
Wrath of the Titans ศรัทธาแห่งประชาชน
Wrath of the Titans ศรัทธาแห่งประชาชน : มองผ่านเลนส์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง
หลังจากได้ดู Wrath of the Titans มหากาพย์ภาคต่อจาก Clash of the Titans โดยดำเนินเรื่องราว10 ปีหลังจากความพ่ายแพ้ของเจ้าอสูรกายคราเก็น เพอร์ซีอุสบุตรเลือดผสมแห่งมนุษย์และมหาเทพซีอุสที่พยายามใช้ชีวิตอย่างสงบสุขโดยการเป็นชาวประมงและเลี้ยงดูเฮลีอุสลูกชายวัย10 ปี แต่แล้วการต่อสู้กันเองของเหล่ามหาเทพก็นำพาให้เพอร์ซีอุสต้องกลับเข้าไปมีส่วนในมหาสงครามครั้งยิ่งใหญ่เพื่อปกป้องลูกชาย ช่วยเหลือซีอุสผู้เป็นบิดาและมวลมนุษย์ ขณะที่ดูภาพยนตร์สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้นั่นคือ เทพเจ้าทั้งหลายไม่ได้เลอเลิศวิเศษไปกว่ามนุษย์อย่างเราแถมร้ายกาจกว่าด้วยซ้ำไป ผมได้เห็นภาพของลูกที่คิดฆ่าพ่อ น้องที่คิดฆ่าพี่ วิบากกรรมล้วนเป็นภาพฉายซ้ำจากรุ่นสู่รุ่น จึงช่วยตอบคำถามที่ว่า “ทำไมคนจึงหมดสิ้นศรัทธาในเทพเจ้า” ?
ในสังคม Postmodern หรือหลังนวสมัยนั้นมักนิยมเอาเรื่องเก่าๆ มาเล่าใหม่ เรื่องนี้ก็เช่นกันนำมาจากตำนานตั้งแต่สมัยกรีกและเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อน โดยผ่านการตีความใหม่ด้วยบริบทของปัจจุบันที่ครอบอยู่ หากมองดูโครงสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยละสายตาจากฉากแอ็กชั่นสุดตระการตาออกไป ก็จะเห็นสิ่งที่เรียกว่า มายาคติ (Myth) ซึ่งถือเป็นภาษาแบบหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ในการปกปิดซ่อนเร้นความเป็นจริงบางอย่างที่อาจทำให้อำนาจสั่นคลอน ขณะเดียวกันก็บิดเบือนความจริงโดยใช้กระบวนการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อสถาปนาความชอบธรรม มายาคติอาจอยู่ในรูปของนามธรรมที่เป็นตัวตนขึ้นมา ดังจะเห็นได้จากตัวละครวีรบุรุษอย่างเพอร์ซีอุสที่อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อพยายามบอกว่าในสังคมคนเรายังมีผู้กล้าหาญพร้อมต่อสู้เพื่อผู้อื่นและปกป้องความถูกต้อง ซึ่งแท้จริงมันอาจจะไม่มีคนแบบนั้นในโลกของความเป็นจริงก็ได้ หรือซีอุสมหาเทพตกสวรรค์ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้เตือนคนให้มีศรัทธาในทุกสิ่งที่นับถือโดยเป็นการปกปิดซ่อนเร้นความอ่อนแอในจิตใจของเราเอง
ที่กล่าวมานั้นผมได้พยายามถอดแผนที่ทางความคิด (mind map) ของผู้แต่งและผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาเพื่อเข้าใจความหมายและนำไปสู่ความเข้าใจสังคมของช่วงเวลานั้นๆ ได้เพื่อรู้ว่าเราเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด ผมจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เช่น วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ มีตัวละครทรพีที่ฆ่า ทรพาผู้เป็นพ่อของตัวเอง ดังนั้นความหมายที่เป็นมายาของสังคมคือ ทรพีสื่อแสดงความหมายว่า “อกตัญญู” นั่นเอง และหากลองสังเกตสายสัมพันธ์ของเหล่าเทพจะพบว่าบนสวรรค์มีเทพจำนวนน้อย เทพไททันส่วนใหญ่จึงจับคู่แต่งงานกันเองในระหว่างพี่น้อง เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วจะสะท้อนให้เห็นการบิดเบือนความจริงบางอย่างในสังคม การสมสู่ระหว่างคนในสายเลือดเดียวกันนั้นมีจริงและคงอยู่ แต่เราพยายามละเลยมองข้ามไปแล้วเสกสรรแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อบิดเบือนจากความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมให้เป็นมายา และอีกจุดสำคัญของมายาคติที่แฝงมาในเรื่องคือการสร้างให้เทพทั้งหลายนำพาเรื่องมากมายจากสวรรค์ลงมาละเลงกันจนเละบนโลกของเราจนแทบไม่เหลือเทพบนสวรรค์ให้นับถืออีก เป็นการสื่อให้รู้ว่าในปัจจุบันมนุษย์เรานั้นต้องการกุมชะตาชีวิตของเราเอง เราคิด กระทำ และก็รับผลที่ทำนั้นด้วยตัวเองหาใช่เทพบนฟ้าไม่
เมื่อดูภาพยนตร์จนจบทำให้ผมรับแง่คิดที่ดีอีกประการหนึ่งว่า ”พลังจิตใจของมนุษย์นั้นแท้จริงแล้วยิ่งใหญ่” และสิ่งที่มนุษย์เดินดินอย่างเรามีมากกว่าเทพเจ้าคือความมั่นคงมุ่งมั่นแน่วแน่ไม่กลับกลอก และผมก็ได้แต่ภาวนาให้พวกเราเป็นเช่นนั้นต่อไป และต้องขอบอกบรรดาทวยเทพให้เลิกสร้างมายาคติเพื่อครอบงำประชาชนและหยุดประพฤติตัวเสื่อมถอยจนมนุษย์หมดศรัทธาไป เพราะช่างฟังดูน่าหดหู่ยิ่งนักหากคนเราจะหมดความนับถือต่อสิ่งที่เคยศรัทธา ลองนึกเล่นๆ เชิงจริงว่าหากประชาชนหมดศรัทธาต่อกลุ่มคนที่นึกว่าตัวเองเป็นเทพที่บริหารประเทศด้วยการเอาผลประโยชน์เข้าตัว อำนาจของเทพอย่างพวกท่านก็คงหมดลงเช่นกัน คนเราจะยิ่งใหญ่อยู่ได้ก็ต่อเมื่อได้ยืนอยู่บนฐานแห่งศรัทธาของคนอื่น มิเช่นนั้นท่านจะกลายเป็น.. เทวดาตกสวรรค์ !!
องอาจ สิงห์ลำพอง : [email protected] twitter.com/dongongart facebook.com/dongongart
.............................
(หมายเหตุ Wrath of the Titans ศรัทธาแห่งประชาชน : มองผ่านเลนส์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง)