บันเทิง

อันธพาลยุคกึ่งพุทธกาล สู่แผ่นฟิล์ม

อันธพาลยุคกึ่งพุทธกาล สู่แผ่นฟิล์ม

22 มิ.ย. 2555

อันธพาลยุคกึ่งพุทธกาล สู่แผ่นฟิล์ม : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          ช่วงกึ่งพุทธกาล ราวปีพุทธศักราช 2499-2500 ถือเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยอยู่ในยุคที่ผู้คนหรือกลุ่มคน ล้วนต่างแสวงหาอำนาจซึ่งเกิดขึ้นในสังคมทุกชนชั้น ตั้งแต่ชนชั้นปกครอง ไปจนถึงชนรากหญ้า และชอนไชลงไปยังสังคมใต้ดินในโลกของอาชญากรรม ที่ต่างก็รวมตัวตั้งกันเป็นกลุ่มก๊วน

          การคัดคานอำนาจกันของชนชั้นปกครองยุคสมัยนั้น เกิดขึ้นระหว่างสองขั้วอำนาจคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนในสังคมระดับล่าง แก๊งของเก๊าม้าเก็ง, พัน หลังวัง ต่างก็เป็นที่รู้จักของคนในพระนครสมัยนั้น แต่ที่โด่งดังยิ่งกว่าเห็นจะเป็นเหล่านักเลงอันธพาลแห่งยุคสมัยทั้ง แดง ไบเล่ย์, ดำ เอสโซ่, ปุ๊ ระเบิดขวด, จ๊อด ฮาวดี้ และ โอวตี่

          มีตำนานเรื่องเล่ามากมาย ทั้งที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกจากคำบอกเล่าปากต่อปากผ่านคนหลายรุ่นเกี่ยวกับนักเลงหัวไม้เหล่านี้แตกต่างกันออกไป (ซึ่งข้อมูลของแต่ละแหล่งข่าวจะไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่มีรายละเอียดหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน อาทิ อุปนิสัยใจคอของแต่ละคน, ลักษณะเด่นเป็นที่จดจำของผู้คนที่ได้พบเห็น รวมทั้งวีรกรรมตีรันฟันแทงของพวกเขา)

          ในช่วงทศวรรษหลังหนังอย่าง "2499 อันธพาลครองเมือง"  "อันธพาล" ต่างก็ได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากนักเลงกลุ่มนี้ และพูดถึงเรื่องราวแก๊งอาชญากรรมอย่างจริงจัง รวมถึง “โก๋หลังวัง” ที่มีบรรยากาศในยุคสมัยเดียวกัน แต่สร้างตัวละครขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และถ้าหากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ร่วม 10 ปี ก็มีหนังชื่อ “โอวตี่” และ “เก๊าม้าเก็ง” ที่นำเรื่องราวของบุคคลเหล่านั้นมาดัดแปลงเป็นหนังกันเลยทีเดียว

          จะว่าไปแล้ว นี่คือเรื่องราวในแนวทางของหนังแก๊งสเตอร์ ที่มีการสร้างกันออกมาน้อยมากในแวดวงหนังไทย ซึ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดในช่วง 10 ปี มานี้ก็คือ “2499 อันธพาลครองเมือง” และ “อันธพาล” เพียงสองเรื่องนี้เท่านั้น (แม้จะมีหนังอย่าง “พันธุ์เอ็กซ์ เด็กสุดขั้ว” หรือ “7 ประจัญบาน” แต่ก็มีความเป็นหนังแอ็กชั่นดราม่า และแอ็กชั่นคอเมดี้ ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงก่าพอสมควร)

          พ.ศ. 2499-2500  เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่มีสีสันมากที่สุดยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทั้งในเรื่องของสังคม การเมือง การปกครอง มีการเชือดเฉือนห้ำหั่น ชิงไหวชิงพริบ ทั้งในเรื่องสติปัญญาและพละกำลังตั้งแต่วงการนักเลงในศึก 13 ห้าง และการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไปจนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2500 อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สำคัญครั้งหนึ่ง

          ทั้ง “2499 อันธพาลครองเมือง” และ “อันธพาล” ไม่เพียงวางตัวเองเป็นหนังแก๊งสเตอร์ หากยังบอกเล่าบริบททางสังคมที่เกิดขึ้นในเวลานั้นไปพร้อมๆ กัน เรื่องแรก เนรมิต ‘ภาพ’ ของประเทศไทยในยุคกึ่งพุทธกาลออกมาได้อย่างงดงาม ทั้งตึกราม บ้านเรือน วิถีชีวิต การแต่งกาย และวัฒนธรรมร่วมสมัย ส่วนเรื่องหลังสะท้อนภาพผู้คน โดยเฉพาะความคิดอ่านที่มีต่อตัวเองและสังคมในห้วงเวลานั้นออกมาอย่างสมจริง อิงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแนบเนียน

          ยุคที่ผู้คนแสวงหาอำนาจ ปรารถนาการรวมกลุ่มก้อนเพื่อสร้างการต่อรอง การเลือกข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งใน ‘2499 ฯ’ และ ‘อันธพาล’ ต่างก็นำเสนอประเด็นนี้ร่วมกัน ในขณะที่เรื่องหลังนั้นได้ให้มิติที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า และพาผู้ชมดำดิ่งลงสู่ด้านมืดในจิตใจมนุษย์ยิ่งกว่า

          การทำตัวเป็น ‘กบเลือกนาย’ ของ แดง, ปุ๊, เปี๊ยก, ดำ ตั้งแต่ ‘2499 ฯ’ รวมถึง จ๊อด และ โอวตี่ ใน ‘อันธพาล’ สะท้อนถึงการเอาตัวรอดของผู้คนด้วยการดิ้นรนเพื่อหาที่ซุกอยู่ใต้ปีกของผู้มีอำนาจ ซึ่งเจ้านายของพวกเขาเองก็แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต กว่าจะครอบครองมันได้ ซึ่งอาจกินเวลาสั้นๆ แต่คำว่า ‘อำนาจ’ นั้น ช่างหอมหวนชวนลิ้มลองเสียนี่กระไร ที่สำคัญเมื่อได้มาแล้ว ก็อยากจะหวงแหนมันไว้ จนไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี เฉกเช่นเหล่าผู้ปกครองในยุคนั้น ท่ามกลางสังคมที่แบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า การคัดคานอำนาจกันระหว่างนักการเมือง ตำรวจ และทหาร ใครเป็นพวกใคร อยู่ใต้อาณัติกลุ่มก๊วนใดที่มีอำนาจคับฟ้า ก็เหิมเกริมอวดเบ่งบารมีไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ และเมื่อใดที่ขั้วอำนาจเปลี่ยน พวกเขาก็พร้อมที่จะทรยศหักหลัง สลับข้างในทันทีทันใด เมื่อเช่นที่ตัวละคร ‘ธง’ พูดกับ ‘เปี๊ยก’ ใน “อันธพาล” ว่า ‘ข้างไหนชนะ กูก็อยู่ข้างนั้น’

          มีคำกล่าวโบร่ำโบราณแต่เหมือนยังจะใช้ได้ทุกยุคสมัยว่า ‘ไม่มีสัจจะในหมู่โจร’ ใน “2499 อันธพาลครองเมือง” ดูเหมือนจะขับเน้นประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กับเรื่องของมิตรภาพ ส่วนใน ‘อันธพาล’ ไม่เพียงเน้นย้ำเท่านั้น หากแต่ยังแขวะกัดตัวละครร่วมยุคสมัย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ทำตัวแตกต่างอะไรไปจากนักเลงหัวไม้หรือโจรห้าร้อยแต่อย่างใด ทั้งหลอกลวง หักหลัง ข่มขู่สารพัด

          การตกอยู่ภายใต้อำนาจอันไร้ชอบธรรมของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่วันใดที่เขาเกิดหาญกล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับผู้กุมอำนาจ ยากนักที่จะได้ชัยชนะจากการต่อสู้ เมื่อหญ้าแพรกต้องแหลกลาญล้มหายตายจากโดยที่คนข้างหลังยังพอจดจำได้ คงเป็นเพียงรางวัลเดียวที่ได้รับจากวีรกรรมในครั้งนี้ และยังเป็นมาทุกยุคทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลง
.......................................
(หมายเหตุ อันธพาลยุคกึ่งพุทธกาล สู่แผ่นฟิล์ม : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)