บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - พ่ายลา?  ผ้ายลา?

คมเคียวคมปากกา - พ่ายลา? ผ้ายลา?

29 พ.ค. 2552

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนเจ็ด (ฝนเม็ดโต)

 ประเพณีแถวบ้าน  ช่วงนี้เขาทำบุญคุ้มกัน  คุ้มนั้น  คุ้มนี้  โดยประธานชุมชนแต่ละคุ้ม  ร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้าน  และทางเทศบาล  งานบุญทั้งที  ย่อมมีเครื่องไฟ  ทั้งเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์องคเจ้า  เสียงโฆษกบรรยายอานิสงส์บุญทาน  ที่ขาดมิได้คือเสียงเพลงจากศิลปิน

 ไม่ตั้งใจฟัง  ก็ยังได้ยิน  ต่าย  อรทัย  ตั๊กแตน  ชลดา  ไผ่  พงศธร  บ่าววี  สาวแต ฯลฯ
 โดยเฉพาะ “แฟนเก็บ” กับ “เหตุผลที่ทนเจ็บ” นั้น กลายเป็นเพลงแม่แบบหัดร้องเพลงของบรรดาลูกผู้หญิงยุค “กิ๊ก” ทั้งทำนองและเนื้อหาน่าเศร้าพอกัน โดยส่วนตัวชอบเนื้อหาแบบ “แฟนเก็บ”  เพราะมีท่าทีของการประกาศอิสรภาพ ขณะ “เหตุผลที่ทนเจ็บ” ยังมีท่าทีของการยอมจำนน บางคอลูกทุ่งวาบอารมณ์ขึ้น “แฟนเก็บ” ถ้าให้แต่งภาคต่ออาจเป็น “เก็บแฟน” ส่วนภาคต่อเนื่องของ “เหตุผลที่ทนเจ็บ”อาจเป็น “ไม่มีเหตุผลต้องทนเจ็บอีกต่อไป” (๕๕๕)

 ครับ ศุกร์ก่อนว่าด้วยเรื่องเพลง “ทุ่งรัก” ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ คำร้องทำนองโดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ท่อนสุดท้ายมีคำกวี  “แดดบ่ายผ้ายลา  ทิวาเริ่มเลือน...”

 พบบางพื้นที่อ้างอิง สะกด “พ่ายลา” ซึ่งน่าจะแปลว่า “แพ้ลา” หรือ “ลาอย่างแพ้”
 สักเมื่อหกถึงเจ็ดปีก่อน เคยเขียนบทความถึงเพลงนี้ มีรวมอยู่ใน “ผมจรรอนแรมจากลุ่มน้ำมูล” ตามความเข้าใจน่าจะเป็น “ผ้ายลา” เพราะ “ผ้าย”  หรือ “ผาย” แปลว่า “เคลื่อนจากที่” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) แม้ในสารานุกรมอีสาน-ไทย - อังกฤษ ของ ดร. ปรีชา พิณทอง ยังมีคำ “ผ้าย” แปลว่า “เหาะ” “วิ่ง” “บิน” ซึ่งล้วนแสดงกริยาเคลื่อนจากที่

 เวลาร้องและฟังเพลงผ่านๆ เราอาจไม่ทันแยกแยะภาษา เพลงไพเราะมันพาไป เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างไม่เป็นไร ครั้นต้องสะกดเป็นภาษาเขียน นี่สิที่ต้องกลั่นคำกรองความ ด้วยธรรมชาติศิลปิน กวี คีตกวี หรือนักประพันธ์ทุกแขนง จะต้องผ่านความประณีต ละเอียดอ่อน  พิถีพิถัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สัญชาตญาณการทำงานให้ดีที่สุด จะต้องอยู่คู่ผู้สร้างสรรค์เสมอ 

 เวลาแกะรอยผู้สร้างสรรค์ในอดีต หลายคนสามารถทำให้เราวางใจได้ ถ้อยคำที่เขาเลือกใช้มักเป็นคำที่ได้พิจารณาแล้ว แม้เป็นคำแปลกหูแปลกตาก็ตาม ลองอ่านภาษา สุนทรภู่ ไพบูลย์ บุตรขัน ชาลี อินทรวิจิตร พยงค์ มุกดา เสนีย์ เสาวพงศ์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์  เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อัศศิริ ธรรมโชติ ฯลฯ พบว่าความสวยงามทางภาษาของเขา ล้วนเป็นสัญชาตญาณอันพึงมีอยู่ในตัวเขา มิใช่การนั่งแกะแล้วแกะอีก เพื่อจะได้คำเท่ๆ สักคำ 

 ภาษาแม้เป็นเครื่องมือสมมติ แต่คนใช้ภาษา เมื่อใช้อย่างเข้าถึงระดับหนึ่ง จะกลายเป็นช่างในใจ กลายเป็นธรรมชาติในตัว หรือสัญชาตญาณในตัว ที่บางคนเขียนหนังสือรวดเร็วแต่ภาษาหมดจดดี บางคนพูดปากเปล่าแต่ภาษาโวหารดี อาจมิใช่การนั่งคิดประดิดประดอย แต่คือความเป็นช่างในใจ คือความเป็นธรรมชาติ หรือสัญชาตญาณทางภาษาและชีวิตของเขา 

 กระนั้น ประดิดประดอยไม่ผิดในตัวมันเอง หากประดิดประดอยคือ “บรรจงทำให้งดงามและละเอียดลออยิ่งขึ้น” ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปรับใช้เป้าหมายเท่านั้น การรับใช้อย่างสอดคล้องกันของรูปแบบและเนื้อหา ยังคงมีอยู่ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันยันอนาคต 

 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ช่างทุกช่างจะต้องรักษาธรรมชาติหรือสัญชาตญาณที่ดีที่สุดเอาไว้ อาจเป็นช่างแต้ม ช่างแต่ง ช่างฟ้อน ช่างเพลง  ช่างกวี ช่างเรื่องสั้น ช่างนิยาย ช่างวรรณกรรม กระทั่ง ช่างบ้าน ช่างตึก ช่างศึก ช่างศร ช่างทาง ช่างครัว ช่างยนต์ ช่างคอมพิวเตอร์ จะช่างอะไรก็ตาม หากละเอียดลออในการใช้เครื่องมือเท่าที่จะทำได้ ย่อมเป็นผลดีทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

 ...ช่างที่ดี มิอาจอ้างว่ามีงานอื่นรีบร้อน แล้วใช้เครื่องมือช่างอย่างลวกๆ ได้...
 ครูพงษ์ศักดิ์ ถือเป็นช่างเชิงประณีตคนหนึ่ง เวลาแกะรอยเพลงของท่าน หรือเวลาพิสูจน์อักษรของช่างแต่งผู้ประณีตทั้งหลาย เรามักได้ทบทวนพัฒนาตัวเอง ทั้งเรื่องภาษาและชีวิต!

"ไพวรินทร์ ขาวงาม"