
'วิวัฒนาการของคอนดักเตอร์ จากศตวรรษที่ 17 ถึงปัจจุบัน'
'วิวัฒนาการของคอนดักเตอร์ จากศตวรรษที่ 17 ถึงปัจจุบัน' : คอลัมน์ ลงบันไดคุย โดย... ทฤษฎี ณ พัทลุง
เหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นกับผมหลายครั้งเวลาไปนั่งชิลกับเพื่อนๆ พี่ๆ ตามร้านต่างๆ ที่มีดนตรีบรรเลงสดคือ เมื่อเหล่ามิตรสหายที่เป็นนักร้องในโต๊ะเดียวกันถูกเชิญขึ้นไปแจมกับวง จะต้องมีคนกวักมือเรียกผมแล้วบอกว่า “อะ ขึ้นมาคอนดักต์ด้วยสิ ฮาๆ” โดยที่ทราบว่าผมมีอาชีพเป็นวาทยกรทำงานกำกับวงออเคสตราชั้นนำหลายวงในต่างประเทศ จึงได้เชิญชวนอย่างขำๆ ซึ่งแม้ผมจะอยากสนุกสนานด้วยก็จำเป็นต้องปฏิเสธทุกครั้ง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะอีโก้หรืออะไรแบบนั้นนะครับ แต่เป็นเพราะความ “เด๋อ” ที่จะเกิดขึ้นหากผมต้องไปยืนกำกับ วงที่ไม่จำเป็นต้องมีวาทยกร ผมจะกลายเป็นตำรวจจราจรคนหนึ่งที่พยายามโบกไม้โบกมืออย่างเอาเป็นเอาตายบนถนนใหญ่ที่มีรถวิ่งอยู่สามคันถ้วน
วงดนตรีแบบไหนต้องมีคอนดักเตอร์ ? แบบไหนไม่จำเป็นต้องมี ? คอนดักเตอร์เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ? ไม่มีได้ไหม ? ทำไมต้องใช้ไม้ ? ใช้มือเปล่านำวงได้หรือไม่ ? คำถามเหล่านี้ล้วนมีคำตอบที่น่าสนใจครับ
มีหลักฐานปรากฏว่า การใช้มือในการสื่อสารจังหวะดนตรีของมนุษย์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยต้นยุคมืด (Middle Ages) หรือศตวรรษที่ 5 โดยมีเทคนิคพื้นฐานที่แตกต่างจากปัจจุบันมากเนื่องจากดนตรีสมัยนั้นยังมีความซับซ้อนทางเสียงประสานและจังหวะน้อยกว่าดนตรีในยุคต่อๆ มา
เวลาผ่านไปประมาณ 1,200 ปี ดนตรีในยุโรปเข้าสู่ ยุคบาโร้ค (Baroque) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 วงออเคสตราเริ่มมีแบบแผนการจัดเครื่องดนตรีในวงชัดเจน เพลงส่วนใหญ่ของยุคนี้ในแต่ละเพลงมีจังหวะที่ค่อนข้างคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงช้าเร็วอย่างกะทันหันมากนัก อีกทั้งวงยังไม่มีขนาดใหญ่มาก (5-15 คน) ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้นำวง” จึงสามารถเล่นเครื่องดนตรี เช่น ไวโอลิน หรือ ฮาร์พซิคอร์ด (บรรพบุรุษของเปียโน) อยู่ในวงในเวลาเดียวกันได้ โดยใช้มือหรือศีรษะให้สัญญาณจังหวะเมื่อเริ่มเพลง ส่วนรายละเอียดการบรรเลงดนตรีก็สามารถตกลงกับนักดนตรีของวงในช่วงการซ้อมได้ง่ายเนื่องจากขนาดของวงยังคงเอื้อต่อการบรรเลงโดยไม่มีคอนดักเตอร์ยืนอยู่ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การมีคอนดักเตอร์ที่แยกตัวออกมายืนให้จังหวะอยู่หน้าวงนั้นก็มีอยู่บ้างในบางกรณี โดยคอนดักเตอร์ในสมัยนั้นจะเลือกใช้อุปกรณ์ให้จังหวะที่แตกต่างกันไป เช่น กระดาษที่เอามาม้วนเป็นกระบอก แท่งไม้ หรือฝ่ามือเปล่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ “ไม้เท้า” หรือไม้ตะพดกระแทกกับพื้นเพื่อให้จังหวะด้วย ในปี ค.ศ. 1687 คีตกวีเอก Jean-Baptiste Lully แห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยนำวงออเคสตราด้วยวิธีนี้ในระหว่างการแสดงดนตรีถวายพระเกียรติกษัตริย์ แต่เกิดเหตุสลด ใช้ไม้เท้ากระแทกพื้นพลาดไปโดนนิ้วเท้าตนเอง จนเป็นบาดทะยักลุกลามถึงแก่ชีวิต 2 เดือนต่อมา
การนำวงด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้เป็นที่แพร่หลายตลอด ยุคบาโร้ค (1600-1760) และยุค ”คลาสสิก" (Classical period: 1750-1830) ต่อมาเมื่อดนตรีเข้าสู่ยุค “โรแมนติก” ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 วงออเคสตราเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คีตกวีเริ่มแต่งเพลงที่มีการเปลี่ยนแปลงช้า-เร็วภายในเพลงมากขึ้น การที่วงออเคสตราขนาด 60-80 คนจะสามารถบรรเลง ช้าบ้างเร็วบ้าง อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่มีการกำกับใดๆ นั้นกลายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ คอนดักเตอร์จึงเริ่มมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งยวด และมีการเริ่มใช้ไม้บาตอง (Baton) ในการกำกับเพราะนักดนตรีสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าอุปกรณ์ชนิดอื่น จนเป็นที่แพร่หลายมาถึงปัจจุบัน (แต่คอนดักเตอร์ที่เลือกใช้มือเปล่าก็มีเช่นเดียวกัน) นอกจากนี้ ดนตรีในยุคนี้ยังมีรายละเอียดที่ผู้แต่งบันทึกไว้ในโน้ตเพลงมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ ซึ่งคอนดักเตอร์มีหน้าที่ศึกษาตีความและปรับการเล่นของวงเพื่อให้ได้อรรถรสที่สมบูรณ์ ยุคโรแมนติกจึงเป็นยุคที่การมีคอนดักเตอร์ใช้ไม้บาตองยืนกำกับอยู่หน้าวงกลายเป็นมาตรฐาน และได้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
จึงสามารถสรุปได้ว่า สาเหตุหลักของการมีคอนดักเตอร์ยืนกำกับหน้าวงในรูปแบบที่เราคุ้นเคยนั้น คือดนตรีที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและขนาดของวงออเคสตราซึ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันนั้น ดนตรีที่ครองโลกอยู่คือดนตรีป๊อป-ร็อก ซึ่งมีกลองชุดเป็นเครื่องให้จังหวะชัดเจน และมีจำนวนนักดนตรีในวงน้อยกว่าวงออเคสตราแบบคลาสสิกเป็นอย่างมาก การมีคอนดักเตอร์จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป และนี่คือเรื่องราวโดยสังเขปของความเปลี่ยนแปลงของบทบาทและวิธีการทำงานของคอนดักเตอร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จนถึงปัจจุบันครับ
.............................
(หมายเหตุ 'วิวัฒนาการของคอนดักเตอร์ จากศตวรรษที่ 17 ถึงปัจจุบัน' : คอลัมน์ ลงบันไดคุย โดย... ทฤษฎี ณ พัทลุง)