บันเทิง

นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว

นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว

01 มี.ค. 2555

นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว:รู้ทันกฎหมาย โดย... ศรัณยา ไชยสุต

           ฝ่ายชายมีศักยภาพในการนิ่งดีกว่าผู้หญิง  เพราะจำคำสอนของโบราณที่ว่า “นิ่งเสีย  ตำลึงทอง”  ส่วนผู้หญิงมักนิ่งไม่ไหว และจะมีปฏิกิริยาออกอาการไปไวกว่าผู้ชาย  ส่วนใหญ่จะไปในทางบ่นหรือนินทา  หรือไม่ก็ต่อว่าเอาเรื่องเอาราว
 
          ผู้ชายจึงใช้ท่านิ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ปฏิบัติการของฝ่ายหญิง  และเป็นสิ่งที่รู้กันว่าถ้าภรรยายิ่งบ่นหรือเอาเรื่องเมื่อไหร่ ให้นิ่งเข้าไว้ อย่าได้อธิบายในทันทีรอให้อารมณ์เธอนิ่งได้ที่เสียก่อน
 
          การนิ่ง ทำให้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าอารมณ์ไหน  จะเห็นด้วย คัดค้าน หรือยอมรับกับสิ่งนั้นๆหรือไม่ก็เป็นที่สงสัยอยู่ แต่ผู้หญิงบางคนอยากฟังคำชี้แจง ยิ่งนิ่งเท่าไหร่ก็เหมาเอาว่า น่าจะจำนนต่อคำกล่าวหาเพราะไม่รู้จะแก้ตัวว่าอย่างไร  การนิ่งจึงไม่ใช่วิธีดีที่สุดเสมอไป
 
          ในทางกฎหมาย การนิ่งอาจกลายเป็นการยอมรับ  แต่ในบางครั้งกลับแปลว่า เปล่านะ ก็ได้  ดังนั้น จึงควรรู้จังหวะว่าจะนิ่งเมื่อไหร่หรือต้องเคลื่อนไหวสักอย่างแล้ว
 
          ในทางอาญา ถ้านิ่งไว้ไม่ได้แปลว่ารับสารภาพ ทั้งยังอาจถือว่าปฏิเสธด้วย  หากทำครึ่งๆกลางๆเรียกว่า ภาคเสธ เป็นการแบ่งรับแบ่งสู้  ยามใดที่ถูกกล่าวหาแล้วนิ่งเฉย ถือว่ายังไม่ยอมรับ 
 
          แต่ก็อย่าได้นิ่งตลอดกาล เพราะวันที่เขาส่งเรื่องไปถึงศาล  ท่านก็จะถามจำเลยว่ายอมรับหรือปฏิเสธ มัวแต่แน่นิ่งไม่ตอบศาลก็งานเข้า  ถ้าไม่อยากอธิบายอะไรก็ปฏิเสธไปให้ชัดเจน  เป็นอีกฝ่ายที่ต้องมีภาระในการพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง 
ส่วนในทางแพ่งนั้นต่างกัน  เมื่อถูกเรียกร้องกล่าวหา จะมาทำนิ่งนอนใจไม่ได้  เมื่อได้คำฟ้องเมื่อไหร่ ก็ต้องให้การต่อสู้คดีไป จะแก้ต่างแก้ตัวอย่างไ
 
          ก็ว่ากันไปให้ครบทุกประเด็น หากไม่ได้ทำคำให้การต่อสู้คดีแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช้สิทธิโต้แย้ง
 
          ในการต่อสู้คดี  ก็มีหน้าที่ชี้แจงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย  บางครั้งและส่วนใหญ่ การกล่าวหาในคำฟ้องอาจมีหลายส่วน  เรียกว่าหลายประเด็น  การเว้นไม่โต้แย้งในข้อใด ถือว่ายอมรับในข้อนั้น  ไม่ต้องมาพิสูจน์อะไรต่อกัน เป็นอันจบข่าวเรียบร้อยโรงเรียนผู้ว่ากล่าวเอาความเราเลย นอกศาลนอกทางอาญา  การนิ่งเพราะถูกนินทาหรือพูดถึง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในทางกฎหมายไม่ได้นับว่ายอมรับ  ส่วนในทางสังคมก็ต้องแล้วแต่ว่าผู้คนเกิดความกังขาสงสัย หากเป็นเรื่องไร้สาระก็ปล่อยไป แต่หากกระทบต่อความเชื่อถือเมื่อไหร่  ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร จะเป็นแก้ตัวหรือแก้ต่างอย่างไหน การรักษาความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจนิ่งเฉยได้
 
          ส่วนคนพูดก็ต้องคิดให้ดีว่างานนี้สมควรนิ่งหรือไม่ อย่าให้เป็นข้อหาหมิ่นประมาทที่ต้องไปนิ่งเอาตอนถูกสอบสวนก็แล้วกัน
...................
(หมายเหตุ นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว:รู้ทันกฎหมาย โดย... ศรัณยา ไชยสุต)