
'คำพิพากษาความจริง'จากราโชมอนถึงอุโมงค์ผาเมือง
'คำพิพากษาความจริง'จากราโชมอนถึงอุโมงค์ผาเมือง : มองผ่านเลนส์คม โดย.... องอาจ สิงห์ลำพอง ([email protected])
ว่ากันว่าก่อนรับปริญญาในสาขานิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ สาขาภาพยนตร์นั้น จะต้องมีคำถามทุกครั้งว่า “คุณเคยดูภาพยนตร์เรื่องราโชมอนหรือยัง” หากตอบว่า "ยัง” ถือว่ายังไม่สามารถให้เป็นบัณฑิตได้ แม้จะเป็นการอำเอาขำแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าภาพยนตร์ราโชมอนนั้นทรงคุณค่ามากเพียงใด แม้ว่าจะถูกสร้างมากว่า 55 ปีโดยฝีมือการกำกับภาพยนตร์ของอากิระ คุโรซาว่า และต่อมาในปีพ.ศ. 2554 ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยอีกครั้งโดยสร้างสรรค์จากบทละครเวทีเรื่องราโชมอน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สู่ภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” โครงเรื่องของภาพยนตร์ทั้งสองสัญชาติแทบจะเหมือนกันทุกประการ แค่เพียงต่างเวลาสถานที่และสังคมเท่านั้น ผมจึงขอเล่าเรื่องย่อรวมของทั้งสองเรื่องไว้บนโครงเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องราวการพบศพของนักรบคนหนึ่งกลางป่า โดยมีชายตัดฟืนไปพบเข้าและตัวเขาถูกข้อหาฆาตกรรม แต่เมื่อมีการให้การในชั้นศาลนั้น เมียนักรบ โจรป่า และตัวนักรบเองในร่างทรงต่างก็ให้การว่าตนเองเป็นคนฆ่า สุดท้ายก็จงใจให้จบเรื่องลงโดยไม่มีการเฉลยตัวฆาตกรใดๆ
ด้วยบทภาพยนตร์ที่เฉียบคมผนวกกับการเล่าเรื่องที่ชวนติดตามล้วนตรึงผู้ชมไว้ตลอดเรื่อง ภาพยนตร์ราโชมอนได้ทิ้งมรดกทางความคิดไว้มากมายจนทำให้ผมมั่นใจว่าภาพยนตร์ใช่แต่ให้ความบันเทิงเท่านั้น “Rashomon effect” หรือปรากฏการณ์ราโชมอน ถูกนำขึ้นมาใช้เพื่อเป็นต้นแบบของแนวคิดในหลายวงการ ทางการวิจัยนั้นนักวิจัยต้องขจัดความคิดเห็นของตนเพื่อให้ผลวิจัยปลอดค่านิยม (value free) ในทางนักจิตวิทยาก็นำปรากฏการณ์ราโชมอนเพื่ออธิบายพฤติกรรมของคนที่พยายามเอาตัวเองให้รอดด้วยการไม่พูดความจริงทั้งหมด หรือแม้แต่ในทางศาลก็ยังนำไปใช้ในการสืบสวนคดีในการแยกแยะข้อเท็จจริงของข้อมูลต่างๆ จากที่กล่าวมาจะพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สรรค์สร้างคุณประโยชน์อย่างมากต่อโลกของเราเพียงใด
แต่ประเด็นที่ภาพยนตร์ราโชมอนและอุโมงค์ผาเมืองทิ้งไว้ให้ผม กลับเป็นประเด็นที่ยากจะชี้ชัดลงไปได้ ซึ่งต่อมกระตุ้นจินตนาการของเรื่องมันอยู่ตรงที่ "แล้วใครพูดความจริง?” ทั้งสี่คนแสดงความจริงออกมาได้อย่างแนบเนียนจนไม่สามารถบอกได้เลยว่าความจริงอยู่ในปากของใคร ซึ่งภาพยนตร์ได้ตั้งคำถามเชิงอภิปรัชญาที่มีต่อ "ความจริง" และ “ความจริง” เหล่านี้อยู่นอกเหนือสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส (อายตนะ) ของมนุษย์ หากได้มองวิเคราะห์ในแบบ postmodern หรือหลังนวสมัย (ตามการบัญญัติศัพท์ของ ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร อาจารย์ของผมที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จะพบว่าความรู้ในรูปแบบหลังนวสมัยเป็นการปฏิเสธความจริงของโลกที่เป็นหนึ่งเดียว (unified world) ดังนั้นเมื่อตัวละครทั้งสี่ออกมาให้การต่อศาลเราจึงมองเห็นความจริงที่มีมากกว่าหนึ่งปรากฏขึ้นมา เสมือนเราส่องกระจกก็จะเห็นเพียงภาพภายนอกไม่สามารถเห็นเนื้อแท้ของตัวเราเองได้นั่นเอง การที่ 4 คนพยายามพูดความจริงของตนยิ่งสะท้อนว่าความจริงไม่มี การหาความจริงเป็นเรื่องเหลวไหล ความจริงเป็นเรื่องของความชวนเชื่อที่ค้นพบแล้วพยายามให้คนอื่นเชื่อตาม การเล่าของตัวละครล้วนมาจากความทรงจำซึ่งเชื่อไม่ได้เพราะในความทรงจำนั้นเคลือบด้วยมายาเสมอ ทำให้ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องอบอวลไปด้วยความคิดแบบหลังนวสมัยไปตลอดทั้งเรื่อง
ผมคงละเลยว่าคุโรซาว่า และ ม.ล.พันธุ์เทวนพ คิดอย่างไรตอนที่สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ แนวคิดหลังนวสมัยถือว่าผู้ประพันธ์นั้นตายแล้ว (The Death of Author) การตัดสินเรื่องทั้งหมดจึงตกอยู่กับผู้ชมทุกคนที่จะกลายเป็นผู้ตีความ (interpreter) เพราะถือว่าผู้ชมทรงสิทธิ์ และหากมองให้ลึกไม่ว่าจะเป็นในโลกแห่งความจริง หรือโลกมายา ต่างขึ้นกับ "คำพิพากษา" ของประชาชนที่เป็นผู้ดู ใครแสดงได้เหมาะสม มีตรรกะเหตุผลดีที่สุดประชาชนจะเป็นคนตัดสิน แต่สำหรับผมไม่มีใครเลยในทั้งสองโลกที่จะไม่พูดถึงตัวเองให้ดูดี ความดีงามเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้น คนเรายอมเชื่อในสิ่งนั้นเพื่อให้ลืมว่าตัวเรานั้นชั่วร้ายกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังมีและอยากให้ทุกคนมองเห็นเช่นเดียวกับพระหนุ่มในเรื่องนั่นคือ “เกิดเป็นคนจงอย่าหมดหวังสิ้นศรัทธาในคน” เพราะท้ายสุดความดีย่อมโผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้ทุกคนได้ประจักษ์ และคงต้องให้แนวคิดแบบหลังนวสมัยเป็นเครื่องมือคัดกรองความจริงจากผู้เป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารประเทศ ความจริงที่พวกเขาพูดและกระทำมีมากมายซึ่งคงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้นเอง แต่ขอให้รู้ไว้ว่าประชาชนจะตัดสินเอง หน้าที่ของพวกคุณสิ้นสุดแล้ว !!
.............................
(หมายเหตุ 'คำพิพากษาความจริง'จากราโชมอนถึงอุโมงค์ผาเมือง : มองผ่านเลนส์คม โดย.... องอาจ สิงห์ลำพอง ([email protected])