บันเทิง

'คอนดักเตอร์… มีเพื่ออะไร หรือประดับไว้เท่ๆ?'

'คอนดักเตอร์… มีเพื่ออะไร หรือประดับไว้เท่ๆ?'

26 เม.ย. 2555

'คอนดักเตอร์… มีเพื่ออะไร หรือประดับไว้เท่ๆ?' : ลงบันไดคุย โดย... ทฤษฎี ณ พัทลุง facebook page: www.facebook.com/TrisdeeConductor Twitter: @Trisdee

          เมื่อนึกภาพวงออเคสตรายิ่งใหญ่อลังการกับนักดนตรีนับสิบนับร้อยชีวิต ภาพที่ย่อมตามมา คือภาพของวาทยกรยืนเด่นตระหง่านอยู่หน้าวง โบกไม้โบกมือชี้โบ๊ชี้เบ๊คล้ายเชียร์ลีดเดอร์กีฬาสี ในขณะที่นักดนตรีทุกคนต่างก้มหน้าก้มตามองโน้ตบรรเลงอย่างไม่สนใจใคร จึงไม่แปลกที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตเราจะตั้งคำถามกับตนเองว่า "คอนดักเตอร์… มีไว้ทำไมหรือ ?"
 
          หากจะเปรียบเทียบง่ายๆ ถ้านักดนตรีในวงออเคสตรา คือนักแสดงในกองถ่ายภาพยนตร์ คอนดักเตอร์ก็คือผู้กำกับ (แต่ก็น่าแปลกที่คนไม่ค่อยสงสัยกันว่าผู้กำกับมีไว้ทำไม ...) ส่วนโน้ตเพลงก็เปรียบได้กับบทภาพยนตร์นั่นเอง หลายท่านอาจเคยสงสัยว่าใน เมื่อนักดนตรีมีโน้ตเพลงอยู่แล้ว จะต้องมีคอนดักเตอร์ไปเพื่ออะไร หรือคอนดักเตอร์เป็นเพียงนักแสดงที่ขึ้นมาแสดงลีลาโยกย้ายเพื่อ “ความเท่” เท่านั้น? ความจริงก็มีอยู่ว่า โน้ตเพลงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะของคีตกวีอมตะที่เขียนไว้นับร้อยปีมาแล้วนั้นไม่สามารถสื่อรายละเอียดทางดนตรีที่ผู้แต่งต้องการไว้ได้ทั้งหมด บ่อยครั้งที่มีสัญลักษณ์บอกเพียงว่า “ช้า-เร็ว” “สั้น-ยาว” “ดัง-เบา” แต่ทั้งนี้จะช้า-เร็ว ดัง-เบา หรือ สั้น-ยาว ขนาดไหนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ซึ่งนักดนตรีในวงออเคสตรานับสิบรับร้อยชีวิตย่อมมีความเห็นแตกต่างกันไป ในที่สุดแล้ว ความรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางการถ่ายทอดเพลงนั้นๆ จึงตกอยู่ที่คอนดักเตอร์หรือ “วาทยกร” นั่นเอง ดังนั้น หากมีคอนดักเตอร์ 10 คน มากำกับเพลงเดียวกัน แม้บรรเลงโดยวงออเคสตราวงเดียวกัน คุณจะได้ยินการบรรเลงที่ให้รสชาติแตกต่างกันถึง 10 แบบ
 
          การแสดงดนตรีสดของวงออเคสตราที่ผู้ชมได้เห็นนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงผลผลิตสุดท้าย แต่หน้าที่อันหนักหน่วงที่สุดของคอนดักเตอร์จะอยู่ในช่วงของการซ้อมซึ่งมักจะใช้เวลาเป็นวันๆ เป็นกระบวนการเจียระไนขัดเกลารายละเอียดของดนตรีอย่างพิถีพิถันก่อนจะออกไปสู่สายตา (และหู) ของผู้ชม โดยคอนดักเตอร์ต้องเริ่มจากการศึกษาเพลงที่จะแสดงให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนมาพบกับวง ควรจำให้ได้ว่าเครื่องดนตรีชิ้นใดเล่นโน้ตอะไร จังหวะอย่างไร ดังเบาเท่าไรในทุกวินาทีของเพลงนั้นๆ ควรมีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคพื้นฐานของการเล่นและข้อจำกัดต่างๆ ของเครื่องดนตรีทุกชิ้นในวงออเคสตรา สามารถบ่งชี้และแก้ไขได้ทันทีเมื่อมีนักดนตรีเล่นผิดแม้เพียงคนเดียวในวง และปรับสมดุลของเสียง (balance) ของเครื่องดนตรีต่างๆ ให้ออกมาเด่นหรือกลมกลืนตามต้องการได้ ทั้งยังต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งในโครงสร้างของดนตรี อันจะส่งผลให้การบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีความยาวกว่าหนึ่งชั่วโมงดำเนินไปได้อย่างไม่น่าเบื่อ คอนดักเตอร์ควรจะสามารถมองโน้ตที่อยู่ในกระดาษแล้ว “เอกซเรย์” เห็นลึกลงไปได้ว่ามีอารมณ์ใดๆ ซ่อนอยู่ในเพลงบ้าง (เรื่องนี้พูดกันได้อีกยาวครับ) และสามารถดึงอารมณ์นั้นๆ ออกมาจากเครื่องดนตรีต่างๆ ในวงออเคสตราและสื่อสารถ่ายทอดมาถึงคนดูให้มีอารมณ์ร่วมไปด้วยได้ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า สนุกสนาน โรแมนติก ฮึกเหิม ฯลฯ อนึ่ง การ “ให้จังหวะ” ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นหน้าที่หลักของคอนดักเตอร์นั้น จริงๆ แล้วอาจถือเป็นเพียง 10% ของหน้าที่ทั้งหมดเลยก็ว่าได้
 
          เทคนิคในการอำนวยเพลง (conducting technique) ของคอนดักเตอร์แต่ละคนนั้นย่อมมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป แน่นอนว่า ศาสตร์แห่งการอำนวยเพลงได้มีการกำหนดท่าทางการให้จังหวะขั้นพื้นฐานเป็นมาตรฐานเอาไว้แล้ว (พูดง่ายๆ คือคอนดักเตอร์ไม่ได้มาโบกมือมั่วๆ) แต่เมื่อมีประสบการณ์ระดับหนึ่งแล้ว คอนดักเตอร์แต่ละคนอาจสร้างสรรค์ลีลาที่อิสระมากขึ้นเพื่อการบรรยายอารมณ์ของเพลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาอธิบายด้วยคำพูดมากนัก ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการซ้อมได้ (บางครั้งอาจดูเหมือนนักดนตรีก้มหน้าก้มตาเล่นโดยไม่ได้มองคอนดักเตอร์เลย แต่ความจริงคือ แม้จะอ่านโน้ตอยู่ นักดนตรียังสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของคอนดักเตอร์ได้ด้วยหางตาเสมอ) และเมื่อเข้าสู่การแสดงจริงต่อหน้าผู้ชม ลีลาท่าทางต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ที่คอนดักเตอร์จะสามารถใช้สื่อสารและ “เตือน” นักดนตรีถึงรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดที่ได้ผ่านการซักซ้อมด้วยกันมาซึ่งอาจมีอยู่ในทุกวินาทีของเพลงก็เป็นได้ ทั้งนี้ “ความเท่” หรือ “ความสวยงาม” ใดๆ ที่เกิดขึ้นจากลีลาของคอนดักเตอร์ระหว่างการแสดงนั้น ผมเห็นว่าเป็นเพียง “ผลพลอยได้” เท่านั้น
 
          ภาวะผู้นำ (leadership) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเป็นวาทยกร เป็นเรื่องยากที่นักดนตรี 60-70 ชีวิตจะเต็มใจร่วมมือบรรเลงไปในแนวทางเดียวกับคุณหากคุณไม่สามารถทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวคุณได้ มีวาทยกรชื่อดังในตำนานหลายท่านที่มีเทคนิคการอำนวยเพลงแปลกประหลาด ดูเผินๆ เหมือนโบกมือมั่วและบ่อยครั้งที่แม้แต่นักดนตรีเองก็ดูไม่รู้เรื่องว่าเขาทำอะไรอยู่ แต่ด้วยภาวะผู้นำอันสูงส่งและประสบการณ์ที่สั่งสมมามากจนเป็น “บารมี” ผนวกกับความเป็นเลิศในการตีความและถ่ายทอดอารมณ์ของดนตรี (musicality) ก็สามารถทำให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นคอนดักเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ในตำนานได้ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ คุณภาพของคอนดักเตอร์นั้นไม่ได้วัดกันที่ลีลาท่าทาง แต่วัดด้วยคุณภาพของดนตรีที่ออกมา
 
          จากการที่ผมได้มีโอกาสทำงานในสายงานนี้มา ตั้งแต่วัยรุ่นและปัจจุบันเป็นคอนดักเตอร์ไทยคนหนึ่งที่ได้รับเชิญไปควบคุมวงออเคสตราระดับโลกในหลายประเทศ ทำให้ผมทราบว่าคำถามเกี่ยวกับหน้าที่ของคอนดักเตอร์นั้นได้กลายเป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตแห่งโลกดนตรีคลาสสิกไปเสียแล้ว ทั้งในไทยและต่างประเทศ (ฝรั่งจำนวนมากก็ยังงงกับอาชีพนี้นะครับ) ผมก็มีความหวังเล็กๆ ครับว่า วันหนึ่งศาสตร์นี้จะเป็นที่เข้าใจในหมู่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงวันนั้นจะไม่มีใครสงสัยอีกต่อไปว่า ... "คอนดักเตอร์... มีไว้ทำไมหรือ ?"
.............................
(หมายเหตุ 'คอนดักเตอร์… มีเพื่ออะไร หรือประดับไว้เท่ๆ?' : ลงบันไดคุย โดย... ทฤษฎี ณ พัทลุง  facebook page: www.facebook.com/TrisdeeConductor <http://www.facebook.com/TrisdeeConductor>
Twitter: @Trisdee)