บันเทิง

The Lady

The Lady

04 พ.ค. 2555

The Lady : เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          ปีที่ผ่านมามีหนังอัตชีวประวัติที่บอกเล่าเรื่องราวของสุภาพสตรีคนสำคัญของโลกถึงสามเรื่องด้วยกัน ได้แก่ “My Week with Marilyn” “The Iron Lady” และ “The Lady” สองเรื่องแรกนั้น กวาดรางวัลกลับบ้านไปเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่เรื่องหลัง ได้รางวัลเล็กๆจากเวทีภาพยนตร์เพื่อสันติภาพหรือ Cinema for Peace Award มาเพียง 1 รางวัล จากสาขาสิทธิมนุษยชน หรือ International Human Rights Award
 
          หนังอัตชีวประวัติที่เสนอเรื่องราวของนักการเมืองหญิงคนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์โลกไม่ว่าจะเป็นนางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งเกาะอังกฤษเจ้าของฉายา ‘หญิงเหล็ก’ ใน “The Iron Lady” หรือหนังที่บอกเล่าชีวิตช่วงหนึ่งของดาราสาวซูเปอร์สตาร์ เจ้าของฉายาเซ็กส์ซิมโบล มาริลีน มอนโร ใน “My Week with Marilyn” และเรื่องราวชีวิตของหญิงแกร่งนักต่อสู้ทางการเมืองผู้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศพม่า ออง ซาน ซูจี ใน “The Lady” ทั้งสามเรื่อง ต่างก็เปี่ยมด้วยสาระมากด้วยคุณภาพและมีความโดดเด่นไม่น้อยไปกว่ากัน แต่เหตุไฉนเรื่องของ ออง ซาน ซูจี ในหนังอย่าง “The Lady” จึงถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
 
          เพราะความที่เป็นหนังร่วมทุนสร้างระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส จึงเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาแบบจำกัดโรงอย่างเงียบเหงาทั้งจำนวนคนดูและรายได้ (แม้ในไทยจะเปิดฉายในวงกว้างแต่ก็ทำรายได้ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก) จะว่าไป “The Lady” ไม่ใช่หนังที่เลวร้ายนัก คุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับน่าพอใจทีเดียวโดยเฉพาะการแสดงของ มิเชล โหย่ว ในบทนางออง ซาน ซูจี
 
          หนังบอกเล่าเรื่องราวประวัติของเธออย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่นายพลอองซานผู้พ่อถูกลอบสังหารเมื่อซูจีมีอายุแค่ 2 ขวบ เหลือเพียงแม่คอยส่งเสียเลี้ยงดูเพียงลำพัง จากนั้นเธอต้องจากบ้านไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทำงานและสมรสกับไมเคิล อริส ที่อังกฤษ ก่อนจะเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของมารดา ได้พบเห็นสภาพบ้านเมืองอันแร้นแค้น ผู้คนทุกข์ยาก และถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร เธอจึงลุกขึ้นสู้ด้วยวิถีทางการเมือง ท่ามกลางอุปสรรคมากมายที่รัฐบาลเผด็จการทหารคอยขัดขวาง
 
          งานสร้างของหนังทำได้สมจริง ตั้งแต่การจำลองบรรยากาศสภาพบ้านเมือง ตัวละครคนพื้นถิ่น ภาษาพูด และการแสดงของตัวละครหลักๆ แม้จะเป็นหนังชีวประวัติ แต่ “The Lady” ก็ไม่ได้เล่าเรื่องราบเรียบ มีฉากแอ็กชั่นแทรกมาเป็นระยะๆ นอกเหนือฉากดราม่าหนักๆ ยังมีฉากลุ้นระทึกจากการประจันหน้าระหว่างนางซูจีและทหารให้คนดูได้ปรับเปลี่ยนอารมณ์
 
          สิ่งที่ทำให้ “The Lady” ไปได้ไม่ไกลกว่าหนังอัตชีวประวัติทั่วไป ทั้งๆ ที่ตัวบุคคลในหนังนั้นน่าจะเรียกความสนใจจากคนดูได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสีสันการต่อสู้ทางการเมืองอันโลดโผนโชกโชนของออง ซาน ซูจี ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มียังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งเธอยังมีกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้โลกได้รับรู้อยู่เป็นระยะๆ ข้อบกพร่องของตัวหนังนั้นน่าจะมาจาก ‘บท’ ที่กำหนดให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างราบเรียบ ไร้สีสัน หลายๆ ฉากถูกปูพื้นมาอย่างน่าสนใจ แต่สุดท้ายก็ได้รับการคลี่คลายไปโดยง่าย หลายๆ ฉากเป็นไคลแมกซ์ที่ไม่มีแรงกระแทกส่งไปถึงอารมณ์คนดูพอที่จะรู้สึกคล้อยตามไปด้วย
 
          นอกจากการแสดงอันโดดเด่นของ มิเชล โหย่ว แล้ว งานกำกับของ ลุค เบสซง ก็ดูจะรักษามาตรฐานการทำงานของตัวเขาเองได้ค่อนข้างดี รายละเอียดหลายๆอย่างที่ไม่ตกหล่นละเลย แม้งานกำกับของเขานั้นส่วนใหญ่จะเป็นหนังแอ็กชั่นก็ตาม (ซึ่งอาจจะมีผลให้ มิเชล โหย่ว ปล่อยศักยภาพทางการแสดงของเธอออกมายังไม่สุดโต่งพอ เพราะหากเทียบกับหนังอย่าง Memoirs of a Geisha การแสดงของเธอในหนังเรื่องนั้นไปไกลกว่า The Lady เยอะ)
 
          ความยาวของหนังกว่าสองชั่วโมง นอกจากรายละเอียดการต่อสู้ทางการเมืองของ ออง ซาน ซูจี แล้ว หนังยังให้น้ำหนักกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของเธอกับสามี ไมเคิล อริส นักวิชาการ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยในอังกฤษ ผู้ผลักดันให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทั้งๆ ที่ตัวเธอเองไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปรับรางวัลอันทรงเกียรตินั้นด้วยตัวเอง
 
          ด้วยความที่คนเขียนบทใช้เวลาถึงสามปี ในการตระเวนสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับออง ซาน ซูจี มากมาย สีสันและความสนุกส่วนหนึ่งในหนังจึงมาจากตัวละครแวดล้อม (แม้จะไม่มีใครโดดเด่นเลยก็ตาม) และก่อนหน้านี้ กุยเซปเป้ โทนาโทเร่ เจ้าของหนังดังอย่าง Cinema Paradiso, The Legend of 1900, Malena และ Baaria เคยได้รับการทาบทามให้มากำกับหนังเรื่องนี้ด้วย (แน่นอนว่า สไตล์และลีลาของหนังจะออกมาแตกต่างจากนี้อย่างสิ้นเชิง)
 
          “The Lady” ไม่ได้เล่าเรื่องหวือหวา โชว์ชั้นเชิง หรือมากด้วยลีลาใดๆ การเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ถูกบิดพลิ้วให้ผิดแผกไปจากการรับรู้ของผู้คน จึงทำให้หนังอาจดูไม่สนุกในสายตาของหลายๆ คน ขณะเดียวกันคนที่ชื่นชอบและสนใจในเรื่องราวของออง ซาน ซูจี ก็อาจเพลิดเพลินไปกับหนังได้ไม่น้อยเช่นกัน
.............................
(หมายเหตุ The Lady : เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)