บันเทิง

ร้อยช่องพันช่องก็ไร้ค่า?

ร้อยช่องพันช่องก็ไร้ค่า?

27 ก.พ. 2555

ร้อยช่องพันช่องก็ไร้ค่า?:มองผ่านเลนส์คมำ โดย... แคน สาริกา

          ข่าวนักเรียนชาย ม.6 ผีพนันบอลเข้าสิง เป็นหนี้ 3 หมื่นบาท เจ้าหนี้ตามทวงเกิดกลัวตายจึงจับนักเรียนรุ่นน้อง ม.1 เรียกค่าไถ่จากผู้ปกครองเหยื่อ โชคดีตำรวจเข้าช่วยเหลือ และจับกุมเด็ก ม.6 คิดสั้นได้ทันควัน เป็นเรื่องที่ไม่อยากได้ยินเลย
 
          กี่ครั้งกี่หนแล้วที่มีข่าวอาชญากรรมอันเนื่องจาก "พนันบอล" แต่หนนี้มันสะท้านหัวใจ เพราะผู้ก่อเหตุเป็นเด็ก ม.6 ที่พลัดหลงเข้ามาในวังวนการพนัน
 
          จากข่าวนี้ทำให้นึกเห็นทีวีดาวเทียม "ช่องอบายมุข" ที่มีคอนเทนท์ครบเครื่องเรื่องหวยใต้ดิน หวยหุ้น และโต๊ะบอล
 
          จุดเด่นของช่องนี้อยู่ที่รายการทอล์กกีฬาตอนกลางคืน เน้นการรายงานผลฟุตบอลทุกลีกทั่วโลก ลีกเล็กลีกใหญ่รายงานหมด แม้ผู้บริหารทีวีช่องนั้น อ้างว่าเป็นการให้ "ข้อมูล" แก่ผู้ชมทางบ้าน
 
          ขอประทานโทษ! พวกที่ต้องการข้อมูลแบบนี้ หากไม่ใช่นักพนันบอลแล้ว จะมีคนบ้าบอลที่ไหนอยากทราบผลลีกในประเทศฟินแลนด์
 
          วันข้างหน้า "อรหันต์ กสทช." จะมีปัญญาจัดการทีวีช่องอบายมุขได้มากน้อยแค่ไหน?
 
          เสาร์ที่ผ่านมามีงานสัมมนา "ทีวีดาวเทียมพันช่อง ตลาด จริยธรรมและการกำกับดูแล" จัดโดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
 
          พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และรองประธาน กสทช. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับทีวีดาวเทียมว่า "บอร์ด กสท." (บอร์ดเล็กด้านกิจการทีวีและวิทยุ) กำลังดำเนินการสร้างกฎ กติกาที่เหมาะสมเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาต
 
          ในการดำเนินการระยะยาว คือการนำทีวีดาวเทียมเข้าสู่ระบบกำกับดูแล ที่จะมีทั้งการพิจารณาไม่ให้ใบอนุญาตและการดำเนินตามมาตรการที่ "คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กสท." กำหนด ซึ่งเรื่องการนำเสนอไม่เหมาะสม บอร์ด กสท.ก็คุยกันว่ามี 2 ส่วนคือ
 
          1.เนื้อหาเกี่ยวกับผู้บริโภค เช่น การโฆษณาเกินจริง การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำลังดำเนินการ
 
          2.ส่วนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านอื่นๆ ก็จะมีคณะอนุกรรมการอีกชุดดูแล โดยการพิจารณาเรื่องเนื้อหาไม่เหมาะสม
 
          บอร์ดเล็กจะอาศัยข้อมูลการร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งสามารถแจ้งมาได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ กสทช.หมายเลข 1200 และขอให้พี่น้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบเนื้อหารายการหลอกลวงชาวบ้านก็แจ้ง กสท.ได้ทันที
 
          จากที่ไล่เรียงช่องดูทีวีดาวเทียมกว่าร้อยช่องในปัจจุบัน ถ้ายึดเกณฑ์ตามที่บอร์ด กสท.วางกรอบไว้ เชื่อว่าจะมีทีวีดาวเทียมไม่ต่ำกว่า 90 ช่อง ต้องไม่ได้รับใบอนุญาต
 
          พวกที่ขายสินค้าอาหารเสริม คงสรุปตัดสินได้ไม่ยาก แต่ทีวีดาวเทียมประเภท "อำพรางเนื้อหา" เช่นช่องกีฬาที่คอยรายงานผลการแข่งขัน แต่แอบแฝงไว้ด้วยการพนันนั้น มันยากเหมือนกันที่ กสท.จะไม่ออกใบอนุญาต เพราะไม่เห็นความผิดที่ชัดเจน
 
          เหมือนทีวีของบริษัทขายตรง จะไปกล่าวหาว่าพวกเขาหลอกลวงผู้บริโภคแบบลอยๆ ก็ไม่ได้ ก็ต้องหาหลักฐานการกระทำผิดออกมาให้สังคมได้ประจักษ์ แต่มันก็ยากที่จะเข้าถึงข้อมูลด้านลบช่องอบายมุขก็ฉลาดพอที่จะหา "เกราะ" กำบังกาย ด้วยการสนับสนุนกีฬาในบางรายการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร และกลบจุดอ่อนเรื่องทีวีช่องเล่นการพนัน
 
          ฉะนั้นจะกี่ร้อยกี่พันช่อง ก็ไม่มีความหมาย ถ้าทีวีดาวเทียมกว่า 70-80% ยังหมกหมุ่นอยู่กับความเชื่อที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางการเมืองหรือทางสังคม
...................
(หมายเหตุ ร้อยช่องพันช่องก็ไร้ค่า?:มองผ่านเลนส์คมำ โดย... แคน สาริกา)