
ละครเพลง
ละครเพลง : คอลัมน์ พริกกะเกลือ โดย... นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
ละครเพลง “เรยา เดอะ มิวสิคัล” จากบทประพันธ์ “ดอกส้มสีทอง” ของคุณถ่ายเถา สุจริตกุล ที่คุณสมเถา สุจริตกุล นำมาดัดแปลงเป็นละครเพลงโดยประพันธ์เพลงขึ้นมาใหม่อย่างไพเราะไม่น้อยกว่าสิบห้าเพลง กำลังจะเปิดแสดงที่โรงละครอักษราในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ในฐานะโปรดิวเซอร์ผู้หนึ่งของละครเพลงเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามักได้รับคำถามเสมอว่า ละครเพลงคืออะไร และถ้าเป็นเพลงที่คุณสมเถาซึ่งมีชื่อเสียงด้านโอเปร่าเป็นผู้ประพันธ์ เพลงจะออกมาเป็นแนวที่มีผู้หญิงถือสมุดเพลงออกมาส่งเสียงโหยหวนระดับ “แก้วแตก” ใช่หรือไม่
คนที่ถามเช่นนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่แฟนคลับละครโอเปร่าที่เรียกแบบไทยๆ ว่า อุปรากร และไม่ชื่นชอบโอเปร่า หรืออีกนัยคือคิดว่าโอเปร่าช่างเป็นการแสดงที่ยากเย็นต่อความเข้าใจยิ่งนัก
จึงตอบความจริงกับผู้ถามไปว่า “ไม่ใช่” และแม้คุณสมเถาจะมีชื่อเสียงจากด้านดนตรีคลาสสิกและอุปรากร แต่ “เรยา เดอะ มิวสิคัล” ก็คือ “มิวสิคัล” หรือละครเพลง ไม่ใช่ โอเปร่า
“วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี” ของไทยให้คำอธิบายเรื่องโอเปร่าและละครเพลงไว้ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว นั่นคือ บอกว่า โอเปร่า Opera หรืออุปรากร เป็นศิลปะการแสดงบนเวทีชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นละครที่ดำเนินโดยใช้ดนตรีเป็นหลัก โดยโอเปร่าถือเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีคลาสสิกของตะวันตก และมีความใกล้เคียงกับละครเวทีชนิดอื่นๆ ในเรื่องของฉาก การแสดง และเครื่องแต่งกาย
สิ่งสำคัญที่แยกโอเปร่าออกจากละครเวทีทั่วไปคือ ความสำคัญของเพลงและดนตรีที่ประกอบการร้อง ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่วงดนตรีขนาดเล็กจนไปถึงวงออร์เคสตราขนาดเต็ม
ส่วน ละครเพลง Musical Theatre เป็นรูปแบบของละครที่นำดนตรี เพลง คำพูด และการเต้นรำ รวมเข้าด้วยกัน โดยมีการแสดงอารมณ์ ความสงสาร ความรัก ความโกรธ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ผ่านคำพูด ดนตรี การเคลื่อนไหว และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้เกิดความบันเทิง ละครเพลงที่มีชื่อเสียงเช่น Show Boat, Oklahoma!, West Side Story, The Fantasticks, Hair, A Chorus Line, Les Mis?rables, The Phantom of the Opera, Rent และ The Producers
พูดเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือ วิธีร้องเพลงแบบโอเปร่า เป็นการร้องแบบคลาสสิก ขณะที่ละครเพลงเป็นการร้องแบบร่วมสมัย ฟังเข้าใจง่ายกว่า แม้ปัจจุบันจะมีการผสมโอเปร่าและละครเพลงเข้าด้วยกันบ้าง เช่น มีร็อก โอเปร่า หรือแจ๊ส โอเปร่า แม้แต่ละครเพลงเองก็มีพัฒนาการในด้านสไตล์เพลงที่หลากหลายมากขึ้น แต่กระนั้น สิ่งที่ทำให้ละครเพลงและโอเปร่าแตกต่างกันอย่างชัดเจนนอกเหนือจากวิธีการร้อง ก็ยังคงเป็นความสำคัญของ “คำ” หรือ “ถ้อยคำ"
ในละครเพลง ถ้อยคำจะมีความสำคัญมาก บทเพลงคือบทสนทนาของตัวละครซึ่งต้องชัดถ้อยชัดคำ โดยมีดนตรีเป็นตัวรองรับและขับเคลื่อน ผู้ชมต้องเข้าใจว่าตัวละคร “ร้อง” หรือพูดอะไร แต่ในโอเปร่าดนตรีจะมีความสำคัญมากกว่า และเสียงร้องของนักร้องในโอเปร่าก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่ง “ถ้อยคำ” ในโอเปร่าจึงไม่มีความสำคัญเท่ากับในละครเพลง
ในการชมโอเปร่า ผู้ชมมุ่งหวังสัมผัสพลังและความไพเราะของ “เสียง” ที่จะให้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่า “ถ้อยคำ” ขณะที่ละครเพลง เดินเรื่องด้วยการร้อง เล่น เต้นระบำ ทั้งนักแสดงหลักและนักแสดงหมู่มวลหรือคอรัสประสานเสียงซึ่งจะต้องเต้นประกอบการแสดงไปด้วย ละครเพลงที่ไม่มีการเต้น ถือเป็นละครเพลงที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรฐาน
ในโอเปร่า ผู้กำกับดนตรีเป็นคนสำคัญที่สุด แต่ในละครเพลง ยังมีผู้กำกับการแสดง ผู้กำกับเสียงร้อง / เสียงพูด ผู้ออกแบบและกำกับท่าเต้น และผู้กำกับเวที ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้กำกับดนตรี
อีกคำถามสำคัญที่มักได้ยินบ่อยก็คือ ละครเพลง เรยา เดอะ มิวสิคัล ต่างจากละครเพลงเรื่องอื่นๆ ที่แสดงในประเทศไทยอย่างไร ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน เราอาจบอกว่า ต่างเพราะเป็นคนละโปรดักชั่น แต่ถ้าตอบจริงๆ ก็คือ เพลงในละครเพลงทั่วไปที่บ้านเรารู้จัก ถ้าไม่ใช่ละครเพลงที่ดัดแปลงหรือซื้อลิขสิทธิ์มาจากละครเพลงบรอดเวย์ เช่น สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ที่ดัดแปลงจากละครเพลง Man of Lamancha หรือ มิสไซ่ง่อน ของคุณบอย ถกลเกียรติแล้ว ที่ผ่านมา ละครเพลงในประเทศไทย มักนำเสนอเพลงแนวป๊อปมากกว่าเพลงในแนวบรอดเวย์ดั้งเดิม ที่ยังคงความอลังการของดนตรีแบบดั้งเดิมไว้ นอกจากนั้น ละครเพลงในประเทศไทย ก็ไม่ค่อยได้เน้นความสำคัญของเพลงเหมือนที่ให้ความสำคัญกับดาราผู้แสดงในละครเพลงเป็นรายบุคคล
โปสเตอร์ละครเพลงในต่างประเทศ มักเน้นชื่อผู้ประพันธ์เพลงและบางครั้งไม่มีรูปนักแสดงเลย นอกจากนั้น รายชื่อนักแสดงก็ยังเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เพราะละครเรื่องหนึ่งๆ อาจเล่นต่อเนื่องเป็นสิบปีขึ้นไปก็ได้ และผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมละครเพลงก็เพราะต้องการชมละครเพลงทั้งโปรดักชั่นที่มีเพลงไพเราะและการแสดงที่สุดยอดกลมกลืนไปกับเพลง ซึ่งมิได้หมายความว่าดาราหรือผู้แสดงไม่มีความสำคัญ แต่หมายความว่า เมื่อเป็นละครเพลง ผู้คนย่อมให้ความสำคัญกับเพลงอย่างมาก
.......................................
(หมายเหตุ ละครเพลง : คอลัมน์ พริกกะเกลือ โดย... นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ [email protected])