
การแวะมาของSlasher filmsแขนงย่อยของตระกูลสยองขวัญ
การแวะมาของ Slasher filmsแขนงย่อยของตระกูลสยองขวัญ : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร
มิใช่รายได้ของหนังไทย ที่อยู่ในอาการ “โคม่า” อย่างมีนัยยะหลายประการเท่านั้น ถ้าสำรวจสินค้าทางวัฒนธรรมของฮอลลีวู้ด เราก็จะพบด้วยว่า หนังหลายเรื่องก็เป็นบวกมากกว่าลบ อย่างชัดเจน
ตอนนี้สตูดิโอต่างๆ ในอเมริกาคงกำลังพยายามจะฉีกตัวเองอกจากกรอบเดิมๆ คิดหาวิธีการใหม่ๆ ที่ขายได้นานๆ แต่ระหว่างที่กำลังรออะไรสักอย่างมาโปรด จะเห็นได้ว่าตัวละครและแนวทางหนึ่งของหนัง ที่ถูกนำกลับมาใช้และสร้างออกมาอย่างฉาบฉวยไปก่อนก็คือ Slasher films
บางเรื่องก็มาตรงๆ บอกกันโทงๆ ว่าเป็นหนังเกรดบี แต่บางเรื่องคมคายกว่า ด้วยการยัดตัวละครแบบนี้เข้าไปในพล็อตเรื่องที่อาจจะเดินทางด้วยแบบแผนของเมโลดราม่า
บางคนอาจจะสงสัยว่า อะไรคือ Slasher films ?
ชื่อหนังที่ว่านี้จัดเป็น “แขนงย่อย” ในตระกูลของ “หนังสยองขวัญ” มันอาจจะมีรายละเอียดหลายอย่าง แต่โดยหลักๆ มักจะมีตัวละครเด่นเป็น “ฆาตกรโรคจิต” ซึ่งเจ้าแคแรคเตอร์นี้ มักจะมีวิธีฆ่าไม่เหมือนใคร (และบางทีมันก็มีแนวฆ่า รูปแบบการฆาตกรรมที่วิตถาร)
สิ่งที่หนึ่งที่บางท่านอาจจะไม่ทราบ บางครั้งหนังประเภทนี้ อาจเรียกแทนว่า Bodycount films หรือ Dead teenager films เนื่องจากจะมีเหยื่อวัยรุ่นถูกฆ่าตายตกตามกันไป ถ้าเอาคนที่มีส่วนในการสร้างอิทธิพลมาก่อน แน่นอนว่า ต้องเป็นอัลเฟรด ฮิทช์ค็อก
ตัวอย่างทั่วๆ ไปของหนังประเภทนี้ อาทิ The Texas Chain Saw Massacre, Freddy vs. Jason หรือแม้แต่หนังวัยเกรียนอย่าง Scream, I Know What You Did Last Summer และมันกำลังจะกลับมาเร็วๆ นี้
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า พวก Slasher films นั้น มักกลับมาในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำหรือคนเบื่อปัญหาสังคม เพราะการดูหนังแบบนี้ มันเป็นการพาฝัน พาคนหลุดไปสู่อีกโลกหนึ่งที่หลบเร้น (แม้จะรู้อยู่ว่า ดูหนังจบก็ต้องกลับมาต่อสู้ปัญหาต่อ)
ในยุค 70-80’s หนังตระกูลนี้อาจจะมีพื้นที่ยืนเยอะ ทำออกมากี่เรื่องก็ได้เงิน แต่ในโลกปัจจุบัน ที่ผู้คนมีทางเลือกในการหาหนังตามเนตดูมากมายนั้น หนังฆาตกรแบบนี้ จึงเสื่อมและเชยไปตามยุคสมัย (เพราะฆาตกรอาจจะเป็นหมอแทน หรือฆ่ากัน อำพรางผ่าน social media)
Slasher films มักมาคู่กันกับหนังอีกแนวหนึ่ง นั่นคือ Exploitation films
คำหลังนี้เป็นชื่อเรียก เป็นชื่อเรียกหนังแนวหนึ่งที่ “เน้นการแสดงความรู้สึก” มากกว่าที่จะคำนึงถึง “คุณค่าทางด้านสุนทรียศาสตร์” และแน่นอนว่าจุดขายของงานกลุ่มนี้ มักจะให้ความสำคัญมากกับเซ็กส์ ความรุนแรง และเลือด
นอกจากนี้ Exploitation films อาจหมายถึงธุรกิจภาพยนตรที่ความสำเร็จได้มาจากความสามารถในการดึงดูดความสนใจใคร่รู้ของผู้ชมผ่านสื่อโฆษณามากกว่าคุณภาพของตัวภาพยนตร์
ศาสตรของหนังนั้น ละเอียดแยกย่อยลงไปไม่แพ่ศิลปะของภาพยนตร์ เช่นกันหนังแนวนี้ ก็ยังแยกได้เป็นอีกหลายประเภท
ขึ้นอยู่กับธีมหรือ “สารหลัก” ของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น หนังซอมบี้ (ผีดิบ) หนังที่มีผู้หญิงถูกจองจำในคุก หนังคนผิวสี หนังเกี่ยวกับเซ็กส์ที่ออกจะเป็นแนวกึ่ง ๆ หนังโป๊ softcore หรือแม้แต่หนังสยองขวัญ
นักวิชาการของต่างชาติเคยตั้งข้อสังเกตว่า ฆาตกรในหนังยุคใหม่นั้น มักไม่ใช่พวกนักฆ่า ที่มีสภาพจิตวิปริตอีกแล้ว มันกลายมาเป็นคนที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา หรือจะว่าไป คนที่เราคุ้นหน้ากันดีตามชีวิตปรกติ
ไม่ว่าจะเป็นรปภ.ที่อาจจะอยู่ในคอนโด, เพื่อนข้างห้องในอพาร์ทเมนท์ เลยไปถึงเพื่อนร่วมงานหรือมนุษย์ที่เราเพิ่งรู้จักแบบผ่านๆ แต่สามารถมาสื่อสารกับเราได้
และอาวุธของพวกเขาก็ไม่ใช่มีดหรือระเบิด แต่เป็น social media ที่มาทางอินเตอร์เนต
ไม่ต้องมาเคาะประตูบ้านหรอก แต่มาถึงห้องนอน บนเตียงพวกเราได้ เพียงแค่เราให้เวลาสนทนากับพวกเขา
โลกเปลี่ยนไป วิธีการก็เปลี่ยน ความสัมพันธ์เปลี่ยน ความรักเปลี่ยน
.......................................
(หมายเหตุ การแวะมาของ Slasher filmsแขนงย่อยของตระกูลสยองขวัญ : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)