
เปิดใจ "พิเชษฐ กลั่นชื่น" ทำไมต้องเลิกแสดงงานสุดฮิต(1)
เปิดใจ "พิเชษฐ กลั่นชื่น" ทำไมต้องเลิกแสดงงานสุดฮิต(1):แขกรับเชิญ โดย... ปวิตร มหาสารินันทน์
เป็นอีกครั้งที่คนทำงานศิลปะคุยกัน เป็นเสียงของ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น และ ปวิตร มหาสารินันทน์ ในมุมความคิดและการนำเสนอการแสดงศิลปะในรูปแบบที่ถนัด มาดูกันว่า ไอเดียพวกเขาจะบรรเจิดและชักชวนให้เราก้าวสู่โลกศิลปะได้ขนาดไหน...
Q : ย้อนกลับเมื่อเดือนธันวาคม 2547 ตอนที่ “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น และตัวผม” แสดงครั้งแรกที่ภัทราวดี เธียเตอร์ ในเทศกาล Bangkok Fringe Festival 2004 ตอนนั้นอาจารย์ก็ไม่เคยชมงานของคุณเฌโรม เบล (J?r?me Bel) มาก่อน แล้วคุณถัง ฟู่ ก้วน (Tang Fu Kuen) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (artistic director) ของเทศกาลในปีนั้น ชวนให้มาทำงานด้วยกันเป็นครั้งแรก ทำไมอาจารย์ถึงตอบตกลงครับ
A : ผมคิดว่ามันเริ่มจากการเชื่อใจคุณ ฟู่ ก้วนครับ เพราะผมรู้จักเขามาหลายปี 5-6 ปีได้แล้วมั้งครับ ก็เลยลองดู เขาพูดถึงว่า มันเป็นงานที่เป็นคอนเซ็ปชวล อะไรแบบนี้ แล้วผมก็ไม่มีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ผมก็เลยคิดว่ามันน่าสนใจที่จะทำงานด้วย
Q : หลังจากการแสดงเพียงรอบเดียวในค่ำวันนั้น ไม่นานการแสดงชิ้นนี้ก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงในหลายๆ เมือง หลายๆ ประเทศที่ยุโรปในปีต่อมาทันที แล้วหลังจากนั้นก็ได้รับเชิญให้ไปจัดแสดงอีกหลายที่หลายครั้ง ผมขอดูโพยนะครับ ซัลส์บูร์ก เวียนนา ปารีส ลียง ลอนดอน ดับลิน เบรุต ซาเกร็บ วอร์ซอ เบอร์ลิน มิวนิค แฟรงกืเฟิร์ต ดุสเซลดอร์ฟ โรม มิลาน ลิสบอน ปอร์โต บาร์เซโลนา มาดริด นิวยอร์ก แอลเอ ซานฟรานซิสโก แวนคูเวอร์ เม็กซิโกซิตี้ เมลเบิร์น โซล โยโกฮามา จาการ์ตา นิวเดลี เชนไน โอ๊ย ยังไม่หมด เหนื่อยแล้วครับ ปัจจุบันกลายเป็นการแสดงที่มีผู้ชมทั่วโลกมากที่สุด ทั้งของอาจารย์และคุณเฌโรม อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไรครับ
A : คิดว่างานชิ้นนี้จริงๆ แล้ว เราพูดถึงสิ่งที่เหมือนยากมาก ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย แล้วก็เข้าใจได้
Q : เรื่องที่ยากมากนี่เช่นอะไรบ้างครับ
A : คือคนอยากรู้มากว่า จริงๆ ความหมายของศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) คืออะไร แล้วก็อยากรู้ว่ากติกาของงานประเพณีแบบเอเชีย ที่มันเป็นคลาสสิกมันควรจะดูยังไง ความหมายของท่าควรจะอ่านยังไง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนดูเองไม่รู้นะครับ ในความร่วมสมัยของผมเนี่ย ดูแค่รูปแบบ เสื้อผ้า ความสวยเท่านั้นเอง
Q : หมายถึงคนไทยใช่มั้ยครับ
A : คนยุโรปด้วยครับ เขาก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นมันก็กลายเป็นว่าเขาอยากเข้าใจในสิ่งที่เป็นเอเชีย ส่วนคนเอเชียเองก็รู้สึกดีที่จะได้เข้าใจว่า ศิลปะร่วมสมัยคืออะไร เพราะคนเอเชียเองก็พยายามเข้าใจการแสดงร่วมสมัย (contemporary performance)
Q : พยายามจะเข้าใจงานคอนเซ็ปชวลของคุณเฌโรมด้วยใช่มั้ยครับ
A : ใช่ครับ การแสดงชิ้นนี้ก็เลยเป็นงานที่ช่วยลดความไม่เข้าใจกันของสองวัฒนธรรมครับ
Q : สองวัฒนธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไทย-ฝรั่งเศส หรือเอเชีย-ยุโรปเท่านั้น แต่หมายถึงวัฒนธรรมขนบประเพณี (traditional) กับร่วมสมัย (contemporary) ด้วยใช่มั้ยครับ
A : ใช่ครับ มันทำให้ความเข้าใจผิดเนี่ยมันชัดมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นสำคัญเลย
Q : แล้วมันเป็นไปได้มั้ยครับว่า ที่งานลงตัวพอดีก็เพราะว่าศิลปินสองคนนี้มันต่างกันมาก
A : จริงๆ ผมกับเฌโรมเหมือนกัน แต่คนมักจะรู้สึกว่าผมกับเฌโรมต่างกัน
Q : คือผมมองว่า ในแง่ของพื้นฐานที่ได้รับการฝึกฝนมา อาจารย์พิเชษฐ์ฝึกฝนมาตามขนบประเพณี ในขณะที่เฌโรมเพิ่งเริ่มฝึกเต้นตอนอายุมากแล้ว แล้วตอนนี้ก็เหมือนกับว่าเขาเป็นผู้ออกแบบลีลา (choreographer) มากกว่าเป็นนักเต้น นั่นคือ เขาใช้ความคิดมากกว่าใช้ทักษะความสามารถในการเต้น ส่วนอาจารย์พิเชษฐ์เริ่มจากใช้ทักษะการเต้นมากกว่า แต่ตอนนี้เริ่มใช้ความคิดมาก
A : ใช่ครับ จริงๆ เนี่ยเฌโรมก็เริ่มจากการใช้ทักษะเหมือนกัน แล้ววันหนึ่งเขาก็เลิก เขาบอกว่าเต้นอยู่ประมาณ 10-15 ปี แล้วก็เลิกเต้น แล้วก็มามองหาสิ่งที่ให้ความหมายได้มากกว่าร่างกาย ที่บอกว่าผมกับเฌโรมต่างกันเนี่ย บางที่เราต่างกันแค่ที่ว่าทำงานที่เป็นขนบประเพณี กับงานร่วมสมัยครับ
Q : แล้วที่บอกว่าเหมือนกันคืออะไรครับ
A : คือความเชื่อครับ สองคนนี้มีความเชื่อเหมือนกันในเรื่องของการค้นหาหรือตั้งคำถามกับโรงละครหรือการละคร อันที่สองคือเราสองคนเป็นพวกตัดออกน่ะครับ ไม่ใช่พวกยัดใส่เข้าไปเยอะๆ คือเป็นพวก minimalist ครับ แล้วเราเชื่อเรื่องการนำเสนอโดยใช้ตัวแทน (representation) ไม่เชื่อเรื่องการเสนอ แบบตรงไปตรงมา (presentation) ครับ
Q : อธิบายได้มั้ยครับว่ายังไง
A : อย่างเช่นของ เฌโรม ฉากที่เป็นความตาย เขาเอาของมาโยนทิ้งไปที่พื้นแล้วให้มันตกแล้วแตกกระจาย เขาเชื่อในเรื่องนี้ แล้วมันก็เป็นความเชื่อที่เป็นความสวยงาม เป็นการนำเสนอความตาย ผมเองก็ชอบฉากแสดงความตายในโขนที่เดินนิ่งๆ ผ่านเวทีไป ซึ่งในประเทศไทยเราไม่นิยมเล่นฉากพวกนี้ เราไม่ใช่ชอบมัน แต่ผมกลับชอบ มันให้ความรู้สึกกับคนดูได้อย่างรุนแรง
Q : ที่คนไทยไม่ชอบเพราะรู้สึกว่ามันไม่ชัดรึเปล่าครับ
A : คนดูรู้สึกว่ามันไม่มีการกระทำ (action) แอ็กชั่นอะไร แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ต้องการนำเสนอเรื่องนั้น แต่ต้องการให้คนดูรู้สึก ไม่ใช่ให้คนดูเห็น แล้วเราก็เชื่อเรื่องนี้กันทั้งสองคนว่าคนต้องรู้สึกมากกว่าเห็น แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าวิธีการที่ผมเป็นที่ผมเติบโตมากับการทำงานต่างๆ กับที่เฌโรมเป็นคล้ายๆ กัน คือ ค่อนข้างจะอยู่ในมุมแคบๆ ในตอนเริ่มต้น แล้วก็เหมือนหัวกบฏน่ะครับ ไม่เห็นด้วยกับกติกา ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่มันเป็นอยู่
Q : แล้วการแสดงในช่วง 7 ปี่ที่ผ่านมามากกว่า 120 รอบ มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ลำดับ หรือรูปแบบ มากน้อยแค่ไหน ยังไงครับ
A : ใน 3 ปีแรก เราจะทำการบ้านทุกครั้งที่เล่น มันเป็นช่วงของการตัดการเลือกการเอาใส่เอาออกครับ คือ พอเวลาเล่นเสร็จแต่ละรอบจะต้องนั่งคุยกันว่า อันนี้มันไม่ใช่ อันนี้เยอะไป อันนั้นต้องเอาออก แต่พอหลังจากนั้น 4 ปีหลังเป็นต้นมา มันจะเปลี่ยนแปลงแค่เล็กน้อย ไม่มาก เพราะมันลงตัวครับ คำถามผมเชื่อมกับคำถามของเฌโรม คำถามที่ 1 ไปเชื่อมกับคำถามที่ 5 ที่ 6 อะไรแบบนี้น่ะครับ
Q : ในแต่ละประเทศในแต่ละทวีป มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับคนดูมั้ยครับ
A : ไม่มีเลยครับ มีแค่ประเทศเดียว ตอนเราไปกรุงเตหะราน ที่เราต้องตัดออกเพราะเหมือนมีคนจากกระทรวงวัฒนธรรมเขามาเซ็นเซอร์ คือเป็นฉากที่ เฌโรม เปิดพุงน่ะครับ เปิดไม่ได้ครับ เขาบอกว่ามันโป๊ แล้วก็ฉากที่เฌโรมลิปซิงค์เพลง คิลลิ่ง มี ซอฟต์ลี่ (Killing me softly) น่ะครับ เฌโรมต้องร้องสดครับ แล้วก็ต้องร้องให้มีเสียงด้วยนะครับ เพราะไม่งั้นเฌโรมจะกลายเป็นกะเทย แล้วก็เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เดียวที่ก่อนแสดงเราต้องซ้อมให้เขาดูก่อน เขาจะได้เซ็นเซอร์ เขาเป็นประเทศมุสลิมน่ะครับ
(ติดตามต่อจบได้ในวันพุธที่
...................
(หมายเหตุ เปิดใจ "พิเชษฐ กลั่นชื่น" ทำไมต้องเลิกแสดงงานสุดฮิต(1):แขกรับเชิญ โดย... ปวิตร มหาสารินันทน์)