บันเทิง

ซ้ำรอย (II)

ซ้ำรอย (II)

02 เม.ย. 2555

ซ้ำรอย (II) : เล่นหูเล่นตา โดย... เจนนิเฟอร์ คิ้ม

           “เมื่อมนุษย์ล้มเหลวต่อ ‘การเรียนรู้’ มนุษย์จะกลับเข้าสู่ ‘การเลียนแบบ’ หรือ?” 
 
          ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพฤติกรรมการเลียนแบบนั้นมันถ่ายทอดผ่านยีน (Gene) จากรุ่นสู่รุ่นได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงการทำตามตัวอย่างที่เคยเห็น ในกรณีที่เป็นการเลียนแบบด้านลบอาจเพราะเรามีสิ่งเร้าหรือแรงกระตุ้นจากภายในอันเป็นสัญชาตญาณดิบในตัวมนุษย์ซึ่งมีทั้ง การเอาตัวรอด ความเห็นแก่ตัว ความก้าวร้าว หรือแม้แต่แรงขับทางเพศ ทั้งหมดนี้ถูกกดบีบไว้ด้วยกรอบศีลธรรมจรรยาอันสูงส่งในสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ กระนั้นมนุษย์ยังคงเลียนแบบความเลวร้ายในแง่ต่างๆ จากสิ่งใกล้ตัวและไกลตัว พฤติกรรมการเลียนแบบในแง่ลบมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ซ้ำรอย” ที่หากเกิดขึ้นแล้วก็คงแก้ไขอะไรได้ยาก ทำได้แค่ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในครั้งต่อไปด้วยการเรียนรู้ในข้อผิดพลาดที่ได้เกิดขึ้นแล้ว… ซึ่งส่วนใหญ่การเรียนรู้ที่จะแก้ไขและหาหนทางใหม่มักจะล้มเหลว… การซ้ำรอยเดิมจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า…
 
          “พี่ๆ ดูคลิปนี้หรือยัง เด็กนักเรียนตบกันแย่งผู้ชาย”
 
          ขอพูดคำนี้ว่า “เจ็บและชินไปเอง” คือความรู้สึกของฉันที่ไม่สามารถแก้ไขหรือช่วยอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ฉันคิดว่าความรุนแรงในเด็กวัยที่มีอารมณ์พลุ่งพล่านร่านเสียวมันก็คงต้องมีบ้าง เรื่องการลงไม้ลงมือแม้จะไม่เห็นด้วยแต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นในการใช้ความรุนแรงเพื่อ “แย่งผู้ชาย” อะไรที่ทำให้เด็กไทยแก่แดดเกินวัย มีเซ็กส์กันตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ เป็นแม่ตั้งแต่ 13 ลูกหรือเด็กที่เกิดจากแม่อายุ 13 จะเป็นอย่างไร นอกจากเป็นคล้ายๆ กัน เมื่อแม่ของเด็กอายุ 13 เลี้ยงลูกออกมาเป็นแบบนี้ เลี้ยงหลานคงไม่ห่างจากอะไรเทือกนี้ บางครั้งเด็กก็เอาความก้าวร้าวมาจากที่เห็นในบ้าน พ่อแม่ตบตีกัน พูดจาหยาบคาย หรือพ่อแม่ไม่เคยใช้กำลัง แต่ลูกไปเอามันมาจากเพื่อนหรือในหนัง และในเน็ต พฤติกรรมรุนแรงเป็นกันเฉพาะกลุ่มไม่ใช่ทั้งหมดของเด็กที่มีอยู่ ดังนั้นการเรียนรู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร การมองเห็นความถูกผิดในสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งที่ถูกสอนเหมือนๆ กันหมดทุกโรงเรียน แต่สามัญสำนึกของเด็กแต่ละคนนั้นต่างกัน บางครั้งฉันไม่อาจเหมารวมแล้วโทษผู้ปกครอง สภาพแวดล้อม หรือโทษสิ่งเร้าต่างๆ ได้ อาจเป็นไปได้ว่า เด็กคนนั้นล้มเหลวต่อการเรียนรู้ถูกผิดและศีลธรรมอันควรจึงหันไปหาการเลียนแบบ ซึ่งอาจเป็นคำตอบหรือทางออกที่ง่ายกว่า ในคลิปนั้นเด็กๆ พูดว่า “อย่าเอาไปฟ้องครู” มันแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยและความล้มเหลวของระบบการขัดเกลาและพัฒนาจิตใจของเด็กไทยในปัจจุบันที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพราะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในใจ แต่เพราะกลัวการถูกลงโทษมากกว่า เหมือนกับการที่เด็กกลัวพ่อแม่ตีเวลาที่ทำผิดมากกว่ากลัวพ่อแม่เสียใจ …
 
          “จริงๆ แล้ว ณัฐไม่อยากโทษเด็ก ต้องโทษที่พ่อแม่” หลานชายวัย 26 ของฉันออกความเห็นในเรื่องปัญหาซ้ำรอยของวัยรุ่นบนโต๊ะกินข้าวหลังบ้าน ขณะที่เขากำลังง่วนอยู่กับการทำพาย ส่วนฉันรอชิมอย่างเดียว
 
          “ดูอย่างไอ้เบิร์ดเด็กที่ทำงานณัฐสิ มันถูกพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่อยู่ป.2 พ่อแม่เลิกกัน แล้วต่างคนก็ต่างไปมีคนใหม่ ทิ้งลูกชายไว้กับพี่ที่อู่ซ่อมรถของตัวเอง ให้เงินวันละ 20 บาทไว้ซื้อข้าวกิน พ่อมันบอกให้พี่ไปดูน้อง พี่มันก็ไปหาแฟนแล้วทิ้งน้องไว้ มันเป็นแบบนั้นตั้งแต่ป.2 ถึงม.3 ไม่รู้มันอยู่ของมันยังไง แต่มันก็อยู่ได้จนทุกวันนี้ …”
 
          ณัฐ พูดถึงเด็กผู้ชายวัย 16-17 ปี ที่เป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารที่ณัฐไปฝึกงานในครัวเกือบปี
 
          “อู่ซ่อมรถของพ่อที่มันอยู่ไม่น่าจะเรียกว่าบ้าน มันเป็นสังกะสีเหมือนเพิงหมาแหงน หยากไย่เต็มไปหมด ที่นอนก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าที่นอนได้รึเปล่า ผ้าปูมันเก่ามากไม่เคยโดนน้ำกับแฟ้บเลยมั้ง พอจบม.3 มันเล่าว่า “หัวไม่ไปเลยออกไปทำงานที่ผับในเชียงใหม่ ทำ 3 เดือนก็ออกเพราะมันเป็นเด็ก โดนเขาโกง ให้ค่าแรงเดือนละ 150 บาท … ออกมาไปทำงานที่ร้านซีฝู (แยงซีเกียง) จนถึงตอนนี้ ”
 
          “เท่าที่ณัฐได้สัมผัสชีวิตของพวกเด็กๆ เด็กพวกนี้มันมีรูปแบบ เบิร์ดบอกว่าต้องมีโทรศัพท์มือถือดีๆ สักเครื่อง มอเตอร์ไซค์สักคัน ถ้ามีเหล็กดัดฟันก็จะยิ่งครบเครื่อง     มันยังเคยเอาเหล็กดัดฟันเก๊ใส่ฟันมันเลย มันบอกว่าไงรู้มั้ย?… ‘มันทำให้ผมดูดีขึ้นมาทันที’ … ไม่รู้มันคิดอะไรของมัน” ณัฐเล่าไปขำไปกับเหล็กดัดฟันของเบิร์ด
 
          “แล้วไปสนิทกับน้องมันได้ไงล่ะ?” ฉันถาม
 
          “ณัฐชอบซื้อขนมไปให้พวกเด็กๆ ที่ร้านกิน ก็เลยสนิทกัน วันเกิดเจ้าเบิร์ดก็ซื้อเสื้อแจ็กเก็ตเอาไว้ใส่ตอนขี่มอเตอร์ไซค์ให้ตัวหนึ่ง เอาไปให้มันที่บ้านนั่นแหละครั้งแรกที่เห็นบ้านมัน”
 
          “แล้วทำไมต้องให้ของขวัญวันเกิดมันด้วยล่ะ”

          “ก็ไม่มีใครจำวันเกิดมันได้เลยทั้งพ่อแม่มัน น่าสงสาร โตด้วยตัวของมันเอง ไม่มีใครคอยดูแล สั่งสอน หรือเป็นตัวอย่างให้… ณัฐไปกินหมูกระทะวันเกิดมันที่บ้านแฟนมัน นี่ก็เหมือนกัน อายุเท่ากัน เมื่อก่อนพ่อแม่ฐานะดี มีโรงงานทอผ้า แล้วมาเจอฟองสบู่แตกช่วงนั้นเลยล้มละลาย เลิกกันไปมีคนใหม่ทิ้งลูกเอาไว้ให้ยายเลี้ยงตั้งแต่เล็ก บ้านกว้างนะ ประมาณไร่หนึ่ง ยังมีโรงทอผ้าร้างอยู่ในนั้นเลย ที่อยู่เป็นบ้านชั้นเดียวเป็นปูนกับไม้ มีหยากไย่เต็มหลังคาเลย หญ้าที่สนามข้างนอกสูงเท่าเข่า ไม่มีคนดูแล อยู่กันแค่ 2 คน น้องก็ต้องไปทำงาน ยายก็แก่ 70-80 แล้ว… น้องจบม.3 มาเป็นเด็กเสิร์ฟที่ผับแล้วมาเจอกับเบิร์ดเป็นแฟนกันแป๊บเดียว ท้องโตต้องออกจากงาน วันที่เจ็บท้องจะคลอดลูก น้องมันยังออกไปเที่ยวเลย เฮ้อ! เด็กพวกนี้… ตอนคลอดณัฐก็ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล เด็กตัวซีดมากต้องเข้าเตาอบ…”
 
          “เด็กทารกไม่ใช่พายที่ณัฐทำอยู่นะลูกจะได้เข้าเตาอบ” ณัฐหัวเราะเพราะกำลังง่วนอยู่กับการทำอบพายอยู่ ก็เลยพูดคำว่า “ตู้อบ” เป็นเตาอบ
 
          “พอเอาเด็กกลับบ้าน ณัฐกับเพื่อนอีก 2 คน รวมเงินกันซื้อของให้มีฝาครอบแบบมุ้งเด็ก อ่างอาบน้ำ แป้ง นมผง ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอะไรพวกนี้แหละ” ฉันนึกสงสัยว่าหลานชายฉันกำลังเล่าเรื่องคนอื่นหรือเรื่องตัวเองกันแน่ มันรู้ได้ยังไงว่าของใช้เด็กอ่อนมีอะไรบ้าง? !!! (อือ … ยังสงสัยอยู่)
 
          “ตอนเอาของไปให้ก็ไปช่วยทำความสะอาดบ้าน ณัฐบอกมันว่า ‘เบิร์ดเด็กไม่ควรอยู่ในที่ฝุ่นเยอะแบบนี้’ เฮ้อ… เด็กมันยังเลี้ยงลูกไม่เป็นก็ต้องช่วยบอก ณัฐเตือนตั้งแต่แรกแล้วว่า ‘ถ้าแฟนท้องจะทำยังไง’ มันตอบว่า ‘สวมถุงยางแล้วก็นับหน้า 7 หลัง 7 เอาพี่’ แล้วเป็นยังไง… ‘นับพลาด !’ ลูกออกมาเป็นผู้หญิง ตอนนี้เบิร์ดกับแฟนก็เลิกกันแล้ว ต่างคนต่างมีแฟนใหม่ เอาลูกไว้ให้ยายเลี้ยง แล้วเด็กก็จะโตมาเป็นอย่างที่พ่อแม่ของเด็กเป็น…”
 
          ฉันถอนหายใจพร้อมกับณัฐในตอนจบเรื่อง เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายวัย 16-17 ปี 2 คน ที่ถูกพ่อแม่ทิ้งเติบโตมาด้วยการลองผิดลองถูกของตนเอง ทั้งๆ ที่ได้เรียนรู้ในความผิดพลาดของพ่อแม่มาก่อนแล้ว ก็ยังคงเลียนแบบความผิดพลาดนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับกรณีนี้ฉันไม่เรียกว่าการเรียนรู้ที่ล้มเหลว แต่ฉันคิดว่าเป็นการเรียนรู้อย่างไร้ทิศทางและขาดผู้ชี้นำที่ดี จึงต้องย้อนรอยไปซ้ำรอยเดิมของพ่อแม่ราวกับว่าตั้งใจเลียนแบบ การเลียนแบบเช่นนี้ยังคงเป็นวัฏจักรที่ถูกทำซ้ำๆ จากรุ่นต่อรุ่น หาที่สิ้นสุดไม่ได้ตราบใดที่การศึกษาและศีลธรรมยังไม่สามารถเจาะทะลุเข้าไปถึงทุกๆ ที่อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน และที่สำคัญต้นแบบที่ดีไม่ได้มีอยู่ในทุกๆ ที่
.............................
(หมายเหตุ  ซ้ำรอย (II) : เล่นหูเล่นตา โดย... เจนนิเฟอร์ คิ้ม)