บันเทิง

ฟังเพลงทั้งชาติก็ไม่หมดขอเลือกเพลงโปรดฟังก่อนตาย

ฟังเพลงทั้งชาติก็ไม่หมดขอเลือกเพลงโปรดฟังก่อนตาย

13 ก.ย. 2555

ฟังเพลงทั้งชาติก็ไม่หมดขอเลือกเพลงโปรดฟังก่อนตาย : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ

           ช่วงปี 2516 จากยุคเพลงใต้ดิน ที่ทำขายกันเอง หาที่ทางในการฝากขายเทปของตนเองตามแต่กำลังของศิลปิน ผ่านร้านหลัก ๆ จำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าเพลงใต้ดิน เป็นเพราะเพลง หรืออัลบั้มนั้นอาจมีเนื้อร้องที่เสียดสี รุนแรง เฉพาะเรื่อง ทั้งการเมือง การต่อสู้ หรือวิถีชีวิต ที่ออกไปในแนวเฉพาะกลุ่ม เป็นเพลงที่ไม่สามารถนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ได้ แอบทำ แอบซื้อ แอบเสพกันเฉพาะกลุ่ม
 
          ตั้งแต่ปี 2537 มาสู่ยุคของการทำเพลงที่ไม่ตามกระแสคนส่วนใหญ่ ทั้งในแง่ภาพลักษณ์ศิลปิน วิธีการนำเสนอ เนื้อร้อง ทำนอง และการใช้เครื่องดนตรีบรรเลง วงการเพลงไทยเปิดกว้างมากขึ้น เพราะกระแสเพลง Alternative ไหลบ่า เข้ามาในประเทศไทย การทำค่ายเพลงจึงไม่จำเป็นต้องใช้ทุนรอนมหาศาล เพราะไม่ต้องซื้อสื่อต่างๆ เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพลงของศิลปินให้เข้าถึงกลุ่มผู้ฟัง แต่สามารถใช้สื่อที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ ขณะที่สื่อมวลชนด้านต่างๆ ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแม้กระทั่ง รายการทีวีเองก็เปิดพื้นที่สำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่มาจากค่ายๆ เล็กๆ หากผลงานเป็นที่น่าสนใจ  ทำให้ช่วงเวลานั้นค่ายเพลงต่างๆ เปิดขึ้นมากมาย มีงานเปิดตัวศิลปินกันแทบทุกสัปดาห์
 
          การเติบโตของวงการเพลงไทยสากลในยุคกลางอย่างคึกคักช่วง 3-4 ปีนั้น ( พ.ศ. 2537-2540 ) สร้างแรงกระเพื่อมอย่างเห็นได้ชัดต่อวงการเพลงเนื่องจากความใหม่ และความหลายหลากของเพลงและศิลปินที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด ทำให้ค่ายเพลงใหญ่ๆ ต้องรีบปรับตัวตาม ทั้งในแง่ของเพลง และการปรับภาพลักษณ์ของศิลปิน แม้กระทั่งการศิลปินใหม่ จึงเร่งปรับตัวเพื่อเดินตามกระแสใหม่นี้ให้ทันด้วย แต่หลังจากนั้น พิษเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตกในปี 2540 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศ ร่วงหล่น วงการเพลงก็ไม่อาจรอดพ้น แม้จำเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่นับว่าเป็นช่วงเวลาหอมหวานที่น่าจดจำอีกช่วงนึงของวงการเพลงไทย
 
          สิ่งต่างๆ มีเกิดขึ้น ก็มีดับไป วงการเพลงก็เช่นกัน ช่วเวลานั้นมีงานดนตรีที่น่าสนใจหลายชุด ที่เป็นแรงบรรดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ในวันนี้ได้อย่างดี ล่วงเลยมา 15 ปี การเพาะบ่มศิลปินรุ่นใหม่ ก็สุกงอมเต็มที่
 
          เอ้ รุก สุภารัตน์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น รงค์ สุภารัตน์) กับอัลบั้ม “นายเอ้ กับเรื่องราวในกรุงเทพฯ” ออกผลงานชุดแรกกับค่าย ร่องเสียงลำใย ที่มีฮาร์ท สุทธิพงษ์ ฮาร์ท สุทธิพงษ์ ทัดพิทักษ์กุล  ประกอบด้วยเพลง 8 เพลง
 
          เอ้...รงค์ สุภารัตน์ ผู้ชายที่เลือกดำรงชีวิตอยู่กับกีตาร์ถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึก ผ่านความเรียบง่ายของบทเพลงอันงดงามตามความหมายของชีวิตที่แท้จริง  กลั่นกรองถ้อยคำในบทเพลงจากความรู้สึกอันแรงกล้าที่ได้รับจากชีวิตและ ประสบการณ์อันหลากหลายทลายกรอบจำกัดของการประพันธ์เพลงอันดาษดื่น สู่บทเพลงที่จริงใจและบริสุทธิ์ต่อจิตสำนึกที่มีต่อความละเอียดอ่อนแห่งชีวิต ...บทเพลงของรงค์ สุภารัตน์ หรือเอ้ จึงเสมือนตัวตนที่แท้จริงและโดดเด่นเป็นปัจเจก “ถนนดนตรีที่ก้าวผ่าน <http://www.sanuknuek.com/ae.php>” เว็บไซต์เพียงหนึ่งในไม่กี่เว็บที่พูดถึงเอ้ และเรื่องราวของเอ้ซึ่งมีน้อยมากจนแทบไม่มีข้อมูลใดๆ ที่พูดถึงเป็นชิ้นเป็นอันในโลกออนไลน์เลย
 
          ผมเขียนคอลัมน์นี้โดยไม่มีข้อมูลประกอบใดๆ นอกจากความทรงจำล้วนๆ และเพลงที่อยู่ใน iPod ซึ่งชื่อเพลงไม่โชว์ภาษไทยอีกต่างหาก นั่งไล่ฟังเพลงไปเขียนไป โดยบางเพลงนึกชื่อเพลงไม่ออก หากชื่อเพลงผิดต้องขออภัย
 
          งานดนตรีชุดนี้เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ใช้การบันทึกเสียง และการใช้เสียงจากซอฟแวร์และ ฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมาอีกขึ้นนึงจากยุค 80 ที่เป็นเสียงกลองไฟฟ้าแข็งๆ แต่ทั้งเสียงกลองและเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่บนเพลงทุกเพลงในงานชิ้นนี้ได้อารมณ์คนเล่นดนตรีสดอย่างมาก
 
          01. ห้องสุดท้าย เพลงหนึ่งในอัลบั้มที่น่าจะมีคนรู้จักมากที่สุด เพราะทั้งทำนองและเนื้อร้องที่เล่าเรื่องราวสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ฟังทีไรขนลุกทุกที หากบรรยากาศและจินตนาการพร้อม

          *ผมมาตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งที่จริงนี้เราคบกัน ไม่นาน เกือบสัปดาห์มันเป็นคืนฟ้าฝนโรยกระหน่ำ ที่ข้างทางพบใครยืนอยู่ คอยโบก ใต้ต้นไม้
.........................................................
      
          คุณคน คนนั้นคิดพรางถอนใจ ตอบออกไปสายตาพะวัง ใครกันห้องสุดท้ายหรือใครก่อนนั้นที่เคยหายไป รถเธอชนที่โค้งต้นไทร หรือใครที่คุณถามผมมาตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง เธออยู่ไหม

          เพลงนี้นอกจากจะโด่งดังในรายการเล่าเรื่องผีแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนึงก็นำเพลงนี้มาประกอบภาพยนตร์ด้วย หาฟังได้ทั่วไปไม่ยาก เพราะมีให้ค้นหาในโลกออนไลน์ ทั้งยูทูบ, เว็บฟังเพลงทั่วไป
 
          02. ผีเสื้อราตรี เพลงเล่าเรื่องราวในวันหนึ่งที่ฝนตกของนักดนตรีกลางคืน ที่ต้องพบเจอกับคนเที่ยว คนดื่ม เสน่ห์ของเพลงที่ถูกด้วยเสียงประกอบตลอดทั้งเพลง ส่งเสริมบรรยากาศได้ดียิ่งนัก  ทำให้เห็นภาพของความสุขของคนเล่นและคนฟัง และสิ่งที่ต้องเจอในทุกค่ำคืนได้เป็นอย่างดี เป็นเพลงที่ส่งเสริมจินตนาการได้ดียิ่งนัก
 
          03. You เพลงช้าที่ป๊อปที่สุดในอัลบั้ม เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เนื้อเพลง และทำนองที่สละสลวย เสียงเกากีตาร์โปร่ง รองด้วยเสียงคีย์บอร์ด และเสียงกลองสด (จำลอง) ส่งผลให้เพลงนี้เต็มอิ่มในอารมณ์ และ โซโลท่อนกลางด้วยเสียงกีตาร์ไนลอน งดงาม
 
          04. เหวย สำหรับความหมายในเพลงนี้คนไม่ใด้หมายความถึงเสียงทักทายในภาษาจีน แต่อาจเป็นคำอุทาน เป็นเรื่องราวของการมองชีวิตผ่านสายตา
 
          05. ยกสุดท้าย เสียงประสานที่ชัดเจนของ ฮาร์ท Producer ของงานชุดนี้ ดนตรีเคลื่อนไหวสองจังหวะ สนุกดี ทั้งโยกเบาๆ  และเคลื่อนไหวเร็วๆ แบบคันทรี่ร็อก  
 
          06. Moon เพลงบัลลาด ที่เล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่เกิดขึ้นที่คอสะพาน ที่กลายเป็นความรันทดแก่ผู้พบเห็น เศร้า วังเวง บรรยากาศมึดสลัวในคืนที่มีแสงจันทร์แม้เพียงน้อยนิด แต่ก็เด่นชัดพอที่จะมองเห็นภาพเหตุการณ์อันน่าตกใจนี้ เสียงประสานหญิงจาก นรีกระจ่าง คันธมาศ
 
          07. พริบตา โลกเราสร้างขึ้นมา และสวยงามด้วยมือมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ถูกทำลายด้วยสิ่งเดียวกัน ถ้าเดาไม่ผิดผมคิดว่าเป็นเรื่องของระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำลายล้างมนุษย์ชาติด้วยนิ้วเพียงนิ้วเดียว
 
          การเรียงเรียง เสียงประสาน ไพเราะน่าฟัง โดยเฉพาะเปียโน ที่ฟังแล้วนึกถึงเพลงแบบ Bruce Hornsby ส่งให้เพลงนี้ดูหรูหรามากขึ้นอีกโข
 
          08. กลับบ้าน เพลงคันทรี่แบบฝรั่ง จังหวะกระฉึกกระฉักแบบนั่งรถไฟ ปิดท้ายอัลบั้มชุดนี้ได้ดีทีเดียว
 
          จากวัน ...วัยที่ได้สั่งสมความรู้ทางดนตรีจากศิลปินเพลงชั้นครู อาทิ จรัล มโนเพ็ชร ส่งให้ เอ้ : รงค์ ก้าวเข้าสู่อาชีพคนดนตรีอย่างเต็มตัวกับอัลบั้มเพลงชุดแรกในชีวิตในวันนั้น 16 ปีมาแล้วที่ เอ้ ออกผลงานชุดนี้ เวลาในชีวิตของผู้สร้างสรรค์ บทเพลงจากเรื่องราว ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและถูกนำเสนอต่อสาธารณะ ให้ผู้ฟังได้สัมผัสกับสุนทรียรสแห่งดนตรี
 
          เป็นอัลบั้มที่ดี ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เหมือนร้านอาหารที่ไม่ได้อยู่ตามห้างหรือทำเลที่คนเห็นเด่นชัด แต่กลับที่อยู่ในซอกหลืบ แต่มีรสชาติกลมกล่อมเฉพาะตัว ทำให้นักชิมต้องค้นหาและภูมิใจหากใด้ลิ้มลอง เปรียบเป็นอาหารที่มีคุณค่าทั้งทางโภชนาการ และศิลปะ
 
          หลายครั้งที่ผมเขียนถึงงานต่างๆ จนทำให้ผู้อ่านหลายท่านอยากหามาฟังแต่มันไม่มีให้ฟัง บางท่านส่งจดหมายไฟฟ้ามาถึงผมว่าทำอย่างไรถึงจะได้ฟัง ต้องบอกว่าผมไม่สามารถนำเพลงมานำเสนอให้ฟังได้ เนื่องจากนี่เป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ หรือหากเป็นสื่ออื่นๆ ก็ยังติดเรื่องลิขสิทธิ์  แต่ผมกำลังมีความพยายามอยู่นะครับ หากพบวิธีทางที่ทำได้อย่างถูกต้อง ผมจะรีบจัดการนะครับ
สรุปว่างานนี้อาจหาฟังยากหน่อย แต่คิดว่าไม่ยากจนเกินไปที่จะหา เพราะยิ่งได้มันมายาก มันยิ่งมีคุณค่ามากตามไปด้วย หากคุณผู้อ่านเห็นด้วย ก็ตามหากันให้เจอนะครับ ขอให้มีความุขกับการฟังเพลงครับ

          ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไป ได้ไม่หมด
          ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า
.......................................
(หมายเหตุ ฟังเพลงทั้งชาติก็ไม่หมดขอเลือกเพลงโปรดฟังก่อนตาย : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ)