บันเทิง

ทีวีสีรุ้ง:อยากให้โลกนี้มีแต่ชะเอม

ทีวีสีรุ้ง:อยากให้โลกนี้มีแต่ชะเอม

07 พ.ย. 2555

อยากให้โลกนี้มีแต่ชะเอม : คอลัมน์ ทีวีสีรุ้ง โดย... สุนิสา สุขบุญสังข์

          ที่เลือกบ้านถูก ถ้าเกิดซวยเลือกไปเก็บข้อมูลไปทำโปรเจกท์ส่งอาจารย์อยู่ที่บ้านผอ.เจนภพ สวยขนาดนี้ ฉลาดก็มิใช่ย่อย พี่ผอ.คงน้ำลายย้อย แล้วคุณนพนภาคงบ้าไปเลย

          แต่คิดอีกที อาจดีก็ได้นะ ข้อมูลคงแน่นปึ้ก บทที่เขียนออกมาคงดราม่าล้ำลึก และตีแผ่ด้านมืดของปัญหาครอบครัวได้อย่างน่าสนใจ

          ขนาดเราเห็นชะเอมอยู่บ้านคุณชื่นมาไม่กี่สัปดาห์ เธอยังแสดงความสามารถมากมาย แก้ปัญหาได้ไม่รู้กี่เปลาะ ตั้งแต่ชายใจหญิงที่ต้องการการยอมรับอย่างคุณแป๊ะ สาวใหญ่ขาดความเชื่อมั่นอย่างคุณอรทัย ความสัมพันธ์แบบ “รักนะแต่ไม่มีเวลาให้” ระหว่างคุณชื่นกับคุณหญิงแม่ ไปจนถึงลูกๆ จอมป่วนอย่างน้องอรกับหนูอ้อย ที่เพิ่งคลี่คลายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ชะเอมทำให้ทุกคนเริ่มหันมาเห็นคุณค่าของตัวเอง เพื่อที่จะได้หันไปเห็นใจและดูแลคนอื่น

          อ้อมเลยอยากรู้ว่าถ้าชะเอมเจอบ้านผอ.กับนพนภาเข้าไป เธอจะเริ่มต้นแก้ที่ปมไหนก่อน ทั้งปัญหาพ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อเจ้าชู้ แม่เป็นผู้หญิงเก่งที่ข่มสามี ส่วนลูกสาวกับลูกชายก็ไม่ลงรอยกัน และผลจากความขัดแย้งนั้นก็กัดกินทุกชีวิตในบ้านไม่เว้นแม้แต่น้องคนเล็กที่เพิ่งพ้นวัยไร้เดียงสามาไม่กี่ปี

          ซ้ำร้ายปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลออกมานอกบ้าน อย่างเช่นเป็นเหตุให้มุตตาต้องตาย ตามมาด้วยการแก้แค้นของมุนินทร์ แถมยังเลยเถิดทำให้ครอบครัวอื่นในสังคม(จริงๆ) ปั่นป่วนไปหมด มีทั้งเด็กเลียนแบบพฤติกรรมผูกคอตายของมุตตา มีทั้งองค์กรออกมาตัดพ้อต่อว่าภาพลักษณ์เมียหลวงเมียน้อย ฯลฯ

          แล้วถ้าในความเป็นจริง ไม่มีชะเอมแฝงตัวเข้าไปในบ้านนพนภา และเราแก้ไขครอบครัวของผอ.ไม่ได้ เพราะครอบครัวเขาเป็นอย่างนั้น เหมือนอีกหลายครอบครัวที่ล้วนมีปัญหาของตัวเอง เราจะทำอย่างไร

          จะมองปัญหาของบ้านนี้ด้วยปัญญา เรียนรู้ ศึกษาความพินาศของเขาให้เป็นประโยชน์ หรือซึมซับมันไปเรื่อยๆ โดยปราศจากวิจารณญาณไตร่ตรอง

          สำหรับบางคนมองปัญหานี้อย่างบันเทิงเสียจนไม่เก็บมาใส่ใจ ในขณะที่บางคนอาจวิตกว่าถ้าเกิดลูกน้อยของฉันเห็นพฤติกรรมแบบนี้มันคงไม่ดี แต่ไอ้ครั้นจะให้ปิดทีวีใจก็ยังอยากดู อ้อมว่าทางเลือกมันก็มีอยู่เห็นๆ แล้วล่ะค่ะ

          ทางหนึ่งคือเราควรเสียสละ ไม่รับรู้เรื่องพวกนี้ขณะที่ลูกยังไม่นอน หันมาดูอย่างอื่นที่คิดว่ามีสาระและไม่มีพิษมีภัย เช่นช่องไทยพีบีเอส หรือถ้าคิดว่าในทีวีมันไม่มีอะไรให้ดูละก็ปิดมันซะ แล้วก็ใช้ช่วงเวลานั้นเล่านิทาน พูดคุยเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของสมาชิกในบ้าน (กรณีนี้จะว่าไปเราก็ควรขอบคุณตัวละครร้ายๆ ทั้งหลายที่ทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับลูกหลานมากขึ้น)

          อีกทางคือดูด้วยกันอย่างมีเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ แต่จริงๆ เราก็รู้กันอยู่ว่ามันไม่เหมาะกับลูกหลานน้อยๆ ของเรา เพราะเขาก็เตือนอยู่แล้วว่ารายการไหนไม่เหมาะกับเด็ก ฉะนั้นก็ต้องเผื่อใจไว้หน่อยนะคะว่าตราบใดที่เรายังดูทีวีของตัวเองเป็นหลัก ปัญหาต่อเนื่องบางอย่างก็อาจจะเกิด โดยที่บางครั้งเราเป็นคนปล่อยให้ลูกหลานเข้าถึงสื่อเหล่านั้นด้วยตนเอง

          อ้อมไม่ได้จะบอกว่า โห! ละครดีจัง สะท้อนสังคม แต่แค่มองตามสิ่งที่มันเป็นว่าบริบทของสังคมทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องอยู่กับสังคมแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย และดีด้วย

          บางทีการปิดตาและปิดใจไม่ยอมรับ มันไม่ต่างกับหนีปัญหา การเผชิญปัญหาแบบมีสติต่างหากที่สำคัญ

          ถ้าทุกบ้านร่วมมือกัน พ่อแม่ไม่ให้ทีวีเลี้ยงลูก ใช้วิจารณญาณให้เขาเติบโตตามวัย ไม่ใช่ให้สื่อชี้นำ เราคงมีลูกหลานที่เติบโตมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขขึ้น มั่นคงทางกายและใจมากขึ้น

          คนบางคนเกิดมาเพื่อหกล้มแล้วจำ แต่บางคนแค่เห็นคนล้มก็รู้แล้วว่าเจ็บ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณเป็นคนประเภทใด และตั้งใจจะเลี้ยงลูกหลานให้เติบโตมาเป็นแบบไหน

          ชอบล้มเอง หรือแค่เห็นก็ขยาดจนไม่อยากเจ็บเองซะแล้ว
.......................................
(หมายเหตุ อยากให้โลกนี้มีแต่ชะเอมโชคดีของชะเอม : คอลัมน์ ทีวีสีรุ้ง โดย... สุนิสา สุขบุญสังข์)