
'สุนทราภิรมย์'หมอลำกลอนยุคสงครามโลก
เปิดผนึก'สุนทราภิรมย์'หมอลำกลอนยุคสงครามโลก
คนที่เป็นคอหมอลำในภาคกลางคงพอจะจำ "สุนทราภิรมย์" วงหมอลำกลอนเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดย อ.สุนทร อภิสุนทรางกูร ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ และแม่ครู คำปุ่น ฟุ้งสุข เมื่อปี 2499 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีผลงานการแสดงผ่านวิทยุจนคนติดงอมแงม ซึ่งสมัยนั้นสุนทราภิรมย์คือหมอลำวงใหญ่ที่รวบรวมเอา "หมอลำ-หมอแคน" แถวหน้าในภาคอีสานไว้ในวงมากที่สุด และตระเวนเดินสายรับงานในภาคกลางเป็นหลัก โดยยุคแรกมีสมาชิกในวงกว่า100คน
หลายคนคิดว่า "สุนทราภิรมย์" นั้นแยกย้ายเลิกราตามยุคสมัยไปแล้ว แท้จริงแล้วหมอลำคณะนี้ยังคงปักหลักสืบทอด "หมอลำกลอนโบราณ" โดยผ่านวันทิพย์ ปภัสพิศิษฐ์ หรือ ลัดดา ทาทอง (ชื่อที่ใช้จัดรายการวิทยุ) วัย 61 ภรรยาคนที่ 4 ของ อ.สุนทร อภิสุนทรางกูร วันนี้ ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" บุกไปเปิดอาณาจักรหมอลำกลอนวงนี้ที่ฝังตัวอยู่เงียบๆ บนเนื้อที่ 1 ไร่ภายในซอยพหลโยธิน 30 ซึ่งป้าวันทิพย์เล่าให้ฟังว่า
"จุดเริ่มต้นของวง "สุนทราภิรมย์” ในกรุงเทพฯ อาจารย์สุนทรเริ่มมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านรับราชการอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ท่านมีความคิดทำเพราะชอบหมอลำ ตอนนั้นคณะหมอลำในกรุงเทพฯ ไม่มี มีอยู่ตามต่างจังหวัด ท่านบริหารมาก็มีคนแถวภาคกลางเขาก็ชอบรูปแบบการลำแบบนี้เขาก็มาว่าจ้างให้ไปแสดง บางวันก็ 2 คู่ 3 คู่ บางวันมีถึง 12 คู่ คำว่า "เป็นคู่” คือมีหมอลำชายหญิงสองคนลำสลับกันมีเครื่องดนตรีประกอบเพียงชนิดเดียว คือแคน เมื่อก่อนสำนักงานเราอยู่แถววัดนาคกลาง ฝั่งธนบุรี ถ้ามีงานก็สั่งวงดังๆ มาจากต่างจังหวัด ก็จะมาที่สำนักงานเป็นบ้านหมอลำสาวๆ หนุ่มที่ลำเป็นก็จะมารวมกันที่นี่ เมื่อก่อนก็มีวงดังๆ แต่เขารวมตัวกันไม่ได้ สุนทราภิรมย์เมื่อก่อนมีทีมงาน 200 คนเลยวงใหญ่ ด้วยการแสดงที่ยึดรูปแบบของ "หมอลำแคน" ที่มีลีลาการร้องภาษากลอนที่ไพเราะ ไม่หยาบโลน นอกจากนั้นการแต่งกายที่สวมใส่ด้วยชุดไทยอีสานที่สวยงาม วันนี้เราก็ยังแต่งกายแบบนั้นอยู่ทำให้เป็นที่ถูกใจของเจ้าภาพทั่วไปจ้างไปแสดงในงานต่างๆ อาทิ งานทำบุญกระดูก งานแต่งงาน ทำบุญบ้าน งานประจำปี ฯลฯ ป้าเข้ามาอยู่ในวงเมื่อปี 2519 แล้วเป็นภรรยาอีกคนของ อ.สุนทร อาจารย์มาล้มป่วยเมื่อ 22 สิงหาคม 2535 ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบเลยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตเมื่อ 17 ตุลาคม 2536 อายุ 72 ปี ป้าก็รับมรดกวงมาจนถึงวันนี้"
ไสว แก้วสมบัติ หมอแคนวัย 70 ปี ชาวสระแก้วที่มาอยู่กับคณะ "สุนทราภิรมย์" ตั้งแต่ปี 2517 เล่าเสริมถึงช่วงการผลัดเปลี่ยนการแสดงของวงในเวลาต่อมาว่า "สมัยเมื่อ อ.สุนทรย้ายสำนักงานมาอยู่ภายในซอยพหลโยธิน 30 บนเนื้อที่ 1 ไร่ ช่วงนั้นมีหมอลำประยุกต์ ซึ่งเขาเล่นกันมานาน อยู่ที่เจ้าภาพเขาชอบแบบไหน เล่นคู่กัน 2 คนหญิง-ชาย หัวหน้าเขาเห็นหมอลำสาวๆมาเป็น 10 กว่าคน ตอนนั้นย้ายมาจากวัดนาคกลางมาอยู่ที่ซอยพหลโยธิน ผมมาอยู่ช่วงนั้นซึ่งเป็นยุคที่ 2 ก็ยังเป็นหมอลำใส่แคนอยู่ แต่มีบางงานที่เจ้าภาพเขาอยากได้ "ขบวนฟ้อน” คือนางรำหลายๆ คนใส่ชุดพื้นเมืองอีสาน หมอแคนใช้ 7-9 คนใช้ลำโพงฮอลล์ เป่าเพลงเดียวพร้อมๆ กัน มีกลองทอม มีพิณ การฟ้อนมีจังหวะภูไท เซิ้งต่างๆ คืออาจารย์เขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ประมาณปี 2510 การทำแบบนี้เป็นการพัฒนางานเพราะคนฟังเขาก็มีการพัฒนา เขาสนใจสาวๆ ที่มารำ ช่วงหัวค่ำมีฟ้อนรำก็เป็นช่วงวัยสาว ช่วงดึกหลัง 6 ทุ่มไปก็จะเป็นภาคของคนมีอายุ เป็นหมอลำกลอน จะกี่คู่ก็แล้วแต่เจ้าภาพ หมอลำกลอน กับขบวนฟ้อนมันมีมาด้วยกัน พอคนดูตอนนั้นเขาอยากดูสาวๆ ก็เลยลองทำดูซิ เจ้าภาพอยากได้หมอลำกลอนมีขบวนฟ้อนด้วย หัวหน้าเขาเลยมีไอเดียว่าต้องแบ่งภาคกัน
ในเรื่องจำนวนสมาชิกของคณะ "สุนทราภิรมย์" ในปัจจุบันนั้น ลุงไสวบอกอีกว่า "ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ทิ้งหมอลำกลอน ยังคงมีแคน พิณ มีกลองชุด ถ้าเอาคีย์บอร์ดเข้ามาเมโลดี้มันจะกัดกับแคนไม่ค่อยเพราะต้องมีเทคนิค เราเปลี่ยนมา 10 กว่าปีกลอนเป็นแบบของการรำที่เขาเรียกว่า "ซิ่ง” เมื่อก่อน อ.สุนทรไม่นิยมให้ลำซิ่ง ช่วงหลังก่อนที่ผมเข้ามาเริ่มมีการ "ซิ่ง”เข้ามาผสมกับกลอน ซึ่งวงอื่นเขาก็มีเราปรับตัวเข้าไปตรงนั้น เอาจังหวะซิ่งมาผสมกับลำกลอนสมาชิกทุกวันนี้เหลือประมาณ 20-30 คน เมื่อก่อน 100-200 คน ทุกวันนี้เราเริ่มแสดงบางทีงานเป็นโต๊ะจีน ทำบุญ การแสดงเขาจะให้เล่นหัวค่ำ เลิก 6 ทุ่ม เรามีกติกาว่าแสดง 5 ชม. เนื้อหาการแสดงหมอลำจะเป็นลำกลอนมือหนึ่งทุกคน แก่สาวเขาไม่แคร์ขอให้สร้างความบันเทิงขึ้นเฮลงฮา โหมโรง โชว์กลอง แคน พิณ จากนั้นเป็นคู่รอง มีการไหว้ครูทุกอย่าง การแสดงกระชับ มีการกล่าวถึงเจ้าภาพ คนมาในงาน หลังจากนั้นบางคนเขาก็เอาแคนขึ้นลำแบบรำวง พอการร่ายลำเสร็จเขาก็สวมจังหวะ "ซิ่ง” ที่เขาเรียกว่า “ยาว” ลำกลอนใส่จังหวะ ท่าก็จะมี 32 ท่า ไม่ได้ใช้กลองตลอดนะมันเป็นบายฮาร์ท ทุกคนมีความสามารถอยู่แล้วเปลี่ยนกันขึ้นลง แล้วเอาเพลงลูกทุ่งมาผสมเข้าบท"
เมื่อถามถึงการรับงานในวันนี้ ป้าวันทิพย์ บอกว่า "งานทุกวันนี้เรื่อยๆ ถ้าไม่ใช่หน้างานก็ 3-4 งาน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าภาพเก่าๆ ที่เคยใช้งานกันประจำ ค่าตัวไกลใกล้ว่ากันไปไม่ตายตัว ขั้นต่ำรวมเครื่องเสียงเวทีก็ 3 หมื่น เหลือกันนิดๆ หน่อยๆ เราไม่คิดเยอะ เอาเยอะเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ้างเรา วัฒนธรรมเราก็จะห่างเราออกไป ให้มันพออยู่ได้ เจ้าภาพเขาจะเอาไปให้พ่อแม่ฟัง กว่าที่จะจัดงานทำบุญ เขาจะเก็บเงินรวบรวมกันมาเป็นปีในหมู่พี่น้อง แล้วมาจัดงาน บางทีหัวหน้าวงก็ได้น้อยกว่าลูกน้อง ทุกวันนี้เราก็ยังเรียกหมอลำในอีสานเหมือนเดิม สะดวกด้วย ใช้โทรเอา เมื่อก่อน อ.สุนทรต้องใช้วิธีเขียนจดหมายล่วงหน้ากันนาน เจ้าภาพที่อยากให้คณะ "สุนทราภิรมย์" ไปทำการแสดงก็ติดต่อมาที่เบอร์ 0-2513-8042 หรือ 08-9694-5629"