บันเทิง

ประมวลความแตกต่างหนังดัดแปลงไม่แรงเท่าต้นฉบับ?

ประมวลความแตกต่างหนังดัดแปลงไม่แรงเท่าต้นฉบับ?

26 มิ.ย. 2556

ประมวลความแตกต่างหนังดัดแปลงไม่แรงเท่าต้นฉบับ? : สกู๊ปบันเทิง

 
          จากความโด่งดังของบทประพันธ์ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นวนิยายและวรรณกรรมบางเรื่อง จะถูกผู้สร้าง นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แม้หลายเรื่อง ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ แต่ต้องยอมรับว่า เกือบทุกเรื่องมักถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถสร้างผลงานเทียบเท่าคุณค่าที่อยู่ในวรรณกรรมได้ จากความประทับใจ (ในวรรณกรรม) กลับกลายเป็นความผิดหวัง (เมื่อได้ดูภาพยนตร์) เพราะภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือไม่ได้ดั่งใจ หรือหาคนแสดงมาแบบที่ตรงข้ามกับที่บรรยายไว้ในหนังสือโดยสิ้นเชิง
 
          ภาพยนตร์ที่ถูกนำมาดัดแปลงนั้น มาจากวรรณกรรมหลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็นนิยายรัก วรรณกรรมเด็ก นิยายแนวแฟนตาซี-วิทยาศาสตร์ สยองขวัญ ฯลฯ ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ทำรายได้มหาศาลไม่ว่าจะเป็น "แฮรี่ พอตเตอร์" ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนของ เจ เค โรว์ลิ่ง เป็นวรรรณกรรมที่มีเนื้อเรื่องยาวมาก และวรรณกรรมเรื่องนี้ขายได้มากกว่า 400 ล้านเล่ม เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 67 ภาษาทั่วโลก หรือจะเป็น "ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง" ภาพยนตร์ไตรภาคที่สร้างจากวรรณกรรมลือชื่อบทประพันธ์ของโทลคีน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินอีเรื่องหนึ่ง 
 
          "พีเตอร์แพน" ก็เป็นวรรณกรรมเยาวชนของ เจ.เอ็ม.แบร์รี่ ทื่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์บ่อยที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเวอร์ชั่นล่าสุด ได้ผู้กำกับฝีมือดีอย่าง พี เจ โฮแกน มารับหน้าที่เล่าเรื่องราว ในขณะที่ฃภาพยนตร์เรื่อง "เลโมนี สนิกเก็ต อะ ซีรีส์" (LEMONY SNICKET'S A SERIES OF UNFORTUNATE EVENTS) เป็นภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนชุดของ แดเนียล แฮนด์เลอร์ หนังเล่าถึงการผจญภัยของสามพี่น้องโบดแลร์ ที่ต้องรับมือกับลุงผู้ชั่วร้าย ที่รับบทโดย จิม แครีย์  ส่วน "เดอะ เกิร์ล วิธ เดอะ ดราก้อน แท๊ตทู" นี่คือภาพยนตร์รีเมกที่สร้างจากนิยายผลงานของ สตีก ลาร์สสัน เวอร์ชั่น ล่าสุดที่นำแสดงโดย  แดเนียล เคร็ก และ รูนีย์ มารา ทำให้คนดูยิ่งรู้สึกอินกับความลึกลับซับซ้อนน่าค้นหายิ่งกว่าในหนังสือเสียอีก "อีท พเร เลิฟ" หรือในชื่อภาษาไทยว่า อิ่มมนต์รัก แม้ว่าหนังสือของ อลิเซาเบธ กิลเบิร์ต เล่มนี้จะติดหนึ่งในหนังสือขายดี แต่หนังกลับไม่ทำเงินเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่นำแสดงโดย จูเลีย โรเบิร์ต
 
          แม้ปัจจุบันฮอลลีวู้ดจะประสบความสำเร็จจากรายได้ของภาพยนตร์ดัดแปลงหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งที่ตามมากับพร้อมๆ เม็ดเงินคือเสียงวิจารณ์หนาหูที่กล่าวถึงคุณภาพหนัง ที่ทำได้ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนในวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวนักแสดงที่ไม่เหมาะสม หรือจะเป็นเนื้อหาในเรื่องที่ซับซ้อนเสียจนผู้สร้างไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้ แม้ว่าหนังหลายเรื่อง จะใช้ดารานำแสดงที่มีชื่อเสียง มีนักดัดแปลงบทไฟแรง หรือมีดีไซเนอร์ดังๆ มาร่วมดูแลเครื่องแต่งกายของนักแสดง แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าภาพยนตร์เหล่านั้น จะได้รับเสียงชื่นชม ดูอย่างภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เกรท แกตสบี้" หรือในชื่อภาษาไทยว่า รักเธอสุดที่รัก ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะได้นักแสดงมีชื่ออย่าง โรเบิร์ต เรดฟอร์ด แต่พอภาพยนตร์เข้าฉายกลับถูกวิจารณ์ในแง่ลบ ว่าหนังเน้นแต่ความอลังการของสังคมที่ฟุ้งเฟ้อในยุค 20 และไม่สามารถถ่ายทอดคุณค่าที่อยู่ในวรรณกรรมไปสู่จอภาพยนตร์ได้ หรือจะเป็นภาพยนตร์รักแนวแฟนตาซีอย่าง "ทไวไลท์" ผลงานการประพันธ์ของ สเตเฟนี่ เมเยอร์ เสนอเรื่องราวความรักของแวมไพร์หนุ่มหล่อและสาวมนุษย์ ที่ได้นักแสดงแม่เหล็กอย่าง โรเบิร์ต แพททินสัน คริสเตน สจ๊วต แม้ทั้ง 4 ภาคจะทำเงินมหาศาล แต่ในภาพสุดท้ายหนังกลับถูกโหวตให้เป็นหนังยอดแย่โดยกวาดรางวัล ราซซี อวอร์ดส ไปถึง 7 รางวัลด้วยกัน
 
          หันมามองที่ภาพยนตร์ไทยกันบ้างไม่ว่าจะเป็น "แม่เบี้ย" บทประพันธ์ วาณิช จรุงกิจอนันต์ "อินทรีแดง" บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต  "อสรพิษ" บทประพันธ์ของ แดนอรัญ แสงทอง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ของมาลัย ชูพินิจ (เรียมเอง) ส่วนเรื่อง "จันดารา" ทั้งปฐมบทและปัจฉิมบท บทประพันธ์ของ อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) เป็นภาพยนตร์ที่รวมดาราแม่เหล็กที่มากฝีมือไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ ตั๊ก บงกช คงมาลัย นิว ชัยพล พูพาร์ต หญิง รฐา โพธิ์งาม พิงค์กี้ สาวิกา ไชยเดช ฯลฯ และ  "คู่กรรม" บทประพันธ์ของ ทมยันตี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ ณเดชน์ คูกิมิยะ มาแสดงนำ ต้องยอมรับว่าภาพยนตร์เหล่านี้ล้วนใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงของยุค หนังอาจทำเงินและไม่ทำเงิน แต่เสียงตอบรับกลับไม่แรงเท่าที่ควร 
 
          อ.มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์อิสระ กล่าวถึงสาเหตุที่อรรถรสของภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายและวรรณกรรรม ส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างผลงานเทียบเท่าคุณค่าที่อยู่ในวรรณกรรมได้นั้น เป็นเพราะอรรถรสในการเสพที่แตกต่างกัน สาเหตุสำคัญคือผู้ประพันธ์และคนเขียนบทเป็นคนละคนกัน ทำให้การตีความในภาพยนตร์อาจแตกต่างจากวรรณกรรม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตัวละครให้ใกล้เคียงกับคุณสมบัติในนิยายมากที่สุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง
 
          "แต่การยึดติดกับงานต้นฉบับเกินไปจะทำลายเสน่ห์ของตัวหนัง นักแสดงบางคน มีความสามารถในการใช้ศิลปะการแสดงในการถ่ายทอดเรื่องราว เหมือนภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ รีเมน ออฟ เดอะ เดย์" ที่ แอนโธนี ฮอปกินส์ ถ่ายทอดความคับข้องใจผ่านสีหน้า โดยไม่ต้องพึ่งการบรรยายเหมือนในหนังสือ ผู้สร้างหลายคนเลือกตัดทอนหัวใจสำคัญของเรื่อง เพื่อหลีกหนีการเปรียบเทียบกับต้นฉบับ อย่างภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เกรพ ออฟ หวาด" หนังของ จอห์น ฟอร์ด ที่ลดเนื้อหาทางการเมืองและเปลี่ยนจุดจบของเรื่องให้เป็นหนังคาวบอยตะวันตกขึ้นหิ้ง และ "แนททูรัล” (THE NATURAL) หนังกีฬาเบสบอล ที่เปลี่ยนตอนจบอันโศกเศร้า ให้เป็นชัยชนะของตัวเอก รวมทั้ง "โน เคา'ที ฟอร์ โอล แมน" (NO COUNTRY FOR OLD MEN)  ของพี่น้องโคเอน ที่ลดทอนฉากรุนแรงในเรื่อง และหันมาให้ความสำคัญการพัฒนาตัวละครในเรื่องจนคว้าออสการ์ได้เมื่อปี 2007 นักเขียนบทหลายคนเห็นว่า การดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายดัง คือการร่วมมือกันของทีมงานทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้เขียนบท ผู้คัดตัวนักแสดง ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้าง ที่จะทำให้ผลงานที่ออกมาประสบความสำเร็จ" อ.มโนธรรมกล่าว  

.......................................
(หมายเหตุ ประมวลความแตกต่างหนังดัดแปลงไม่แรงเท่าต้นฉบับ? : สกู๊ปบันเทิง)