
เปิดใจ "พิเชษฐ์ กลั่นชื่น" ทำไมต้องเลิกแสดงงานสุดฮิต (จบ)
เปิดใจ "พิเชษฐ์ กลั่นชื่น" ทำไมต้องเลิกแสดงงานสุดฮิต (จบ):แขกรับเชิญ โดย... ปวิตร มหาสารินันทน์
คุยกันต่อกับ "พิเชษฐ์ กลั่นชื่น" "ปวิตร มหาสารินันทน์" และ "เฌโรม" ถึงประสบการณ์และเรื่องราวของการนำเสนองานศิลปะในแบบฉบับของตัวเอง ตามมาดูโลกของพวกเขากับการแสดงล่าสุดในบ้านเราต่อกันดีกว่า...
Q : อาจารย์เคยเล่าให้ผมฟังว่า ที่ไทเปมีคนดูลุกขึ้นด่าระหว่างการแสดง
A : ที่กรุงโซลครับ ก็คือ มีคนดูคนหนึ่งลุกขึ้นยืน แล้วก็แบบว่า “!@#$ you!” ใส่ แล้วก็ด่าผมกับเฌโรมทั้งคู่เลยครับว่า ไอ้ฝรั่งโง ไอ้เอเชียงี่เง่า เขายืนแล้วโชว์ออฟกลางการแสดง คนดูก็โห่ แล้วก็ไล่เขาออกครับ แต่ผู้จัดที่นั่นก็บอกว่า ผู้ชายคนนี้น่ะชอบทำอะไรแบบนี้ เขาอยากให้ทุกคนรู้จัก
Q : อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าจะย้อนนึกมาถึงการแสดงเรื่องนี้ อาจารย์จะนึกถึงที่ไหน หรือเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดงครับ
A : ผมจำไม่ได้ว่าที่ไหนนะครับ แต่มันมีอยู่ครั้งหนึ่งนะครับ ผมจำได้ว่ามันเป็นวันที่ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก คือ เฌโรมร้องไห้บนเวที ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขาคงเศร้ามากตอนนั้น แล้วผมตกใจมากวันนั้น อันนี้คือวันที่ผมจำแม่นมาก เพราะมันจริงมาก
Q : รูปแบบของ “พิเชษฐ กลั่นชื่น และตัวผม” คล้ายกับละครเวทีมากเลยนะครับ เพราะว่าบทค่อนข้างจะตายตัวแล้ว แล้วก็เป็นเหมือนบทสนทนาของคนสองคน แล้วที่น่าสนใจก็คือ เล่นมา 7 ปีแล้ว 120 กว่ารอบแล้ว แต่ยังเหมือนกับว่าทั้งสองคนไม่เคยเจอกันมาก่อน อาจารย์ทำได้ยังไงครับ
A : ผมคิดว่ามันเริ่มต้นจากที่จริงๆ ผมกับเฌโรมเป็นคนที่ไม่ค่อยคุยไม่ค่อยสุงสิงกันเป็นนิสัยอยู่แล้ว
Q : เนื้อหาของการแสดงก็เลยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ความคิดเห็น ทัศนคติที่ทั้งสองคนมีต่อประเด็นต่างๆ ก็ยังคงเหมือนเดิมใช่มั้ยครับ
A : ครับ เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับว่า เรายังคงตอกย้ำความคิดของเราอยู่เรื่อยๆ น่ะครับ แต่คนดูที่มาฟังน่ะเป็นคนใหม่ มันก็เหมือนกับเราเล่าเรื่องเดิมให้คนใหม่ฟัง มันถึงได้สดอยู่ตลอดเวลาครับ
Q : มันก็เหมือนกับจะพูดว่าวงการนาฏยศิลป์ของไทยหรือของยุโรปในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเนี่ย ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก ความเห็นของทั้งสองคนก็เลยยังเหมือนเดิม
A : ถ้าเป็นนาฏยศิลป์ไทยมันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างมันเหมือนเดิม ผมว่าแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำไป แต่ว่าถ้าเป็นในมุมที่กลับไปข้างนอกเนี่ย 3 หมื่นกว่าคนที่ดูการแสดงนี้ก็มีทัศนคติที่ดีต่อนาฏยศิลป์ไทยนะครับ ยกตัวอย่างนะครับ จะมีคนอีเมลมาหาผมเรื่อยๆ ทั้งจากเยอรมนี อเมริกา ญี่ปุ่น มาขอเรียนนาฏยศิลป์ไทยกับผม
Q : แล้วอาจารย์ตอบไปว่ายังไงครับ
A : ผมก็ตอบว่าให้ไปเรียนที่กรมศิลป์ครับ
Q : ซึ่งก็เป็นคำตอบเดียวกับที่อาจารย์ตอบคนไทย
A : ใช่ครับ ผมก็จะบอกว่าให้ไปเรียนที่กรมศิลป์อยู่วันยังค่ำ เพราะที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ก็ควรจะไปเรียนที่จุดเริ่มต้น แล้วก็มีคนเขียนงานที่เป็นวิทยานิพนธ์ บทความวิจัย ทั้งคนไทยต่างประเทศเยอะมาก เขียนถึงงานชิ้นนี้ อันที่สามคือ มีคนมาขอผมให้ไปสอนโขนที่ต่างประเทศน่ะครับ เยอะมาก ปีนี้ผมมีกำหนดการไปสอนที่ School of the Arts (SOTA) ที่สิงคโปร์ แล้วก็ที่เวนิส นี่ผมก็เพิ่งกลับจากไปสอนที่บูดาเปสต์มาครับ
Q : ฟังดูทั้งหมดแล้ว การแสดง “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น และตัวผม” ก็ประสบความสำเร็จอยู่อย่างสูง ก่อให้เกิดผลต่างๆ นานาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวอาจารย์เอง คุณเฌโรม และวงการนาฏยศิลป์ไทย แล้วทำไมถึงต้องเลิกแสดงงานชิ้นนี้ครับ
A : เวลามันหมดครับ
Q : เวลาหมายถึงอะไรครับ
A : คือสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่เป็นการแสดงร่วมสมัยไงครับ แล้วเราเชื่อว่างานร่วมสมัยเนี่ยมันเกิดมา ตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป
Q : คือมันไม่ร่วมสมัยแล้ว
A : ใช่ครับ คือช่วงเวลาของมันหมดลง แล้วเราก็ตัดสินใจตั้งแต่ปีที่แล้วนะครับ ว่าเราจะหยุด แล้วเราก็วางแผนที่จะทำถ่ายเป็นหนัง ซึ่งเสร็จแล้ว ฉายแล้ว เคยฉายที่ศูนย์ศิลปะปอมปิดู ที่ปารีส ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากครับ ฉายตามเทศกาลนาฏยศิลป์ (dance festival) มีคนยุให้นำไปฉายรอบปกติตามโรงหนังด้วย
Q : เป็น 3D รึเปล่าครับ แบบ “PINA” น่ะครับ
A : อ๋อ ไม่ได้เป็นครับ ไม่จำเป็น เราก็เดินทางไปในอีกแบบหนึ่ง ให้มันเป็นแผ่นฟิล์มไป แต่จุดมุ่งหมายคงเดิม
Q : ทำไมถึงเลือกที่จะมาจบในเมืองไทยครับ
A : ผมรู้สึกว่ามันเริ่มที่นี่น่ะครับ แล้วก็น่าจะพามันกลับมาแล้วก็ให้คนไทยได้เห็นมันอีกครั้งหนึ่งน่ะครับ ได้ตอกย้ำมันอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าในวันที่เริ่ม ในช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มเนี่ยมีคนไทยเยอะมากที่ไม่เชื่อมัน
Q : คือ ไม่เชื่อว่าจะเวิร์ก หรือไม่เชื่อความคิดที่อยู่ในงานครับ
A : ใช่ครับ ไม่เชื่อความคิดที่อยู่ในงานและไม่เชื่อว่างานชิ้นเนี่ยมันจะเวิร์ก
Q : ตอนนี้เหมือนกับได้พิสูจน์แล้วว่ามันเวิร์ก
A : ครับ พิสูจน์แล้ว 7 ปี ผมว่ามันนานพอครับ
Q : เท่าที่เล่นมาในเมืองไทย 3 ครั้ง ปฏิกิริยาของผู้ชมแตกต่างจากที่อื่นมั้ยครับ เหมือนกับว่าคนไทยที่ไม่ชอบงานของอาจารย์ก็มีเยอะ คนที่ชอบมากก็แยะ
A : คนที่ไม่ชอบเนี่ยก็ยังคงไม่ชอบอยู่วันยังค่ำน่ะครับ
Q : ไม่ชอบงานชิ้นนี้หรือไม่ชอบอาจารย์พิเชษฐ์
A : ไม่ชอบสิ่งที่ผมทำทั้งหมด คือ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ไม่ชอบทั้งหมด มันมีความซับซ้อนลงไปอีกว่า ทำไมเขาถึงไม่ชอบ แต่ถ้าคนไทยปกติทั่วไปนะครับ เขาก็จะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ผมอธิบาย ว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ มันน่าสนใจ น่าค้นหา อย่างวันนี้นะครับ ผมเคยเขียนหนังสือไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วครับ เกี่ยวกับเรื่องของระบบโครงสร้างของร่างกายทั้งหมดในนาฏยศิลป์ไทย หนังสือเล่มนี้นะครับ ผมพยายามเอาไปให้คนโน้นพิมพ์ ให้คนนี้อ่านทุกคนบอกว่าใช้ไม่ได้ เป็นเรื่องส่วนตัวเอาเก็บไปเลยไป
Q : ความคิดเห็นส่วนตัวเหรอครับ
A : ใช่ครับ ความคิดเห็นส่วนตัว แต่วันนี้มีนักศึกษาคนหนึ่งเรียนกราฟฟิก แอนิเมชั่น มาคุยกับผม แล้วถามผมว่า พี่ ร่างกายของนาฏยศิลป์ไทยเป็นยังไง ระบบเป็นยังไง ผมก็เอาหนังสือเล่มนี้ให้เขาดู เขาก็บอกผมว่า พี่หนังสือเล่มนี้มันสุดยอดเลย นี่มันเป็นระบบแอนิเมชั่นเลยนะ นี่ผมทำได้เลยนะ ผมเลยบอกว่า งั้นน้องเอาไปเลย เอาไปอ่านเลยไป คือ เขาอยากทำแอนิเมชั่นที่เป็นโขน ทุกอย่างผมเขียนไว้หมดแล้ว กล้ามเนื้อ การแบ่งสัดส่วนของตัว ของเส้นในร่างกาย ไปทางไหน การเคลื่อนไหวเป็นยังไง คือ ด้วยวิธีการแบบนี้มันทำให้คนที่ไม่ชอบก็ยังไม่ชอบอยู่วันยังค่ำนะครับ ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องเลยเนี่ยก็จะตื่นเต้นมาก แล้วก็ทำให้เขาเข้าใจนาฏยศิลป์ไทยมากขึ้น
Q : ทำไมคนไทยหรือฝรั่งที่อยู่เมืองไทยถึงควรจะมาดูการแสดงชิ้นนี้ นอกจากการที่เป็นรอบสุดท้ายแล้ว
A : ถ้าเป็นฝรั่ง ถ้าในมุมมองของฝรั่งนะครับ ผมคิดว่าถ้าคุณมาดูแล้วเนี่ย คุณจะเข้าใจนาฏยศิลป์ไทยในอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมเสื้อผ้าสวยเฉยๆ แต่มันมีองค์ความรู้ที่อยู่ในนั้น แล้วมันจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นชนชาติด้วยในเวลาเดียวกันครับ
Q : แล้วถ้าเป็นคนไทยล่ะครับ เพราะตอนนี้คนไทยหลายๆ คนอาจจะกลัวการแสดงชิ้นนี้ เพราะเห็นว่าอาจารย์กับคุณเฌโรมพูดภาษาอังกฤษกันทั้งเรื่อง
A : ถ้าเป็นคนไทยเนี่ย ผมก็จะบอกว่าคนไทยก็จะได้เห็นรำไทยที่สวยที่สุดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนครับ
***“พิเชษฐ กลั่นชื่น และตัวผม” (Pichet Klunchun and Myself) แสดง 2 รอบที่ศูนย์ศิลปะการละครสดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรฯ จุฬาฯ (เดิน 15 นาทีจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม มาตามถนนอังรีดูนังต์) ในวันจันทร์และอังคารที่ 20-21 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 20 น. (มีการสนทนากับศิลปินหลังรอบวันอังคาร) เนื่องในเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย (la f?te 2012) และโครงการ World Performances @ Drama Chula บัตรราคา 400 บาท (นักเรียน นักศึกษา 100 บาท) ซื้อได้ที่ Thaiticketmajor หรือโทร.08-1559-7252
รอบสุดท้ายที่วิกหัวหิน ในเทศกาล Fringe Festival วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 19.30 น. จองบัตรได้ที่ 0-3282-7814-5 อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ www.VicHuaHin.com <http://www.VicHuaHin.com>
...................
(หมายเหตุ เปิดใจ "พิเชษฐ์ กลั่นชื่น" ทำไมต้องเลิกแสดงงานสุดฮิต (จบ):แขกรับเชิญ โดย... ปวิตร มหาสารินันทน์)