
เนื้อหาอนาล็อก
เนื้อหาอนาล็อก:มองผ่านเลนส์คม โดย... แคน สาริกา
สัปดาห์ที่แล้ว กสทช.กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และปิดฉากระบบอนาล็อก
เรากำลังจะได้รับชมทีวีดิจิทัล 100 ช่อง หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งในร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 ได้กำหนดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 6 ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ
1.มีการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ภายใน 4 ปี
2.มีจำนวนครัวเรือนในเมืองใหญ่ที่สามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 5 ปี
ฟังคำแถลงของ กสทช.แล้วอดตื่นเต้นเสียมิได้ ลำพังทีวีดาวเทียม 100 กว่าช่อง เคเบิลทีวีมากกว่า 500 ราย ก็ว่ามากมายก่ายกอง เจอทีวีดิจิทัลอาจทำให้ทีวีดาวเทียมกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์
จริงๆ แล้ว คนไทยก็ได้ดูทีวีดิจิทัลผ่านทางทรูวิชั่นส์ ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณไฮเดปให้แก่สมาชิกฟรีๆ เพื่อทดลองชมรายการ 3 ช่อง ก่อนจะตกหลุมสุดยอดความคมชัดของภาพ จ่ายค่าสมาชิกเพิ่ม หลังจากพ้นระยะเวลาดูฟรี
ชอบคำเปรียบเทียบของ สุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและเทคโนโลยี อสมท ที่บอกว่า ระบบอนาล็อกเปรียบเหมือนรถเกียร์แมนนวล ส่วนระบบดิจิทัลเปรียบเหมือนรถเกียร์ออโต้ ที่มีลูกเล่นตอบสนองผู้ใช้เยอะมาก โดยจะมีการเพิ่มช่องให้มากขึ้น
แต่ปัญหาเครื่องรับทีวีในปัจจุบัน ไม่มีจูนเนอร์รับดิจิทัล ต้องมีตัวเซตท็อปบ็อกซ์เพื่อแปลงให้รับดิจิทัลได้ หากกำหนดนโยบายว่าเป็นระบบไหน โรงงานก็จะผลิตมาเลย
หากเปลี่ยนเป็นดิจิทัล รัฐบาลต้องมีส่วนช่วยชาวบ้านในการจัดหาเครื่องเซตท็อปบ็อกซ์ สำหรับเสาอากาศนั้น อนาคตจะไม่เห็นเสาหนวดกุ้งแล้ว แต่อาจจะมีลักษณะคล้ายเสามือถือโดยติดแนบกับจอทีวี
อย่างไรก็ตาม บอร์ด กสทช.คนหนึ่งบอกว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปดิจิทัลอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เมื่อถึงจุดหนึ่งที่อนาล็อกต้องยุติไป ก็ต้องมีกลไกในการช่วยเหลือให้ดิจิทัลมีคุณภาพ มีคนต้องการ และคนก็พร้อมจะเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัล ก่อนที่จะมีการสนับสนุนอุปกรณ์เซตท็อปบ็อกซ์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ
โดยแผนแม่บทกำหนดให้ระบบดิจิทัลดำเนินการได้ แต่ระบบอนาล็อกก็ต้องคุ้มครองด้วย สรุปง่ายๆ ชาวบ้านร้านตลาดอย่าแตกตื่นเอาเครื่องรับทีวีไปทิ้ง หรือแห่ซื้อทีวีรุ่นใหม่ตามคำโฆษณา
เรากำลังถกกันถึงเรื่องเทคโนโลยี แต่ด้านเนื้อหายังเป็นอนาล็อก ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวีหรือทีวีดาวเทียม โดยเฉพาะเนื้อหาการเมือง
ได้ฟังเจ้าของเคเบิลทีวีที่ดึงเอา "จอมีสี" ทุกสีทุกขั้วเข้ามาไว้ในแพล็ตฟอร์ม ด้วยข้ออ้างว่า เปิดกว้างให้ทุกคนเลือกเสพข่าวสารโดยเสรี เพราะบ้านเราเป็นประชาธิปไตย
แต่ในความเป็นจริง เส้นแบ่งระหว่างสื่อสารมวลชนกับกระบอกเสียง มันบางมากสำหรับคนบางกลุ่ม และมันหนาเตอะในมุมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมองเห็นชัดว่ามันเป็นสื่อประเภทไหน
นับวันการเลือกดูทีวีเฉพาะกลุ่มจะมีมากขึ้น และนักการเมืองก็จะพึ่งสื่อกระแสหลักน้อยลง เพราะมั่นใจในสื่อของกลุ่มตัวเองที่สื่อสารโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย
สังเกตได้จากชั่วโมงนี้ นักข่าวต้องหันมานั่งเฝ้าหน้าจอมีสี คอยเกาะติดนักการเมืองที่ใช้สื่อของกลุ่มตัวเองแสดงความเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม
เมื่อแหล่งข่าวกลายเป็นผู้ผลิตเนื้อหาข่าวผ่านช่องทางของตัวเอง สื่อกระแสหลักจะทำอย่างไร? มันท้าทายเสียยิ่งกว่าอนาล็อกจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัล !
...................
(หมายเหตุ เนื้อหาอนาล็อก:มองผ่านเลนส์คม โดย... แคน สาริกา)