บันเทิง

'แผ่นเสียงไทย'เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย

'แผ่นเสียงไทย'เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย

27 ธ.ค. 2555

"แผ่นเสียงไทย" เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ [email protected]/chokchaijeijaoren

          แผ่นเสียง จะเกิดขึ้นมาไม่ได้  หากไม่มีเครื่องเล่นจานเสียงเกิดขึ้นมาก่อน  และในขณะเดียวกันเรื่องจานเสียงนั้น  ก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีใครคิดเครื่องบันทึกเสียงขึ้นมาก่อน

          โธมัส  เอลวา  เอดิสัน คนอเมริกันคิดเครื่องบันทึกเสียงขึ้นได้เป็นคนแรก ที่รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2427  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5  ของไทยเรา  แรกทีเดียวไม่ได้เป็นแผ่น แต่เป็นกระบอกกลมยาวๆ เหมือนกระบอกข้าวหลาม  เขาบันทึกเสียงโดยให้เสียงนั้นผ่านลำโพงแล้วรีดเข้าไปในช่องแคบๆ พลังเสียงจะสั่นสะเทือนไปสู่เข็มแหลมๆ ซึ่งจะขูดลงบนขี้ผึ้งแข็งที่เคลือบไว้บนกระบอกเสียง  ซึ่งกำลังหมุน  ก็เกิดเป็นร่องเสียงที่ขรุขระไปตามแรงความกระเทือนของเสียงนั้น  เป็นร่องหมุนไปโดยรอบกระบอกเสียงตั้งแต่จุดต้นของกระบอกไปจุดสุดที่ปลายกระบอก

จากบทความของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล
          รอบต่อนาที (RPM หรือ Round per minute) คือ จำนวนรอบของการหมุนกระบอกเสียงหรือแผ่นเสียงทั้งหมดในเวลา 1 นาที ซึ่งมีผลกับคุณภาพเสียงที่ออกมา ถ้าจำนวนรอบของการหมุนต่อนาทีมากเสียงที่ออกมาจะดี (แต่ก็ขึ้นกับความกว้างของร่องเสียงบนแผ่นเสียงด้วย นั่นคือ ถ้าร่องมีความละเอียดสูง (ร่องแคบ) จะส่งผลให้เสียงดียิ่งขึ้น) ตรงกันข้าม ถ้าจำนวนรอบของการหมุนในเวลา 1 นาที ต่ำ คุณภาพเสียงก็จะด้อยลง ในปัจจุบันนี้แผ่นเสียงประเภทไวนิลทั้งหมดถูกกำหนดให้ความเร็วรอบอยู่ที่ 33.5 รอบต่อนาที ซึ่งถือเป็นความเร็วรอบที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของการผลิตแผ่นเสียง แต่เนื่องจากว่า เทคโนโลยีในการทำร่องเสียงดีกว่าสมัยดั่งเดิมมาก จึงสามารถลดความเร็วรอบลงเหลือในระดับต่ำควบคู่ไปกับร่องที่มีความละเอียดสูง
http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/talkingmachine/Siameselabels.html
 
          แผ่นเสียงแบบ LP คือ  Long Play แผ่น LP ใช้กับเครื่องที่หมุนแผ่นได้ 33 1/3 RPM จะมีความยาวประมาณ 25 นาทีต่อหน้าครับ

          แผ่นเสียงแบบ EP ย่อมาจาก extended play ยาวกว่า single แต่สั้นกว่า LP   
ซึ่งจะต้องเล่นกับเครื่องที่สามารถหมุนแผ่นที่ 45 RPM ได้ แผ่น 12\" ที่เป็น Single
 
          Single 7” ซิงเกิ้ล เจ็ดนิ้ว โดยส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อนำไปใส่ในตู้เพลง

          ในบ้านเรา ระยะหลัง ๆ มีการนำเพลงไทยสากลคลาสสิก กลับมาในรูปแบบการฟังที่คลาสสิก หรือแม้กระทั่งเพลงไทยที่ผลิตใหม่ แต่เลือกนำเสนอเป็นแบบแผ่นเสียงก็พอมีให้เห็นอยู่เนืองๆ เริ่มตั้งแต่ค่ายเพลงเล็กๆ อย่างใบชาซอง ผลิตอัลบั้มชุด ใบชา song ร้องเพลงชาตรี (รวมศิลปิน) เป็นการนำ 11 บทเพลง ของ วงชาตรี ตำนานโฟล์กซองในอดีต มาปัดฝุ่นโดย บรรณ Producer จากใบชาsong ทำการสร้างสรรค์และเรียบเรียงดนตรีใหม่ ในหลากหลายสไตล์ดนตรี เช่น ลูกกรุง, ลูกทุ่ง, บอสซาโนว่า, ร็อก, โฟล์ก, ป๊อป ฯลฯ ขับร้องโดย 6 ศิลปินจากใบชา song และอีก 3 ศิลปินรับเชิญ
 
          เพลง “รักครั้งแรก” (จาก อัลบั้ม รักครั้งแรก)  เรียบเรียงเป็นลูกกรุงจังหวะ Tango ชวนเต้นรำ ร้องโดย สวีทนุช  ศิลปินเจ้าของเสียงเพลง รักยุคไฮเทค วัย 68 ที่หลายคนรู้จักกันดี เพลง “เธอเปลี่ยนใจ” (จากอัลบั้ม รักสิบแบบ)  ดนตรีสไตล์ Bossa Nova “อย่าลืมฉัน” (จากอัลบั้ม ชะตารัก) ที่ บรรณ ฝากเสียงไว้ในดนตรีสไตล์เพลง Pop นอกจากนั้นยังมีเพลงอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมอีกหลายเพลง ทั้งเพลง “เข้าใจรัก” (จากอัลบั้ม รักสิบแบบ)ทำในสไตล์ Folk , เพลง “สักขีเจ้าพระยา” โดยเ บิร์ด ธรรมรัตน์ (จากอัลบั้ม รักที่เธอลืม), “รักเพียงเธอ” (จากอัลบั้ม ชะตารัก) แนว ลูกทุ่งย้อนยุค ร้อง โดย กุ๊ก อรสุรางค์ , เพลง “เฉือนหัวใจ” (จากอัลบั้ม สัญญาใจ) เพลงนี้ทำดนตรีขึ้นใน สไตล์ลูกกรุงยุคใหม่ร้องโดย  โอ๋ ชุติมา แก้วเนียม, สายชล ระดมกิจ  กับเพลง “ที่รักอย่าจากพี่ไป” (จากอัลบั้ม ชีวิตใหม่) ที่ทำดนตรีไปในแนวทางของ ดิอินโนเซ้นท์, บี๋ คณาคำ อภิรดี  เสียงแหบเสน่ห์ ร้องเพลง “เหมือนฝัน” (จากอัลบั้ม ชะตารัก) กับสไตล์โฟล์กเหงาๆ เศร้าๆ รู้สึกหนึ่ง และแขกรับเชิญอีกคนหนึ่งคือ สุเมธ องอาจ  ศิลปินหนุ่มผู้มากความสามารถในหลายสไตล์ กับพลง “ทะเลของเรา” (จากอัลบั้ม จากไปลอนดอน)

          นอกจากที่กล่าวมาแล้ว นั้นยังมีทีมงานใหม่ๆ ผลิตงานดนตรีใหม่ แต่นำเสนอในรูปแบบแผ่นเสียง เช่น อัลบั้ม Jazz เดี่ยว ของ..พี่ปั่น (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) จากทีมงาน CLASSY RECORDS บันทึกเสียง + มาสเตอริ่งค์ในแบบ 24 bit 96 khz ผลงานเพลงชุดนี้ บันทึกเสียงแบบ live studio เน้นการบันทึกเสียงสด ให้ได้คุณภาพดีสูงสุดหวังให้เป็นอัลบั้มเพลง "แจ๊สไทย" จากนักร้อง นักดนตรีไทย ที่ไม่อายในระดับสากล และยังเป็นอัลบั้ม ที่รวบรวมนักดนตรีในแนวทางแจ๊สไว้อย่างคับคั่ง อาทิ อาจารย์เด่น อยู่ประเสริฐ , ก้อง-ณภัทร พิริยกิตติ์ศรัณย์, ติว-ธีรวัฒน์ ตันบุตร, ป่อง - เทอดศักดิ์ วงศ์วิเชียร, ปิ๊ก-ร่มวงศ์ ศรีไชยยันต์, เก่ง-เก่งฉกาจ เก่งการค้า และ ฯลฯ

          คาราบาว งานเพลงระดับตำนาน มาตรฐานสตูดิโอระดับโลก
 
          การกลับมาของความคลาสสิก ตำนานที่มีชีวิตของเพลงคาราบาว ที่ใช้ขับกล่อมสร้างความบันเทิงให้กับคอเพลงมายาวนานหลายทศวรรษ ตั้งแต่อัลบั้มชุดที่ 1 ถึง 10 ที่ถือเป็นงานระดับตำนาน

          การฟังเพลงจากแผ่นเสียงหรือแผ่นไวนิลกลายเป็นความบันเทิงในแบบวินเทจ ซึ่งคอเพลงที่ต้องการอรรถรสจากเสียงดนตรีที่เป็นธรรมชาติยังคงเสาะหามาฟัง หลังจากวงการเพลงไทยที่เลิกผลิตแผ่นเสียงในแบบอุตสาหกรรมกันตั้งแต่ปี 2535

          ทางวอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) นำงานเพลงคลาสสิคของศิลปินไทยมาทำเป็นแผ่นเสียงอีกครั้ง โดยจำหน่ายผ่านร้านบูมเมอแรง และเลือกวง "คาราบาว" ศิลปินเพื่อชีวิตอันดับ 1 ของเมืองไทย ที่สร้างชื่อ และเติบโตผ่านยุคของแผ่นเสียง อัลบั้มในชุดแรกๆ ของวง ที่ได้ชื่อว่าเป็นผลงานของคาราบาวในยุคคลาสสิกนั้น ล้วนถูกผลิตออกมาเป็นแผ่นเสียง แต่ก็ไม่ได้มีการทำขึ้นมาใหม่ แผ่นที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดจึงเป็นของเก่า ที่ราคาเปลี่ยนไปตามคุณค่าของแผ่นและกาลเวลา
นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ “Carabao Vinyl Collection" ที่นำอัลบั้มในยุคคลาสสิก 10 ชุดของคาราบาว ตั้งแต่ ชุด ขี้เมา, แป๊ะขายขวด, วณิพก, ท.ทหารอดทน, เมด อิน ไทยแลนด์, อเมริโกย, ประชาธิปไตย, เวลคัม ทู ไทยแลนด์, ทับหลัง และห้ามจอดควาย มาทำเป็นแผ่นเสียง พร้อมกับอัลบั้มชุด โฟล์ก'บาว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่นักเล่นแผ่นในแบบออดิโอไฟล์ต้องมีอีกหนึ่งชุด รวมทั้งหมด 11 ชุดด้วยกัน

          และนี่คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทย ขีดเขียนไว้โดย “คาราบาว” กับการเป็นวงดนตรีไทยวงแรกที่มีการทำอัลบั้มรีมาสเตอร์ออกมาเป็นแผ่นเสียงอีกครั้ง กับ “Carabao Vinyl Collection" งานเพลงระดับตำนาน มาตรฐานสตูดิโอระดับโลก
 
          บางครั้งการกลับไปหวนถึงความทรงจำดีๆ ในชีวิตที่เคยผ่านมา อาจสร้างกำลังใจให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง  แผ่นเสียงและดนตรีนี่หละครับคือ ความสุข ความสุนทรีย์ ที่อยู่แค่เอื้อม ใช้ชีวิตให้ช้าลงอีกนิด เก็บเกี่ยวความงามสองข้างทาง ไขว่ขว้าความสุขไกล้ตัวเอาไว้เพื่อเติมเต็มชีวิตเราให้ สุขสมบูรณ์
 
          เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ผมขออำนวยอวยพร ให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน มีสุขภาพกายใจ ที่แข็งเรง สมบูรณ์โดยทั่วกัน นะครับ

          ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไป ได้ไม่หมด

          ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า
.......................................
(หมายเหตุ "แผ่นเสียงไทย" เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ
[email protected]/chokchaijeijaoren <mailto:[email protected]/chokchaijeijaoren>)