บันเทิง

วิบัติหรือวิวัฒน์... บ่องตง งงจุงเบย

วิบัติหรือวิวัฒน์... บ่องตง งงจุงเบย

07 พ.ค. 2556

วิบัติหรือวิวัฒน์... บ่องตง งงจุงเบย : คอลัมน์ ขบคิดขีดเขียน โดย... หญิงยศ

 

          ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของหญิงยศ ทุกช่วงเวลาของชีวิตมันต้องมีคำศัพท์ประหลาดๆ มาให้ฝึกปรืออยู่เสมอ เท่าที่จำได้ก็เช่น จ๊าบ เจ๋ง หวืด สะแด่วแห้ว จนมาเปรี้ยวปรี๊ด คิขุ ชัวร์ป้าบ ขอบอก จะบอกให้ ไม่ไหวจะเคลียร์ และอีกมากมายตามแต่อายุและความทรงจำจะอำนวย แต่ไหนแต่ไรก็ไม่เห็นจะมีปัญหามาให้ถกเถียงกันว่าภาษาไทยจะวิบัติ มีก็แต่คำตำหนินิดๆ หน่อยๆ จากท่านอาจารย์ นักวิชาการทั้งหลายว่าพูดจาอะไรไม่เข้าท่า ไม่รู้เรื่อง แต่ก็เท่านั้นเอง

          จนมาถึงยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพูดคุยของเด็กวัยรุ่นมากขึ้น ตั้งแต่ยุค ICQ จนมา MSN จนมาถึงยุคสมัยของสมาร์ทโฟนที่เต็มไปด้วยแอพฯ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น SMS, Whatsapp, Line จนไปถึงบรรดาโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย คำศัพท์แสลงก็ไม่ใช่แค่ศัพท์แสลงอีกต่อไป เพราะมันเกิดการกลายพันธุ์เหมือนโดนตัดต่อดีเอ็นเอให้แผลงไปหมดไม่ใช่แค่ภาษาพูดแต่รวมไปถึงภาษาเขียนอีกด้วย คราวนี้บรรดาอาจารย์และนักวิชาการรวมถึงบรรดาคุณพ่อคุณแม่ถึงกับนั่งไม่ติด เพราะอยู่ดีๆ บรรดาลูกๆและเด็กนักเรียนต่างพากันพูดภาษาต่างดาว เขียนหนังสือผิดๆ ถูกๆ บ่องตงว่างงจุงเบย เขียนอูไรก็มิรุ ชิมิชิมิครุคริครุคริ น่ามคานที่สุดจุดนี้ หยั่มมา พุ่งตงเบยว่ามิรุเรื่อง จะพูดหยาบคายยังผิด เด๋วกุเด๋วมรึง ก้มันจิงอ่ะ มะช่ายหรา บร้าฝุดฝุด เก๊ามะหวายจะเคียปร๊า เด็กบร้าพวกนี้ ภาษาวิบัติหมดแล้วโว้ย!! ลงท้ายว่าโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เหมากันไปว่าเด็กไทยไอคิวต่ำ ไม่อ่านหนังสือ ไม่ฝึกปรือวิชาความรู้ แล้วจะก้าวสู่อาเซียนได้ยังไง!!

          เอ่อ.. ใจเย็นๆ กันสักนิดนะคะ บางทีอะไรๆ มันก็อาจจะไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นก็ได้ ไอ้เรื่องภาษาดิ้นได้นี่มันก็มีมานานแสนนาน มีคนเคยบอกว่าภาษาไม่ได้วิบัติ มันแค่วิวัฒน์ไปข้างหน้า แสดงให้เห็นว่าภาษานั้นๆ ยังไม่ตาย ยังดิ้นได้ ยังเติบโตไปอีก ส่วนตัวหญิงยศเห็นด้วยว่าภาษามันวิวัฒน์มากกว่าวิบัติ เพียงแต่มันวิวัฒน์ไปไกลเหลือเกินค่ะ ไม่แปลกที่หลายคนจะงงจุงเบย กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างนี้ หญิงยศว่าสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ตัวภาษาแต่เป็นตัวเด็กนักเรียนมากกว่าว่าพวกเขาจะมีความเข้าใจภาษาไทยถึงรากมากแค่ไหน เขียนเล่นกันสนุกๆ นั้นไม่ผิด เพราะคำเหล่านี้มันแสดงออกถึงอารมณ์ของคนพูดได้มากกว่าภาษาเขียนเป๊ะๆ ทุกวันนี้เราไม่ได้นานๆ เขียนจดหมายคุยกันอีกแล้วนะคะ แต่เราพิมพ์คุยกันมากกว่าจะหันมาอ้าปากพูดกันตรงๆ เสียอีก ภาษาเขียนไม่บ่งบอกอารมณ์ จะเขียนตรงๆ ทื่อๆไปอาจมีเข้าใจผิดกันไปได้ใหญ่โต เอ๊ะ พูดจริงหรือพูดเล่น อำหรืองอน อ้อนหรือแอบด่า ถ้าเขียนไปตรงๆ มันเดาไม่ถูก แต่ไอ้คำประหลาดๆ พวกนี้มันบ่งบอกมากกว่าว่า “น๊า เก๊าย้อเย่น จิงจิ๊ง มะด้ายงอลเบย จุ๊บุจุ๊บุ” มันบ่งบอกมากกว่าจะมาพิมพ์ว่า “อ๋อ พูดเล่น จริงๆ ครับ ไม่ได้งอนเลย” มันไม่เคลียร์อ่ะ มันให้อารมณ์ต่างกันเยอะนะคะ
   
          แต่สิ่งที่สำคัญคือเด็กๆ ต้องเขียนภาษาเขียนแบบดั้งเดิมให้ถูกต้องเสียก่อน ว่าคำว่า บ่องตง มาจากคำว่า บอกตรง หรือชิมิ มาจาก ใช่ไหม เด๋วงอล มาจากเดี๋ยวงอน ภาษาจะวิวัฒน์ได้ต้องมีรากที่ฝังลึก ถึงได้ก้าวจากคำหนึ่งไปอีกคำหนึ่ง แต่ถ้าขุดรากถอนโคน ไม่เข้าใจคำดั้งเดิมแล้วโหนไปหาคำใหม่เลยอันนั้นล่ะวิบัติแน่แท้ชัวร์ป้าบ

          หญิงยศว่าหน้าที่ตรงนี้เป็นของผู้ใหญ่ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือนักวิชาการทั้งหลายที่จะหยุดทำท่าดูถูกดูแคลน รังเกียจคำพวกนี้เสียเต็มประดา อย่ามายุ่ง อย่ามาโดน อย่ามาพูดให้ได้ยิน เราในฐานะคนดูแลสั่งสอนพวกเขาเราต้องได้ยินค่ะ แล้วต้องเข้าใจ นี่คือสิ่งที่พวกเขาพูดเขาใช้กัน อย่ารังเกียจแต่ให้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ พูดไปกับเขาแล้วแก้ไข ทำความเข้าใจไปด้วยกัน ว่าจะพูดจะเขียนเล่นนั้นทำได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดต้องเขียนจริงจังมันต้องเป็นแบบไหน มันต้องเขียนยังไง ยิ่งเราพูดภาษาเดียวกันมากแค่ไหน ช่องว่างระหว่างกันก็น้อยลง หญิงยศไม่ได้ให้ผู้ใหญ่ไปพูดเหมือนเด็ก แต่ต้องเข้าใจต้องปล่อย แล้วดึงเขามาพูดมาเขียนภาษาที่ถูกต้องอย่างเก่าด้วย ไม่ใช่ต่างคนต่างขวาง พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่เข้าใจก็หันหลังหนี บังคับไม่ให้พูดต่อหน้า เด็กก็ยิ่งหลงไปกันใหญ่ หันหน้าแล้วเดินมาหากันคนละครึ่งทางนะคะ

          เพราะสุดท้ายก็มีให้เลือกล่ะค่ะว่า จะวิวัฒน์ไปด้วยกันยาวๆ หรือจะปล่อยไหลให้วิบัติไปทางใครก็ทางมัน... เลือกเอาค่ะ
....................................
(หมายเหตุ วิบัติหรือวิวัฒน์... บ่องตง งงจุงเบย : คอลัมน์ ขบคิดขีดเขียน โดย... หญิงยศ)