
๒๐ปีวรรณกรรมสัญจร (๔)
๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร (๔):คมเคียวคมปากกา โดย... ไพวรินทร์ ขาวงาม
เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓
รำพันพรรณนาว่าด้วยกิจกรรม ค่ายวรรณกรรมสัญจร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ครบรอบ ๒๐ ปี เมื่อครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน สกลนคร ได้ข่าวว่าในเช้าวันสุดท้ายของงาน หลังจากผมเดินทางกลับก่อน สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งเสร็จภารกิจแสดงดนตรีแถวๆ นั้นขึ้นไปเยี่ยมค่าย สร้างความตื่นเต้นประทับใจสำหรับสมาชิกชาวค่าย เจ้าหน้าที่อุทยาน และชาวบ้านใกล้เคียงอย่างคาดไม่ถึง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะสายใยสัมพันธ์กับเจ้าภาพ-ไพฑูรย์ ธัญญา
ก่อนหน้านั้น มีจังหวัดต่างๆ มากมายที่ปรากฏชื่อรองรับการเคลื่อนไหวไปของค่ายในแต่ละปี อาทิ ชัยภูมิ, นครราชสีมา, มหาสารคาม, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, สกลนคร, นครพนม, หนองบัวลำภู ฯลฯ จะว่าไปแล้ว นักศึกษาหลายชีวิตในภาคอีสานที่เรียนหนังสือ ณ สำนักตักศิลามหาสารคาม ถือว่ามีครอบคลุมแทบทุกจังหวัด แม้ ครูธัญญา สังขพันธานนท์ ของพวกเขาจะเป็นคนภาคใต้ ก็อุทิศทุ่มเทให้แก่ลูกศิษย์ชาวอีสานเต็มที่ จนเป็นที่รักเคารพของศิษย์ทุกคน
อย่างที่ว่าแล้ว ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นทั้งครูและศิลปิน บุคลิกนักเลง โผงผาง จริงใจ ตรงไปตรงมา อาจขึ้นชื่อทางดุทางเคี่ยวกรำในการเรียนการสอนด้วยซ้ำ แต่เขาก็เป็นครูใจดี-ขวัญใจของนักศึกษาหลายรุ่นหลายวัย ที่จบไปเป็นครูบาอาจารย์ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีเป็นจำนวนมาก เมื่อลูกศิษย์ได้เป็นครูบ้าง ก็อดไม่ได้ที่จะสืบทอดอุดมคติทางกิจกรรมเหล่านั้น
หลายวันก่อน เขาขับรถจากมหาสารคาม แวะรับผมที่บ้านไผ่แต่เช้าตรู่ เพื่อจะไปนครราชสีมา เพราะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดกิจกรรมนักเขียนพบนักศึกษา โดยพบว่าผู้ที่ผลักดันให้เกิดกิจกรรมนี้ก็คือ อาจารย์ทิพย์วารี สงนอก ลูกศิษย์ที่เขาเคยสอนมา วิถีของครูกับศิษย์ก็วนเวียนอยู่เช่นนี้
บังเอิญเหลือเกิน ในวันเดียวกัน ผมรื้อพบโทรเลขเก่าๆ ที่เก็บไว้ (แม้ในยุคเฟซบุ๊กแล้ว) อ่านแล้วยังให้เกิดความตื่นใจครามครัน
“ให้มาถึงชัยภูมิบ่ายวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ มากับพี่อี๊ดและกนกพงศ์ก็ได้ แล้วรอผมที่โรงแรมเลิศนิมิตร” ลงชื่อ ไพฑูรย์ ธัญญา ลงเวลาปลายเดือนมกราคมเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
ก็มาตรงกับข้อมูลที่ระบุว่า ค่ายวรรณกรรมสัญจร ครั้งแรก จัดขึ้นที่น้ำตกตาดโตน ชัยภูมิ โดยมี ไพลิน รุ้งรัตน์ (พี่อี๊ด), กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และผม เป็นวิทยากรหลัก ส่วนเวลานั้น น่าจะยังคลาดเคลื่อน เพราะในโทรเลขของผมปรากฏเป็นปี ๒๕๓๔ แต่ข้อมูลบางแห่งปรากฏเป็นปี ๒๕๓๕
ต้องรอให้ผมตรวจสอบอีกสักครั้ง จะนำมาสรุปเรื่องนี้อีกตอนในวันศุกร์หน้า...
ไพฑูรย์ ธัญญา-ในวันพบเขาครั้งล่าสุด เขาคือ ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ที่ผ่านมาแสดงว่าเรารู้จักและคบหาสมาคมกันร่วม ๒๐ ปีแล้ว แต่แล้วอยู่ๆ เขาก็เปรยขึ้นมาว่า
“ที่จัดมายี่สิบปี เราอาจตัดสินใจผิดพลาด เพราะคิดแต่จะสร้างนักเขียน ซึ่งสร้างได้ไม่มาก ไม่ได้สร้างนักอ่าน ต่อไปจะจัดค่ายนักอ่าน คือให้สมาชิกค่ายเลือกอ่านหนังสือก่อน แล้วไปเข้าค่ายคุยกัน”
ผมว่า-ความคิดโครงการใหม่ของเขาน่าสนใจ แต่ไม่เห็นด้วย ถ้าเขาจะสรุปทีเดียวว่า ที่ผ่านมาตัดสินใจผิดพลาด เพราะนักอ่านและนักเขียนที่เขาดูแล ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันโดยตัวเอง-คนแล้วคนเล่า!
ในปี ๒๕๕๔ ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีตอบแทนคุณแผ่นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...
...................
(หมายเหตุ ๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร (๔):คมเคียวคมปากกา โดย... ไพวรินทร์ ขาวงาม)