บันเทิง

โลกไร้เสา : 'ซีทีเอช'มาจากไหน?

โลกไร้เสา : 'ซีทีเอช'มาจากไหน?

21 พ.ย. 2555

"ซีทีเอช" มาจากไหน?ปั้น "เคเบิลภูธร" คว่ำทรูวิชั่นส์ : คอลัมน์ โลกไร้เสา

          "ซีทีเอชเป็นใคร.." เป็นคำถามสุดฮอตในวันที่บริษัทพรีเมียรลีกอังกฤษ ประกาศผลการประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาล ซึ่งตกเป็นของบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่ตัวเต็งอย่างทรูวิชั่นส์
 
          สมาชิกทรูวิชั่นส์ส่วนใหญ่ไม่รู้จัก "ซีทีเอช" แต่รู้จักชื่อเสียงผู้ถือหุ้นอย่าง วิชัย ทองแตง หรือ วัชร วัชรพล ทายาทสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ "ไทยรัฐ"
 
          ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ช่วงปี 2540-2549 มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น เพิ่มจากประมาณ 100 รายเป็นมากกว่า 500 ราย และกลายเป็นคู่แข่งกับเคเบิลทีวีระดับชาติอย่าง "ทรูวิชั่นส์" ในตลาดต่างจังหวัด
 
          ต่อมา ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็น "สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย" มีสมาชิกรวมตัวกันมากกว่า 200 ราย จากผู้ประกอบการเคเบิลทีวีทั่วประเทศ
 
          ปัจจุบัน สุรพล ซีประเสริฐ เป็นนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โดยอีกด้านหนึ่ง "สุรพล" เป็นนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และประธานบริษัท รวมมิตร มารีนออยล์ จำกัด หันเหสู่ธุรกิจเคเบิลทีวีเมื่อ 16 ปีก่อน ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.พี.เอส.เคเบิลทีวีสมุทรสงคราม
 
          ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในสมาคมเคเบิลทีวีฯ ยุคเกษม อินทร์แก้ว เป็นนายกฯ ได้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด หรือ "ซีทีเอช" เพื่อจัดหาเนื้อหารายการทีวีป้อนให้เคเบิลทีวีท้องถิ่น โดยเฉพาะฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ที่เป็นความต้องการของผู้ชม แต่พวกเขาก็ขาดเงินทุนเพียงพอที่จะต่อกรกับทรูวิชั่นส์  
 
          สุรพล ซีประเสริฐ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทซีทีเอชขณะนั้น จึงได้ชักชวน "วิชัย ทองแตง" ผู้มีศักดิ์เป็นหลานเขย (วิชัย ทองแตง แต่งงานกับหลานสาวของสุรพล) เข้ามาร่วมลงทุนด้วย จากนั้นทางวิชัย จึงได้ชักชวนทาง "ไทยรัฐ" เข้ามาร่วมถือหุ้นอีกรายหนึ่ง
 
          ต้นเดือนเมษายน 2555 จึงได้มีการแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่ายคือ วิชัย ทองแตง ในฐานะนักลงทุน วัชร วัชรพล ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (ตัวแทนยิ่งลักษณ์ วัชรพล) และ สุรพล ซีประเสริฐ ประธานซีทีเอช เพื่อพัฒนาเคเบิลท้องถิ่นให้มาเป็น "ผู้เล่นรายใหญ่" ของประเทศไทย
 
          โครงสร้างผู้ถือหุ้นซีทีเอช ประกอบด้วยวิชัยกับไทยรัฐ ในสัดส่วน  25% เท่ากันทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นกว่า 140 รายเดิมถือหุ้น 30% และกันอีก 20% ไว้ให้พันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนในอนาคต ด้วยทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 1,000 ล้านบาท
 
          มันเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของ "เคเบิลบ้านนอก" เพื่อการอยู่รอดของบริษัทซีทีเอชในอนาคต จึงต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนหน้าใหม่ โดยเฉพาะรายใหญ่เข้ามา เพื่อสร้างฐานการผลิตคอนเทนต์ขนาดใหญ่ได้
 
          สำหรับ วิชัย ทองแตง เป็นนักลงทุนที่ในวงการธุรกิจรู้จักเขาเป็นอย่างดี เขาเป็นทั้งทนาย นักลงทุน และผู้บริหาร ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท และ โรงพยาบาลเปาโล เมมโมเรียล นอกจากนั้นเขายังเคยเป็นหัวหน้าคณะทนายความให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544
 
          ตอนแรกวิชัยชักชวน ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งอาณาจักรแกรมมี่ เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุน แต่เกิดความล่าช้าในฝ่ายซีทีเอช "อากู๋" จึงถอนตัวไม่ร่วมลงทุนกับซีทีเอช
 
          เมื่อวิชัย ทองแตง ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการซีทีเอชยุค "สามก้อนเส้า" (วิชัย-ไทยรัฐ-สมาคมเคเบิลทีวี) เขาก็เลือก "กฤษณัน งามผาติพงศ์"  นักบริหารที่มีประสบการณ์จากฝั่งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ มารับตำแหน่ง "ซีอีโอ" ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
 
          หลังจาก "กฤษณัน" มานั่งเป็นที่ปรึกษามาตั้งแต่ต้นปี  และมีบทบาทเป็นผู้ร่างทิศทางซีทีเอชตั้งแต่กระดาษแผ่นแรก กระทั่งเป็นมาสเตอร์แพลน 3 ปี ที่ซีทีเอชต้องก้าวเดิน เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตราว 10 ปี
 
          "กฤษณัน" เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของซีทีเอช จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำ "ทริปเปิลเพลย์" อย่างเต็มตัว ด้วยการใช้ประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี จากโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก หรือสายเคเบิลใยแก้วสูงสุด และจะเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์เต็มรูปแบบ ทั้งดิจิทัลเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
 
          ธุรกิจเคเบิลทีวี จะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด โดยขณะนี้ได้สั่งซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set top box) มาแล้วจำนวน 2.5 ล้านกล่องจากประเทศจีน ซึ่งจะมาถึงในเดือน ม.ค.2556 เพื่อเปลี่ยนให้กับสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ และจากการเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลนี้เอง จะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนช่องรายการระยะแรก 120 ช่อง รวมถึงช่องเอชดี
 
          การคว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ใน 3 ฤดูกาลใหม่(ปี 2013-2016) ด้วยราคาประมูล "เพิ่มขึ้น" ติดอันดับสถิติโลกประเทศหนึ่งของการประมูลสิทธิการถ่ายทอดสดในรอบนี้ จากตัวเลขการบริหารสิทธิครั้งก่อนที่มูลค่า 60-70 ล้านดอลลาร์ ทะยานไปที่ 300 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว   
 
          วิชัย ทองแตง ประธานซีทีเอช เชื่อว่า การชนะประมูลบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเป็น "แม่เหล็ก" สำคัญ ทั้งการสร้างชื่อซีทีเอช และกระตุ้นฐานสมาชิกตามเป้าหมาย 3 ปี จาก 3.5 ล้านครัวเรือน เป็น 7 ล้านครัวเรือน หรือมีฐานผู้ชมกว่า 28  ล้านคนทั่วประเทศ 
 
          โดยมีซีทีเอชเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่กีฬาฟุตบอลอังกฤษ เข้าไปยังครัวเรือนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทได้ง่ายกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ 
 
          ที่สำคัญ ภายใต้แผนการดำเนินงาน 3 ปีของซีทีเอช จากโครงข่ายมูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท และราวต้นปี 2559 ซีทีเอชต้องพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยรายได้ก่อนเข้าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
 
          นับจากวันนี้ไป การก้าวเดินของซีทีเอช จะอยู่ในสปอตไลท์ที่ต้องจับตามองถึงทิศทางการขยายธุรกิจและการบริหารสิทธิพรีเมียร์ลีกว่าจะเป็นการลงทุนที่ "คุ้มค่า" หรือไม่?      
.......................................
(หมายเหตุ "ซีทีเอช" มาจากไหน?ปั้น "เคเบิลภูธร" คว่ำทรูวิชั่นส์ : คอลัมน์ โลกไร้เสา)