บันเทิง

'กุศล กมลสิงห์'เส้นเสียงตีบร้องเพลงไม่ได้

'กุศล กมลสิงห์'เส้นเสียงตีบร้องเพลงไม่ได้

22 เม.ย. 2556

'กุศล กมลสิงห์'เส้นเสียงตีบร้องเพลงไม่ได้แถมตาใกล้บอด

 
          กุศล กมลสิงห์ นักร้องแนวเพลงรำวงศิษย์ครูเบญจมินทร์ ชีวิตลำบากเส้นเสียงตีบจนร้องเพลงไม่ได้เคราะห์ซ้ำตาข้างขวาเริ่มไม่เห็น
กุศล กมลสิงห์ วัย79 ปีนักร้องแนวเพลงรำวงแถวหน้าของวงการเปิดเผยกับทีมข่าวบันเทิง”คมชัดลึก” ถึงการไม่สามารถร้องเพลงหาเลี้ยงตัวเองได้ว่า
 
          “สุขภาพตอนนี้หูไม่ค่อยได้ยิน ตาขวามืดมองไม่ค่อยเห็น ต้องใส่แว่นตลอดโดนแสงไม่ได้ต้องหยอดยากันตลอดชีวิต กินยาทุกวัน ตอนนี้เส้นเสียงมันก็ตีบ มันทับปลายปราสาท ร้องเพลงไม่ได้แล้ว เพิ่งพูดได้ไม่นานนี่เอง ผมล้มหน้ากระแทกกับโต๊ะฟันหักหมดเลย เลือดออกเยอะ หมอบอกโชดดีเลือดไม่ขึ้นสมอง แต่ต้องฉีดยาเข้าที่ข้อ เดินเหิรถ้าทางเรียบๆได้อยู่ แต่ขึ้นบันไดไม่ไหว แฟนก็เป็นอัมพฤกษ์ ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไรมาอยู่กับลูกสาว เขาก็ไม่ค่อยมีรายได้อะไรมาก ที่มาอยู่เพราะพอเราร้องเพลงไม่ได้รายได้ก็ไม่มี บ้านก็เลยโดนยึด"
 

          ผู้สื่อข่าวถามถึงการร้องเพลงก่อนมาล้มป่วยว่าเป็นอย่างไรอดีตนักร้องแนวรำวงเล่าว่า
          “ก่อนหน้านี้รับเชิญไปร้องอย่างเดียว เขาให้ไปร้องกล่อมขวัญทหาร ร้องรำวงบ้างระยะหลัง รำวงก็หายไปจากงานวัดพอมีงานทีกองเชียร์เราก็มากันเต็มไปหมด พองานวัดไม่มีเขาห้ามก็เลยไม่ได้ร้องเลย มาปี2547-48ได้ ไปออกรายการทไวไลน์ไทยลูกทุ่งของคุณไตรภพ ผมไปร้อง4-5เพลง มีจดหมายจากแฟนเพลงมากันยกใหญ่ มีงานรับเชิญต่างๆไปเจอสารกิจ พนามงคล เขาเป็นดีเจนักสะสมเพลงเก่า เขาก็เอาไปสัมภาษณ์ เอาอ.วิชิต โห้ไทย ศิลปินแห่งชาติคนล่าสุดมาร้องเพลงเล่นดนตรีสดๆออกอากาศทางวิทยุก็มีคนหางาน เราก็ตั้งรำวงขึ้นมาสารกิจเป็นพิธีกร มีนางรำ ผมก็ทำกันพักหนึ่งก็เลิก แล้วก็มีรับเชิญไปงานบ้าง “
 
          เมื่อถามถึงความช่วยเหลือจากเพื่อนๆในวงการว่ามีหรือไม่เพราะทุกวันนี้ก็เกิดสมาคม -มูลนิธิต่างๆมากมาย กุศล บอกว่า
          “ก็มีเพื่อนพ้องในวงการแวะเวียนมาหาบ้าง ผมไม่ชอบโทรหาใคร ๆเขารู้เขาก็มาเยี่ยม ก็มีจากสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย พนม นพพรลูกศิษย์เขาให้ภูพาน เพชรปฐมพรเอาเงินมาให้ บ้างคนเขารวมกลุ่มเป็น”ชมรมคนรักลูกทุ่ง” นำเงินมามอบให้ ไว้ใช้จ่าย นอกนั้นผมก็ไม่ได้ไปบอกใคร เราต้องไปหาหมอตลอดค่ารถค่าลาก็แพง ถ้าได้ไปอยู่ใกล้ๆรพ.ก็ดี แต่เราไม่มีรายได้ ก็ให้คุณสัมพันธ์ พัทลุง เขารู้จักนักข่าว เขาจะได้ประสานกับ ศรเทพ ศรทอง เขาตั้งมูลนิธิศรเทพศรทองลูกทุ่งประเทศไทย นักร้อง-ครูเพลงป่วยเขาก็ช่วยเหลือตลอด เมื่อก่อนสมัยผมกำกับรายการลูกทุ่งสามสมัยเขาเคยอยู่กับวงศักด์ โกสน ไปกับผมตลอด อยากได้รับความช่วยเหลือ"
 
          กุศล กมลสิงห์ หรือ “บุญเหลือ ผดุงศิลป์” เกิดวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2477 ที่บ้านพักทหาร ร.พัน.9 หรือปัจจุบันคือ ร.1พัน.4 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯเป็นกระเป๋ารถเมล์เหลือง วิ่งระหว่างสะพานหัน-สะพานแดง ก่อนเข้าทำงานที่กรมชลประทาน แถวศรีย่าน กุศลมีเพื่อนรักสมัยเรียนอยู่โรงเรียนนันทนศึกษา ชื่อ ประสพศักดิ์ พาทยะโกศล หรือศักดิ์ โกศล(เสียชีวิตแล้ว) ทั้งคู่ชอบร้องเพลงเหมือนกัน จึงชวนกันไปสมัครร้องเพลงประกวดตามงานวัดต่าง ๆ โดยประกวดสนุก ๆ ไม่ได้หวังผลอะไร
 
          พออายุ 20 ปี ได้เข้ารับราชการเป็นทหารอากาศอยู่กรมอากาศโยธินรุ่นเดียวกับสุเทพ วงศ์กำแหง ที่นี้เองทำให้กุศลได้ร้องเพลงตามงานต่าง ๆ มากขึ้น พอออกจากการเป็นทหารในปี 2500ก็เข้าทำงานที่กรมชลประทานอีกครั้ง และครั้งนี้เขาเริ่มเอาจริงเอาจังกับการร้องเพลง โดยเฉพาะการร้องเพลงประกวดตามงานวัดในนาม “ส. เสมาน้อย” คู่กับเพื่อนรัก “ส. อมรศิลป์” (ศักดิ์ โกศล) และชนะเลิศงานแรกที่วัดอินทร์บางขุนพรหม ได้รับถ้วยรางวัลสลักชื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หลังจากนั้นประกวดร้องเพลงล่ารางวัลไปเรื่อย จนได้รับถ้วยรางวัลมากมาย จึงได้ตั้งวง“โชว์เฟอร์แบนด์” ขึ้น และในปี พ.ศ.2503 ก็ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงครั้งแรกในชีวิต ในเพลง “นางในวรรณคดี” แต่งโดย “วัลลภ ชื่นใจชน” โดยใช้ชื่อ “รุ่ง ผดุงศิลป์”
 
          ต้นปี 2504 ที่วัดอัมพวันมีงานประกวดร้องเพลง ก่อนถึงเวลาประกวดกุศลขอขึ้นเวทีร้องเพลง “กระต่ายเต้น” โชว์ ครูเบญจมินทร์ซึ่งเป็นกรรมการตัดสินในคืนนั้นได้ฟังเสียงรู้สึกชอบ ครูเบญจมินทร์เรียกไปถามว่า “เสียงดีอย่างนี้ทำไมไม่ร้องประกวด” กุศลบอกว่า “ผมไม่กล้าครับ” ครูเบญจมินทร์คะยั้นคะยอให้ลองประกวดเขาจึงยอม กุศลเลือกเพลง “ทูนหัวหลอกพี่” ของ ชาญ เย็นแข ขึ้นร้องประกวด และชนะเลิศ
 
          หลังจากนั้นครูเบญจมินทร์ให้“ชัยสิทธิ์ บุญฟัก”ตามตัวกุศลให้มาร้องบันทึกเสียงเพลง “ริษยา” และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “กุศล กมลสิงห์” ก่อนจะมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อได้ร้องเพลง “รักกลางจันทร์” แต่งโดย “นิยม มารยาท”ในปี2505 เมื่อครูเบญจมินทร์หันไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง“เสือเฒ่า” จึงให้กุศล กมลสิงห์ ดูแลวงแทน และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวง “กุศล กมลสิงห์” โดย มานพ แก้วมณี มาร่วมอยู่ด้วย แต่ใช้ชื่อ “เบญจพงษ์” อยู่ถึงปี พ.ศ.2512 ก็ยุบวง เนื่องจากต้องไปราชการที่เวียตนาม กลับมาเมื่อปี พ.ศ.2519 ก็เป็นนักร้องรับเชิญร้องตามงานทั่วไปจนถึงปัจจุบัน