บันเทิง

จุดเปลี่ยนทีวีไทย'อนาล็อก'สู่'ดิจิตอล'

จุดเปลี่ยนทีวีไทย'อนาล็อก'สู่'ดิจิตอล'

20 ก.พ. 2556

จุดเปลี่ยนทีวีไทย อนาล็อกสู่ 'ดิจิตอล'ฤายุคผูกขาดไม่มีวันตาย? : คอลัมน์โลกไร้เสา

               ภายในปีนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของโทรทัศน์บ้านเรา เมื่อการออกอากาศโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นภาคพื้นดินในระบบอนาล็อกจะก้าวไปสู่ "ระบบดิจิตอลทีวี"

                ย้อนอดีตไปเมื่อปี 2493 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น มีความคิดที่อยากจะตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข

                เหนืออื่นใด ก็หวังจะใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม และเสริมอิทธิพลทางการเมืองให้แก่ระบอบพิบูลสงคราม จึงมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นภายใต้ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท

                24 มิถุนายน 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำพิธีเปิด "สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4" บางขุนพรหมขึ้น เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก และออกอากาศในระบบขาวดำ

                สองปีถัดมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. ก็มีแนวคิดในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ขึ้น โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานทหารในการจัดตั้ง "สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7"  ระบบขาวดำขึ้น ซึ่งได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 25 มกราคม 2501

                ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้เปลี่ยนการออกอากาศในระบบสี ภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ก็คือ "องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย" (อสมท) ที่เป็นเจ้าของสัมปทานทีวีช่อง 3 และเคเบิลทีวีทรูวิชั่นส์

                กองทัพบก สมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้จัดตั้ง "สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 สี" และให้เอกชนรับสัมปทานทำธุรกิจทีวีจนถึงวันนี้

                มินับสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลโดยตรง รวมถึง "ไทยพีบีเอส" ทีวีสาธารณะช่องแรกของประเทศไทย

                กว่า 50 ปีแล้ว ที่คนไทยคุ้นเคยกับฟรีทีวี 6 ช่อง ได้แก่ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7 สี, ช่อง 9 อสมท, ช่องเอ็นบีทีหรือช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส

                นี่คือสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีภาคพื้นดิน 6 ช่อง สื่อเดียวที่สามารถเข้าถึง "ครัวเรือนไทย" มากที่สุด 22 ล้านครัวเรือน แม้จะมี "ทีวีดาวเทียม" เกิดใหม่มากมาย แต่ประชาชนยังเลือกชมฟรีทีวี 6 ช่องเป็นส่วนใหญ่

                มีคนเปรียบเทียบฟรีทีวีภาคพื้นดิน เหมือนทางหลวงสายหลักอย่างถนนมิตรภาพ ถนนเพชรเกษม ส่วนทีวีดาวเทียมก็เป็นทางหลวงชนบท(ทางสายรอง) แต่ทีวีดิจิตอลยกระดับเป็นทางด่วนมอเตอร์เวย์

                การเปลี่ยนผ่านจากยุคโทรทัศน์ระบบอนาล็อกไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล ที่ กสทช. จะจัดสรรและประมูลให้ใบอนุญาต 48 ช่อง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการ "ปรับดุลอิทธิพล" สื่อโทรทัศน์ของไทย ให้ลดการผูกขาดไปสู่การแข่งขันเสรี และประชาชนมีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์มากกว่าเดิม

                สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ตามแนวทางการปฏิรูปสื่อจาก "ระบบสัมปทาน" สู่ "ระบบใบอนุญาต" เพื่อต้องการเลิกระบบผูกขาดในกิจการสื่อที่อยู่ในมือภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย การจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล บอร์ดกระจายเสียงมีหน้าที่ออกแบบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ อย่างรอบคอบ ที่มาจากเวทีคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ซึ่งกำหนดโมเดลเพดานการประมูลเพื่อเป็นเจ้าของช่องไว้ 2 รูปแบบคือ

                ผู้ประกอบการ 1 ราย ประมูลได้ไม่เกิน 2 ช่อง (cap2) หรือจะมีผู้ได้ไลเซ่นส์ 19 ราย พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามประมูลช่องวาไรตี้และช่องข่าวคู่กัน เพราะเป็นช่องรายการที่ครองสัดส่วนผู้ชมจำนวนมาก รวมกันราว 90% พิจารณาจากรายได้ของฟรีทีวีในปัจจุบัน

                ผู้ประกอบการ 1 ราย ประมูลได้ไม่เกิน 3 ช่อง (cap3) หรือครบทุกประเภทช่องรายการ เท่ากับจะมีผู้ได้รับไลเซ่นส์ 14 ราย

                ในมุมของผู้ทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ "สุภิญญา" มองว่าเป็นหน้าที่ของบอร์ดกระจายเสียงในการออกแบบกติกาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้มีเวทีใหม่ๆ หากต้องการสนับสนุนคอนเทนท์คุณภาพ ก็ต้องกำหนดราคาตั้งต้นประมูลที่ไม่สูงเกินไป

                "แนวทางดีที่สุดควรกำหนดให้ 1 ราย ประมูล 1 ช่อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด แต่เมื่อไม่มีโมเดลนี้ให้เลือก แนวทางประนีประนอมก็ควรเป็น cap2" 

                อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เขียนเรื่อง "ทีวีดิจิทัลช่องธุรกิจ" ในคอลัมน์คิดใหม่วันอาทิตย์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ มีใจความสรุปได้ดังนี้

                 กิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่อง ที่แยกเป็นช่องรายการเด็ก-เยาวชน-ครอบครัว 5 ช่อง, ช่องข่าว 5 ช่อง และช่องวาไรตี้ 14 ช่อง (SD 10 ช่อง, HD 4 ช่อง) มีเรื่องที่น่าวิตกยิ่ง

                "อดิศักดิ์" เล่าให้ฟังว่าเขาเป็นตัวแทนของเนชั่นกรุ๊ป และเป็น 1 ใน 12 รายใหม่ ที่ กสท.เลือกเชิญไปร่วมประชุมเสนอความเห็นในประเด็น "ข้อกำหนดเพดานจำนวนช่องรายการ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจ" เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ด้วยเหตุผลว่า 12 รายนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพจะเข้าประมูลดิจิตอลทีวีได้ ประกอบด้วย แกรมมี่, อาร์เอส, เวิร์คพอยท์, กันตนา, ทรู, อินทัช, เนชั่น, สปริงส์นิวส์, วอยซ์ทีวี, มันนี่แชนแนล, นสพ.เดลินิวส์ และ นสพ.ไทยรัฐ

                ขณะที่ในห้องประชุมวันนั้น กลับมีตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 ช่อง ที่เรียกกันว่า "รายเก่า" นั่งกันพร้อมหน้า ในฐานะคณะอนุกรรมการ อยู่แล้ว

                เมื่อได้อ่านเอกสารประกอบการประชุม ที่แจกในห้อง ลำดับความเป็นมาของประเด็นการพิจารณา กำหนดเพดานจำนวนช่องที่ประมูล ก็พบว่า "รายเก่า" ในปริมณฑลดิจิตอล มีโอกาส "ครอบครอง" ช่องดิจิตอลทีวีแบบเบ็ดเสร็จ รายละ 3 ช่อง ในทุกประเภทคือ ช่องเด็ก-ครอบครัว, ช่องข่าว (ข่าวและสาระต้องไม่น้อยกว่า 70%), ช่องวาไรตี้ (ข่าวและสาระต้องไม่น้อยกว่า 25%)

                  "กสท. ไม่ควรคิดว่าตัวเองมีหน้าที่แค่จัดการ "ประมูลดิจิตอลทีวี" ให้จบๆ ไป  แต่ควรจะมองไปถึงอนาคต 5 ปี-10 ปี-15 ปี จนหมดอายุใบอนุญาตว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ที่อุตส่าห์ต่อสู้มานานกว่า 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 เพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ, ลดการผูกขาด"

                สิ่งที่ "อดิศักดิ์" ฝากไว้ให้คิดนั้น ก็หวังจะให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม การทำงานด้วยความเร่งรัด ไม่รอบคอบ ก็เท่ากับ กสท. เปิดทางให้ "ระบบผูกขาด" กลับมาครอบงำโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอีกด้วย

 

.............................................

(จุดเปลี่ยนทีวีไทย อนาล็อกสู่ 'ดิจิตอล'ฤายุคผูกขาดไม่มีวันตาย? : คอลัมน์โลกไร้เสา)