ตอนผมเห็นตัวอย่างหนังโฆษณาที่ออกทีวีเกือบเดือนก่อนหน้านี้ ผมบอกกับเพื่อนคนหนึ่งว่า หนังเรื่องนี้จะได้เงินเยอะประมาณหนึ่ง แต่ไม่ใช่หนังที่น่าจดจำหรือประทับใจอะไร
ระยะหลังๆ มีหนังหลายเรื่องนะครับ ที่ไม่ใช่หนังดีหรือภาพยนตร์ที่ดูแล้วต้องรีบไปซื้อ ดีวีดี มาเก็บไว้ แต่มันเป็นหนังที่พร้อมสุดขีดที่จะเอนเตอร์เทนคนดู “ทุกคน” เมื่ออยู่ในโรงหนังกับจอใหญ่ๆ กว้างๆ
เรียกว่าพอไปดูเป็น ดีวีดี ก็ไม่ตื่นเต้นอะไรแล้ว หนังแบบนี้มักมีสิ่งที่เรียกว่า spectacles สูงมาก (ผมเห็นศัพท์คำนี้ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน จากบทวิจารณ์ของคุณ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ที่ผมนับถือ
และอีกคนที่ผมชอบ คือ คุณสุทธากร สันติธวัช ซึ่งเขียนถึงในหนังเรื่อง jaws เมื่อนานมาแล้ว ฉะนั้น ไม่ควรมีนักวิจารณ์ท่านใด “สะเออะ” มาแสดงตัวว่า เป็นเจ้าของศัพท์คำนี้ เพราะนอกจากจะกลายเป็นที่ “เม้าท์ขบขัน” ในหมู่นักวิจารณ์ด้วยกันแล้ว ยังแสดงถึงความตื้นเขินที่อยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของศัพท์แสง ที่คนอื่นเขาเขียนมานานแล้ว)
ผมขออธิบายความหมายของคำว่า spectacles ง่ายๆ พอเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า มันคือ ส่วนของ “ความตื่นเต้นสุดขีด” ที่อยู่ในหนัง ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็คือ ผู้กับหนังนั้น เข้าใจอย่างแตกฉานว่า ต้องสร้างภาพอย่างไร ทำเทคนิคแบบไหน เพื่อให้คนดู รู้สึกตื่นเต้นถึงขีดสุด
หนังที่มี spectacles มากๆ ก็เช่น star wars,Indiana jones,mission impossible,Jurassic park,Jaws หรือหนังทุกเรื่องที่กำกับโดย สตีเว่น สปีลเบิร์ก
ล่าสุดก็คือเรื่องนี้ Drag Me To Hell ของผู้กำกับ แซม เรมี่ ที่ก็ spectacles มาตั้งแต่ the evil dead ในปี 1981 แล้ว (ตื่นเต้นกว่าบรรดา Spider-Man ทุกภาคอีก)
ส่วนที่อยู่ในหนังที่เราเรียกว่า spectacles นั้น หลายครั้งก็จะเป็นฉากฉากหนึ่งที่หลายคนจดจำได้ เช่น ฉากที่หนูน้อยเหาะไปบนจักรยานพร้อมอีที, ยานอวกาศใน star wars หรือฉากคนเล่นน้ำทะเล และมีฉลามใน jaws ว่ายอยู่ใกล้ๆ กระทั่ง เสียงกระทืบเท้าเดินของไดโนเสาร์จนแก้วน้ำไหว และมันปรากฏตัวอย่างสยดสยอง บนจอภาพในหนัง Juraccis Park (1993)
ถ้าเป็นหนังไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมคิดถึงองค์บากภาคแรก, นางนาก และชัตเตอร์
ว่ากันว่า spectacles หรือความตื่นเต้นสุดขีดจุเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนทำหนังคนนั้น หรือผู้กำกับหนังคนนู้น มีความเข้าใจอย่างดีว่า จะต้องเร้าอารมณ์คนดูมาอย่างไร รู้จักเทคนิคการใช้ภาพ การตัดต่อ การใช้เสียงแบบไหน เพื่อให้ทุกคนในโลกพร้อมจะเอามือปิดหน้า หรือ ระเบิดเสียงร้อง
Drag Me To Hell นั้น มีทุกอย่างที่เล่ามาทั้งหมด และอีกเรื่องหนึ่งที่มีด้วยก็คือ มันเป็นหนังดูสนุกทุกนาที แต่ดูจบแล้วก็จบกัน ไม่ใช่หนังที่เรียกว่าดีเยี่ยม หรือต้องจดจำ ชื่นชม
พูดอย่างน่าหมั่นไส้หน่อยก็คือ มีหนังที่เก่งๆ ทางนี้ไม่มาก ที่ดูแล้วผมต้องไปซื้อ ดีวีดี มาเก็บไว้ หนึ่งในนั้นก็คือ psycho ของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก ซึ่งกลายเป็นหนังต้นแบบในการสร้างหนังสยองขวัญหลายเรื่อง
เมื่อกี้ก็เพิ่งเกิด spectacles กับผม ระหว่างเขียนๆ บทความชิ้นนี้ เจ้าหน้าที่บัตรเครดิตก็ โทรมาหา พนักงานการไฟฟ้าก็โทรมาหา บอกว่าถ้าไม่จ่ายค่าไฟเสียที เราก็จะตัดไฟฟ้า
ฟังแค่นี้ ไม่ต้องดู Drag Me To Hell ก็ได้...ก็ตื่นเต้นถึงขีดสุดแล้ว (ฮา)
"นันทขว้าง สิรสุนทร"
[email protected]