บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:หนังจีน(ฮ่องกง)สมัยใหม่

เอกเขนกดูหนัง:หนังจีน(ฮ่องกง)สมัยใหม่

25 ม.ค. 2556

หนังจีน(ฮ่องกง)สมัยใหม่ : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          จุดเปลี่ยนของหนังฮ่องกงเกิดขึ้นราวสิบกว่าปีก่อน เริ่มจากความตกต่ำอย่างถึงที่สุด หนังฮ่องกงไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป ทั้งจากคนในพื้นที่หรือประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียเองก็ตาม จนกระทั่งการคืนเกาะฮ่องกงสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่ของสหราชอาณาจักร ไม่เพียงระบบการเมืองการปกครอง สภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมหนังของเกาะเล็กๆพื้นที่แค่พันตารางกิโลเมตรเศษๆ ก็ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญด้วยเช่นกัน…ในเมื่อคนบนเกาะฮ่องกงไม่เข้าโรงดูหนัง คนทำหนังจึงต้องตะเกียกตะกายหาทางรอด หนึ่งในนั้นคือการข้ามไปเปิดตลาดบนจีนแผ่นดินใหญ่
 
          หากเพ่งมองไปที่เนื้อหา จะพบว่าแต่ไหนแต่ไรมา หนังฮ่องกงมีความโดดเด่นในเรื่องคุณภาพงานสร้าง ถอยกลับไปตั้งแต่หนังกำลังภายในยุคชอว์บราเดอร์ ไล่เรียงจนถึงยุคทองของหนังแอ็คชั่นสมัยใหม่จากสตูดิโอโกลเด้นฮาร์เวสต์, ซิเนม่าซิตี้ ที่แจ้งเกิดดารานักบู๊คนสำคัญอย่าง บรูซ ลี, เฉินหลง, หงจินเป่า ฯลฯ ให้ปรากฎบนบรรณพิภพ และครั้นผ่านพ้นช่วงเวลารุ่งเรืองของสองผู้กำกับ ฉีเคอะและจอห์น วู (โดยเฉพาะคนหลังที่ข้ามไปทำหนังฮอลลีวู้ด) รวมถึงหนังตลกทุกเรื่องของโจวซิงฉือดูเหมือนว่าสถานะหนังฮ่องกงก็เริ่มจะถดถอยลงเป็นลำดับ จนก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ คนทั่วโลกก็กลับมามองหนังจีนอีกครั้ง แต่คราวนี้หนังที่ทำให้โลกหันมามองหนังจีนกำลังภายในด้วยสายตาอึ้งทึ่งตะลึงงันกลับเป็นหนังจากเกาะไต้หวันเรื่อง “Crouching Tiger, Hidden Dragon” ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่น้อยหน้า สยายปีกด้วยหนังมหากาพย์สีสวยสดหยดย้อยอย่าง “Hero" และในปีเดียวกัน หนังฮ่องกงก็กลับมาผงาดอีกครั้งด้วย “Infernal Affairs”หลังวงการหนังบนเกาะเล็กๆแห่งนี้เงียบเหงาซึมเซาไปนานหลายปี และจากนั้นมาคนทำหนังฮ่องกงก็ข้ามไปมาหาสู่จีนแผ่นดินใหญ่ มีหนังร่วมทุนสร้างฟอร์มใหญ่ยักษ์หลายเรื่อง จนแทบไม่มีใครแยกแยะอีกต่อไปว่า นี่คือหนังจีน นี่คือหนังฮ่องกง จะมีก็เพียงหนังที่พูดภาษาจีนเท่านั้น ขณะที่หนังฮ่องกงแท้ๆก็ยังมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะหนึ่งในตระกูลหนังที่ไม่เคยลับหายไปก็คือหนัง ‘แก๊งค์สเตอร์’
 
          ท่ามกลางหนังกำลังภายใน หนังประวัติศาสตร์ ที่ดาหน้ากวาดเงินถล่มทลายทั้งในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และหลายๆประเทศในเอเชีย หนังแก๊งค์สเตอร์ที่ดูเหมือนจะสูญพันธุ์กลับแตกหน่อก่อร่าง พัฒนาแนวทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งสไตล์ และเนื้อหาที่ดูจะสุขุมลุ่มลึก ตีแผ่โลกใต้ดินของสังคมอาชญากรรมได้อย่างน่าสนใจในแง่มุมและวิธีการนำเสนอที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
          ท่ามกลางความสำเร็จของหนังประวัติศาสตร์มากมายหลายเรื่องทั้ง The Banquet, Warlord, Red Cliff, Bodyguards and Assassinsและอีกมากมาย หนังแก๊งสเตอร์ และหนังแอ็คชั่นก็กำลังก่อตัวอย่างเงียบๆ และเก็บเกี่ยวความสำเร็จทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับ ตู้ฉีฟง, แอนดรูว์ เลา (ผู้กำกับคนนี้ทำหนังหลากหลายแนวมาก) ขณะเดียวกันก็มีหนังตลกอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับความนิยมในจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีอยู่ไม่น้อยแต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แนวทางที่ดูเหมือนจะได้การตอบรับจากคนดูในจีนก็คือหนังประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะนำเสนอในแง่มุมใด หนังพีเรียดย้อนยุคเหล่านี้ นอกจากจะสร้างออกมาค่อนข้างมากถ้าเทียบกับหนังที่พูดภาษาจีนด้วยกันแล้ว ยังเป็นหนังทำเงินค่อนข้างสูง และหากคนทำหนังคิดจะทำมาหากินในจีนแผ่นดินใหญ่แล้วล่ะก็ หนังประวัติศาสตร์น่าจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ (ไม่นับ Lost in Thailand หนังตลกเบาสมองที่กำลังเป็นกระแส ถือว่าเป็นความโชคดีหรืออาจจะเป็นความ‘ฟลุ๊ค’เสียมากกว่า ที่หนังประสบความสำเร็จทำเงินถล่มทลายในจีนเวลานี้)
 
          หนังจีนที่เอ่ยมาทั้งหมด หรือยกตัวอย่างหนังจีนที่เพิ่งในบ้านเรา ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาหรือกระทั่งปีนี้ ไม่ว่า Flying Swards of Dragon Gate, The Assasins, Chinese Zodiac, Tai Cho 0, The Fourและ The Last Tycoon ทั้งหมดที่เอ่ยถึง ไม่เพียงงานสร้างยังคงรักษามาตรฐานและมีพัฒนาการต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา บางเรื่องเนื้อหาสาระถือว่ามีการตีความและบอกเล่าแง่มุมใหม่ๆที่น่าสนใจ หลายเรื่องแม้จะรีเมคจากหนังเก่าอย่าง Flying Swards of Dragon Gate(เดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์)บางเรื่องหยิบประเด็นเดิมมาตีความหรือบอกเล่าในมุมมองใหม่ๆเช่น The Last Tycoon(เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้)แต่ก็ถือว่ามีความพยายามเดินออกจากรอยเดิม ก้าวสู่ทิศทางใหม่ๆหลีกหนีจากความจำเจอย่างที่เคยเป็นมา
 
          สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังจีนฮ่องกงยุคหลังปี 2000  ไม่ใช่แค่การหนีตาย แต่ยังเป็นการทดลองและพัฒนาหาแนวทางใหม่ๆ ให้แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจากบทเรียนเก่าๆที่คนทำหนังบนเกาะเล็กๆ เคยได้ประสบมา
.......................................
(หมายเหตุ หนังจีน(ฮ่องกง)สมัยใหม่ : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย...  ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)