บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'Troll Hunter'

เอกเขนกดูหนัง:'Troll Hunter'

05 เม.ย. 2556

Troll Hunter : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม


          หนังยุโรปหลายเรื่อง นอกจากพล็อตจะแสนเก๋ไก๋ ยังมีท่าที ลีลาการเล่าเรื่อง ที่มีความเป็นออริจินัลสูง (ดังนั้นเราจึงเห็นฮอลีวู้ด นำหนังยุโรปไปรีเมคอยู่บ่อยๆ) ครั้นหนังยุโรปหยิบนำสไตล์การเล่าเรื่องของฮอ]ลีวู้ดไปใช้บ้าง มันก็ถูกนำไปรับใช้พล็อตประหลาดล้ำได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว

          Troll Hunter เป็นหนังจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างนอร์เวย์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านอกจากหนังดราม่าหนักๆแล้ว คนทำหนังจากดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนจะทำหนังไซไฟแฟนตาซีได้ดีและน่าสนใจในระดับหนึ่งทีเดียวหนังเล่าเรื่องในแบบ Found Footage ที่ว่าด้วยการค้นพบเทปบันทึกภาพสารคดีของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่แบกกล้องออกไปถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าหมี ก่อนจะพบพิรุธของนายพรานลึกลับคนหนึ่ง แต่สุดท้ายพรานคนนี้เอง ที่พาพวกเขาเข้าไปเจอกับเรื่องเหลือเชื่อของการล่าตัวโทรลล์ สัตว์ที่เคยเชื่อว่ามีแต่ในตำนาน ที่สำคัญทางการนอร์เวย์ก็รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้และพยายามปกปิดการมีอยู่ของโทรลล์เอาไว้

          ตลอดทั้งเรื่อง แม้คนดูจะรู้ได้อย่างจะแจ้งชัดเจนว่า Troll Hunter เป็นสารคดีปลอมๆ แต่สไตล์การเล่าเรื่องแบบหนังสารคดีนี่เอง ที่ทำให้หนังดูสนุก น่าติดตามไปตั้งแต่ต้นจนจบ ความสั่นไหวของกล้องที่ตามถ่ายทำการล่าโทรลล์ของนายพราน เกรนภาพหยาบๆ เดี๋ยวมืด เดี๋ยวสว่างรวมถึงแสงสีเขียวอึมครึมของภาพที่ถ่ายในโหมดไนท์ช็อต ไม่เพียงเน้นสร้างอารมณ์ความสมจริงให้กับหนัง แต่ยังสามารถกลบเกลื่อนร่องรอยหลายอย่าง ขับเน้นให้งานซีจีของการสร้างภาพตัวโทรลล์ที่ดุร้ายดูโดดเด่น เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องที่อยากให้โผล่มาให้เห็นบ่อยๆ

          แม้เรื่องราวของโทรลล์ที่เคยปรากฏในนิทานปรัมปราจะอยู่ในฐานะของยักษ์ตนหนึ่ง แต่โทรลล์ในหนังเรื่องนี้กลับถูกสร้างให้เป็นเช่นสัตว์ประเภทหนึ่ง ที่รัฐพยายามจำกัดพื้นที่อยู่ที่หากิน เมื่อถูกคนรุกรานพื้นที่พวกมันก็พากันขยับขยายย้ายถิ่นที่อาศัย มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเฉกเช่นสัตว์ทั่วไป พวกโทรลล์มีหลายสายพันธุ์ หลายรูปลักษณ์ แตกต่างกันไป มีความดุร้าย มีสัญชาติของสัตว์ป่าเฉกเช่นสัตว์ทั่วไป

          ลักษณะเด่นของหนังยุโรปที่ดูจะแตกต่างจากหนังฮอลีวู้ดอีกอย่างคือ การไม่พยายามโน้มน้าว เร้าอารมณ์ให้เชื่อหรือคล้อยตามTroll Hunter ก็มีส่วนคล้ายในลักษณะนั้น หนังไม่ได้พาเราไปเผชิญหน้ากับโทรลล์กันแบบโต้งๆ กล้องไม่ได้ติดตามตัวละครที่วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนกันตลอดทั้งเรื่อง และก็ไม่ได้บันทึกภาพการออกตามล่าพวกมันอย่างเอาเป็นเอาตาย หนังใช้ลักษณะการเดินทางไปเรื่อยๆ สลับให้เห็นวิวทิวทัศน์ ภูเขา แม่น้ำ ชายป่า ท่ามกลางหิมะขาวโพลนนอกจากพาคนดูออกเดินทางตระเวนตามหาโทรลล์ทั่วชายป่านอร์เวย์แล้ว หนังยังสร้างพล็อต ออกแบบตัวละครรวมทั้งตัวโทรลล์เองที่สามารถเข้าถึง สัมผัส และจับต้องได้ ไม่ใช่เรื่องราวเหนือจริงเกินจินตนาการ เป็นหนังแฟนตาซีกึ่งเทพนิยายแต่อย่างใด

          แม้การพยายามยึดโยงความเชื่อของปีศาจผูกเข้ากับศาสนา จะทำให้หนังเป๋ๆ ไปบ้าง (เมื่อพรานบอกกับกลุ่มนักศึกษาว่า ห้ามคนที่เป็นคริสเตียนหรือเชื่อในพระเจ้าเข้ากลุ่มร่วมเดินทางไปด้วย) เพราะเอาเข้าจริง หนังก็ไม่ได้เน้นว่าพวกโทรลล์เป็นปีศาจหรือซาตานแต่อย่างใด หากเป็นแค่สัตว์ป่าขนาดใหญ่ยักษ์ตัวหนึ่ง ที่อยู่รวมกลุ่มกันอย่างสงบ และดุร้ายบ้างในบางครั้ง

          เสน่ห์อย่างหนึ่งที่หนังนอร์เวย์เรื่องนี้มี คือทิวทัศน์สวยงามของสภาพภูมิประเทศอันเงียบสงบ มันจึงเป็นหนังสัตว์ประหลาดที่ดูเงียบเชียบมากหากเทียบกับหนังฮอลีวู้ดในแนวทางเดียวกัน ฉากที่เจ้าโทรลล์ยักษ์ออกอาละวาด จึงไม่ได้เห็นภาพผู้คนแตกตื่นหนีตาย หากแต่เป็นเจ้าสัตว์ยักษ์ขู่ไล่มนุษย์ออกไปจากแนวป่าหรือชายเขาที่เป็นถิ่นที่อยู่ของมันเหมือนสัตว์ประเภทอื่น หรือไม่ก็อาละวาดเพราะพวกมันถูกรุกรานจนถอยร่นต่อไปไม่ไหวแล้ว

          และเช่นกันที่หนังไม่ได้ให้ภาพของโทรลล์เป็นสัตว์ร้ายที่น่าหวาดกลัว หรือเป็นสัตว์ใหญ่เคลื่อนไหวอุ้ยอ้ายที่น่าเห็นใจ สงสาร ไม่ได้สร้างภาพให้นายพรานเป็นคนโฉดใจชั่ว หรือเป็นฮีโร่คอยคุ้มครองผู้คน และกลุ่มนักศึกษา ก็ไม่ได้เป็นวัยรุ่นเสียสติเอาแต่กรีดร้องวิ่งหัวหดตลอดเรื่อง ทุกๆตัวละครในหนังล้วนมีมิติที่น่าสนใจทั้งสิ้น
.......................................
(หมายเหตุ Troll Hunter : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)