บันเทิง

มองเซ็กส์และการเมืองผ่านสายตาหม่อมน้อย

มองเซ็กส์และการเมืองผ่านสายตาหม่อมน้อย

14 ก.ย. 2555

มองเซ็กส์และการเมืองผ่านสายตาหม่อมน้อย : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          ในสถานะคนทำหนังของ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (ซึ่งอันที่จริงแล้ว‘หม่อมน้อย’ ทำงานศิลปะมาหลายแขนง ทั้งละครเวที และละครโทรทัศน์) ผลงานหนังกว่า 11 เรื่อง (ซึ่งผมได้ดูเพียงแค่ 2 เรื่อง คือ ชั่วฟ้าดินสลาย และ จันดารา แน่นอนว่าพลาดไปมากกว่าครึ่ง) ไม่น่าเชื่อว่า ความเชื่อมโยงถึงหนังของหม่อมแต่ละเรื่องล้วนสามารถสัมผัสได้ แม้ระยะเวลาของการออกฉายจะห่างกัน 2 ปี นั่นคือเรื่องของเซ็กซ์และการเมือง ผ่านหนังสองเรื่องหลังคือ “ชั่วฟ้าดินสลาย” และ “จันดารา” โดยเฉพาะร่องรายของการเมืองหรือการวิพากษ์สังคมตลอดจนชนชั้นปกครองที่มีให้เห็นอยู่ประปราย

          บริบททางสังคมและการเมืองที่ ‘หม่อมน้อย’ บรรจงแทรกสอดไว้ในหนัง แม้ความตั้งใจแรที่ก “ชั่วฟ้าดินสลาย” อาจจะเพียงแค่กำหนดให้บรรยากาศหรือยุคสมัยรับใช้เรื่องราว พฤติกรรม ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดหรือทัศนคติของตัวละคร (ไม่นับรวมเสื้อผ้าเครื่องประดับ ทรงผม กระทั่งฉาก หรืออุปกรณ์ประกอบฉาก ที่เอื้อให้ประดิดประดอยได้อย่างวิจิตรบรรจง) แต่เมื่อยุคสมัยใน “จันดารา” กลับปรากฏว่าห้วงเวลาที่เกิดขึ้นในหนังซึ่งละม้ายคล้ายเคียงเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กัน ความหมายหรือนัย ที่ซุกซ่อนไว้ กลับฉายชัด ปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ต่อด้วยการตีความ และถอดรหัสสัญญะทางการเมืองการปกครองผ่านนัยอันหลากหลายตามติดมาในทันที
 
          ครั้งแรกที่ ‘พะโป้’ (ธีรพงษ์ เหลียวรักษ์วงศ์)และ ‘ยุพดี’(เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) พบกันเป็นปีเดียวกับที่ ‘จัน’(มาริโอ้ เมาเร่อ) และ ‘ไฮซินธ์’(สาวิกา ไชยเดช) เจอกัน...เรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้น ณ ปางไม้ของพะโป้ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นในบ้านวิสนันท์ นั่นก็คือปีพุทธศักราช 2475 เป็นปีที่สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
 
          ‘หม่อมน้อย’ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับปัจเจก ไปจนถึงสังคม และชาติพันธุ์ แม้ไม่ได้ก้าวล่วงถึงสายเลือดหรือชาติตระกูล แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งนัยสำคัญสะท้อนไปยังองคาพยพอีกมากมายในสังคมไทย
 
          ปีพุทธศักราช 2475 ยุพดีเข้ามาในชีวิตของพะโป้และสุดท้ายก็นำมาซึ่งหายนะในชีวิตตนและคนรักที่ชื่อ‘ส่างหม่อง’(อนันดา เอเวอริ่งแฮม)กลายเป็นบาดแผลที่ไม่อาจสมานเยียวยาของ ‘พะโป้’ หนึ่งในคหบดีของอาณาจักรล้านนา เช่นเดียวกับที่ความล่มสลายของบ้านวิสนันท์ก็มีเค้าลางมาจากปี พ.ศ.เดียวกัน ที่บุตรชายนอกสมรสชื่อ ‘ไอ้จัน’ของหลวงวิสนันท์เดชา(ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ระเบิดความคับแค้นอัดอั้นตันใจที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กถึงพฤติกรรมของบุพการีที่เขาให้ความเคารพนับถือในฐานะ ‘บิดา’ รวมไปสิ่งแวดล้อมที่รายรอบไปด้วยตัณหาราคะของคนในบ้านตั้งแต่เจ้านายยันบ่าวไพร่
 
          ใน “ชั่วฟ้าดินสลาย” สุดท้าย ‘ส่างหม่อง’ ก็กลายเป็นเหยื่อของผู้ปกครองที่ดำรงฐานะของชนชั้น ‘ศักดินา’ ที่สามารถกำหนดหรือกุมชะตาทุกชีวิตที่อยู่ภายใต้อาณัติปกครอง แต่พอมาถึง ‘จันดารา’ ลูกนอกสมรส อันมีสถานะไม่ต่างจากบ่าวไพร่หรือลูกทาสในเรือนเบี้ย กลับลุกขึ้นมาต่อกร ต่อสู้เพื่อความชอบธรรม ในสิ่งที่ตนและคนในบ้านถูกข่มเหงย่ำยี
 
          ถ้าพุทธศักราช 2475 คือห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสยามประเทศ  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ห้วงเวลาดังกล่าว จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับรองลงไป และชนชั้นปกครองต้องถูกตั้งคำถามและการท้าทายของผู้ที่อยู่ใต้อาณัติ
 
          สถานะของคุณหลวงวิสนันท์เดชา อาจไม่ต่างจากพะโป้ พ่อค้าไม้ชาวพม่าที่นับวัน ผู้ปกครองจากกลุ่มอำนาจเก่าที่นอกจากพยายามหาที่อยู่ที่ยืน ท่ามกลางสังคมที่การเปลี่ยนแปลง การถูกท้าทายในยุคการต่อสู้ของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่บางครั้งก็พบว่า พวกเขาถูกผลักไปสู่สังคมอันแปลกแยก ที่นอกจากต้องพยายามดำรงตนรักษาสถานะไว้ให้มั่นไม่สั่นคลอนแล้ว (แต่จะหวงแหนเอาไว้ได้นานสักแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง) การพยายามปกปิดบังความผิดพลาด บาดแผล ซึ่งอาจมองเป็นความอ่อนแอในอำนาจการปกครองของตนก็เป็นสิ่งที่ทั้งคุณหลวงหรือพ่อเมือง พ่อเลี้ยง พยายามกระทำ
 
          โชคดีที่ปางไม้ของพ่อเลี้ยงพะโป้  ตั้งอยู่ในใจกลางป่าลึก เป็นเหมือนสังคมปิดที่บุคคลภายนอกไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปได้ แต่ในบ้านวิสนันท์ปี พ.ศ. 2475 การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างดูเหมือนว่าจะกลายเป็นสังคมเปิด รวมถึงหน้าที่การงานของเจ้าบ้านและการคบค้าสมาคมที่มีการติดต่อกับคนภายนอก ได้ชักนำความศิวิไลซ์ของผู้คนมาให้คนในบ้านได้รู้จัก กลายเป็นการปลดปล่อยให้คนในบ้านได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอก สั่งสมให้คนในปกครองกลายเป็นคนที่รู้เท่าทันและกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ชอบธรรมในท้ายที่สุด
 
          ไม่ว่าอย่างไรก็ตามทั้ง ‘พะโป้’ และ ‘หลวงวิสนันท์เดชา’ ที่ต่างมักมากในกามคุณและใช้อำนาจจากแรงราคะพื่อปกครองคนในอาณัติให้ยอมศิโรราบ จนสุดท้ายต่างได้บทเรียนไปตามๆ กัน ก็เป็นเสมือนการสะท้อนวิถีในสังคมของชนชั้นปกครองที่เราต่างรับรู้ผ่านเรื่องราวในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์มาเนิ่นนาน เพียงแต่นี่อาจเป็นครั้งแรกที่คนทำหนังกล้านำมาวิพากษ์กล่าวอ้าวถึงบนจอภาพยนตร์
 
          ท่ามกลางการห้ำหั่นฟาดฟันเพื่อรักษาไว้ศักดิ์ศรีของชายชาตรี ทั้งของพะโป้และสางหม่อง กับ หลวงวิสนันท์และจัน ชนวนแห่งการต่อสู่เหล่านั้นล้วนมาจากมารยาของหญิงงาม ที่เหล่าชายชาญล้วนตกเป็นทาส(หัวใจ)ของเธอทั้งนั้น
 
          อาจจะเป็นไปได้ว่าทั้ง ยุพดี และคุณบุญเลื่อง ต่างกำลังมองเฝ้ามองความปราชัยของชายที่รักเธอ(เคย)รัก ด้วยสายตาเย้ยหยันก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “ชั่วฟ้าดินสลาย” และ “จันดารา” ต่างเป็นหนังไทยที่มีนัยทางการเมืองอันน่าสนใจและใคร่ศึกษาวิเคราะห์ตีความมากที่สุดในรอบหลายปี
.......................................
(หมายเหตุ มองเซ็กส์และการเมืองผ่านสายตาหม่อมน้อย : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง  โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)