บันเทิง

Wag the Dog:หางของใคร..ของใครก็ห่วง

Wag the Dog:หางของใคร..ของใครก็ห่วง

21 ก.ย. 2555

Wag the Dog:หางของใคร..ของใครก็ห่วง : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง

          การเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกามีทุกๆ 4 ปี และในช่วงนี้ก็ใกล้เวลาเลือกตั้งเข้ามาแล้ว พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคของอเมริกานั้นได้ส่งตัวแทนมาชิงชัย มิตต์ รอมนีย์ ลงสมัครในนามของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตนั้นยังคงส่งนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ต้องการลงแข่งขันต่ออีกสมัย  
 
          การแข่งขันในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเมืองด้านการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีสหรัฐอมริกา นั่นคือ Wag the Dog เป็นภาพยนตร์ที่ใช้สื่อภาพยนตร์ช่วยในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ภาพยนตร์ได้เล่าถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง 11 วัน เพื่อเฟ้นหาผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา มีเนตรนารีคนหนึ่งออกมาให้ข่าวว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเธอเชิงชู้สาว จึงทำให้สื่อหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่น กลายเป็นประเด็นร้อน ส่งผลให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีลดลง และเป็นช่องทางให้คู่แข่งโจมตีเพื่อลดความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย ร้อนถึงคอนราด บรีน (โรเบิร์ต เดอนีโร) กุนซือผู้ชาญฉลาดแห่งทำเนียบขาวของประธานาธิบดีคนปัจจุบันจึงต้องพึ่งกลุ่มคนซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์อย่าง สแตนลีย์ (ดัสติน ฮอฟแมน)
 
          ผู้อำนวยการสร้างชั้นเซียนมาสร้างเหตุการณ์สงครามเทียมขึ้นเพื่อหันเหความสนใจของประชาชนไปก่อน ซึ่งวิธีการนี้ต้องอาศัยสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะสามารถดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วที่สุดและหวังจะฟื้นชื่อเสียงประธานาธิบดีให้กลับคืนมาให้ได้ จากเหตุการณ์ในภาพยนตร์สู่เหตุการณ์ในโลกความจริง หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายได้ไม่นานนักก็มีข่าวของประธานาธิบดีบิล คลินตัน มีความสัมพันธ์ทางเพศกับมอนิกา เลวินสกี ก็ออกมาพอดี ตอนนั้นได้เกิดยุทธการจิ้งจอกทะเลทรายขึ้น ซึ่งเป็นปฏิบัติการเพื่อโจมตีประเทศอิรัก หลายคนมองเห็นว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนและปกปิดความผิดของตัวประธานาธิบดีบิล คลินตันเอง
      
          Wag the Dog นั้นมาจากวลีที่ว่า “The tail that wag the dog” หมายถึงส่วนเล็กๆ ที่ปั่นหัวส่วนที่ใหญ่กว่า นั่นคือสื่อ (หาง) ที่สามารถสร้างกระแส แทนที่จะเป็นสถานการณ์ (สุนัข) ที่มาคอยกำหนดความสนใจของสื่อ หรืออาจหมายความได้อีกว่าคนเพียงไม่กี่คน เช่น ผู้มีอำนาจรัฐสร้างสถานการณ์ปั่นหัวสื่อมวลชนให้นำเสนอข่าวที่ตัวเองต้องการ ชี้นำประเด็นสาธารณะเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของตนเอง        
    
          จากความสำคัญและอำนาจของภาพยนตร์ที่มีมากมายนั้น  ทำให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองมักใช้ภาพยนตร์เป็นอาวุธสำคัญทางการเมือง บ่อยครั้งที่ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องถูกสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารทางการเมืองและการรณรงค์ทางการเมืองไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม  แล้วผมก็ได้รู้ว่านอกจากการเมืองใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือแล้ว ภาพยนตร์ก็ใช้การเมืองด้วยเช่นกัน  ดังในวลีเด็ดของท่านผู้นำประเทศในช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ก็ยังสามารถนำมาตั้งเป็นชื่อของภาพยนตร์ไทยได้เลย แต่ไม่อาจรู้ได้จริงๆ ว่าใครที่พูดโกหก คนหรือภาพยนตร์กันแน่ และคงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองของนักการเมืองผู้แสวงหาอำนาจทุกวิถีทาง หากพวกเขาสามารถสร้างเรื่องโกหกคนทั้งประเทศและทั้งโลกได้อย่างแนบเนียน และก่อนที่จะเราสั่นหางให้กับใครนั้น  จงถามตัวเองก่อนว่า พวกเราทุกคนได้ใช้จิตสำนึกพิจารณาอย่างรอบด้าน ใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลแล้วหรือยัง เพราะโปรดจำไว้ให้ขึ้นใจว่า...เกิดเป็นคนอย่าสั่นหางให้ใครง่ายๆ
.......................................
(หมายเหตุ Wag the Dog:หางของใคร..ของใครก็ห่วง : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง)