บันเทิง

มั่วๆ มึนๆ งงๆ  : คอลัมน์พริกกะเกลือ

มั่วๆ มึนๆ งงๆ : คอลัมน์พริกกะเกลือ

02 ก.ค. 2555

มั่วๆ มึนๆ งงๆ : คอลัมน์พริกกะเกลือ : โดย...นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ [email protected] (https://www.facebook.com/NithinandY)

                เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เผลอครู่เดียวก็เดือนกรกฎาคม ซึ่งหมายถึงอีกหกเดือนก็สิ้นปี แต่ยังไม่มีอะไรใหม่นัก เพราะการเมืองไทยก็ยังคงอลหม่าน ส่วนนาซาก็ยกเลิกโครงการสำรวจอากาศที่อู่ตะเภาไปแล้ว ซึ่งน่าเสียดายมากเมื่อมองในแง่วิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ แต่คงไม่น่าเสียดายสำหรับผู้ที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิด

                มีบางเสียงบอกว่าสังคมไทยคงไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่อง "รู้" หรือ "ไม่รู้" ในแง่ของความรู้สักเท่าใดนัก เพราะเราส่วนมากเป็นขาเม้าท์รายวัน ชอบซุบซิบนินทาเรื่องจุกจิกจุ๊กจิ๊กมากกว่า ประเภท เรื่องเล็กๆ ใช่ เรื่องใหญ่ๆ ผ่าน เนื่องจากมีคติว่าคิดเยอะแล้วเครียด ปวดหัว 

                ทำได้มากที่สุดคือเป็นกองเชียร์ความคิดของคนอื่น แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องมีพวกมากลากไป ถ้าจะให้ยืนหยัดแสดงตนว่าเห็นด้วยกับสิ่งโน้นสิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นคนแรกๆ อาจมีอาการลังเลเพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกชก ถูกเสียบประจาน หรือถูกฆ่าทิ้งหรือเปล่า

                เป็นสังคมที่ผู้คนมักแสดงท่าทีกระมิดกระเมี้ยน ก่อนจะเอ่ยปากถามเบาๆ ด้วยความเกรงใจหรือกลัวความผิดอย่างยิ่งว่า "ขอโทษค่ะ(ครับ) ฉันไม่ผิดใช่ไหมที่คิดต่าง" หรือ "ขอโทษค่ะ (ครับ) คิดต่างได้ไหม"

                ถ้าสตีฟ จ็อบส์ คิดแบบนี้ คงตายไปโดยไม่มีโอกาสได้เป็นขวัญใจคนไทยซึ่งนิยมเป็นนักบริโภคมากกว่านักคิดอย่างแน่แท้

                เปิดประเด็นเรื่องความใฝ่รู้ของคนไทย เพราะหลายวันมานี้ เจอคำว่า "เออรี่" ในหลายข้อเขียนทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีที่มาจากคำว่า early retirement ออกเสียงว่า เออร์ลี่ รีไทร์เมนท์

                ความผิดพลาดของการสะกดคำนี้ เกิดจากความไม่รู้ของผู้เขียนซึ่งเขียนตามๆ กันไป ไม่ใช่ตั้งใจจะให้ผิด ในลักษณะคำสแลง เช่นคำว่า "เมพขิงๆ" ซึ่งมีที่มาจากคำว่า "เทพจริงๆ"  หรือ  "เก๊า" ซึ่งใช้ล้อเลียนคำแทนตัวในภาษาพูดว่า "เค้า"  หรือ "งับ" และ "ฮัฟว์" ในความหมายว่า "ครับ"

                ความจริงการสะกดผิด ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย และความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของภาษาก็เป็นเรื่องปกติ แต่น่าคิดว่า ประเด็นนี้สะท้อนความไม่สนใจใฝ่รู้ของคนไทยอยู่ไม่น้อย ประหนึ่งว่าคนไทยพร้อมจะปรับตัวไหลตามน้ำไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจที่มาของทุกเรื่องราว ไม่สงสัย และไม่ตั้งคำถาม

                คนไทยหลายคนของวันนี้ ใช้คำภาษาไทยซึ่งผิดไปจากความหมายเดิม โดยไม่รู้ และไม่ตระหนักว่าคำนั้นๆ สื่อความหมายที่ไม่ตรงกับความจริง เช่น ใช้คำว่า กล้ามปู แทน ก้ามปู ทั้งๆ ที่ปูมีแต่ก้ามไม่มีกล้าม 

                ไม่รวมถึงการใช้คำควบกล้ำแต่ไม่ควบกล้ำในภาษาพูด และเสียงที่หายไปของรอเรือ ซึ่งกำลังจะลามไปถึงภาษาเขียน เช่น นักดนตี แทนนักดนตรี ปา แทนคำว่า ปลา โลงเลียน แทนคำว่า โรงเรียน

                ความจริงถ้ามีการตกลงกันเป็นกิจจะลักษณะว่าคนไทยควรย้อนกลับไปใช้ภาษาโบราณในตระกูลไท-ลาว ไม่มีคำควบกล้ำ ก็ไม่ผิดอะไร แต่ทุกวันนี้ คนที่ไม่ใช้คำควบกล้ำหลายคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือภาษาตระกูลไท-ลาว

                 ส่วนในกรณีของคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่คนไทยหลายคนชอบใช้แบบตามๆ กันไป โดยไม่รู้และไม่สนใจว่าคำเดิมในภาษาอังกฤษคืออะไร หรือมีความหมายจริงๆ อย่างไร จึงมักจะย้อนกลับไปหาที่มาของคำไม่ได้ หรือกว่าจะหาได้ก็ยากมาก เช่น เครื่องเป่าผมให้แห้ง "dry" ที่กลายเป็นไดร์ (มี ร เรือ การันต์ ตามรูปแบบคำที่มาจากภาษาอังกฤษอีกต่างหาก) เป่าผม  

                มีคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนมาก ที่คนไทยเอามาใช้ในความหมายแบบไทยๆ แล้วออกสำเนียงผิดจากเดิมเป็นแบบไทยๆ เช่น fossil ฟอสซิล ที่กลายเป็น ซิ่ว หมายถึงนักศึกษาที่ลาออกจากสถาบันเดิมมาสมัครสอบเป็นนักศึกษาใหม่ หรือ built บิลท์ ที่กลายเป็น บิวท์ screen สกรีน ที่กลายเป็น สกีน cream ครีม ที่กลายเป็น คีม trend เทร็นด์ ที่กลายเป็น เทรน ส่วน train เทรน กลายเป็นเทร็นด์ ฯลฯ

                 คำแผลงเหล่านี้ ถ้าไม่มีบริบทอื่นประกอบ คนที่ใช้ภาษาแบบเดิมซึ่งยังเหลืออยู่ในโลกอีกเยอะ อาจไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้เลย

                เรื่องนี้มองด้านบวกคือคนไทยฉลาดรู้จักดัดแปลง ผสมผสานสิ่งต่างๆ จากหลากหลายแหล่งมาเป็นของตัว แต่ด้านลบของมันก็คือ เมื่อไม่สนใจที่มา คนไทยจึงมักไม่รู้จักให้เกียรติที่มา ไม่รู้จักการให้เครดิตคนอื่น หรือไม่รู้จักการเคารพคนอื่นนั่นเอง อีกทั้งในระยะยาวก็มักแอบอ้างเป็นต้นตำรับของทุกสิ่งหน้าตาเฉย รวมทั้งภาษาและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ที่หยิบยืมกันไปมายาวนานแล้วด้วย

                ความไม่สนใจใฝ่รู้ ยังเป็นเหตุแห่งความมั่วถาวรของสังคมไทย ที่ดูจะมั่วได้แทบทุกเรื่องจากเรื่องเล็กๆ ประเภทเขียนมั่วระหว่างคำว่า คะ กับ ค่ะ โดยปราศจากความเข้าใจเรื่องวรรณยุกต์ ไปจนถึงมั่วข้อมูลข่าวสารตามความเชื่อของตน และมั่วประวัติศาสตร์

                เป็นสังคมแห่งความมั่วๆ มึนๆ งงๆ ที่ผู้คนพากันบอกว่า แก้ไขได้ด้วยการทำตัวลั้ลลา อย่าได้เครียด เดี๋ยวจะปวดหัว 

................................
(มั่วๆ มึนๆ งงๆ  : คอลัมน์พริกกะเกลือ : โดย...นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ [email protected] (https://www.facebook.com/NithinandY))