บันเทิง

ณ ขณะนี้ (I)

ณ ขณะนี้ (I)

20 ก.พ. 2555

ณ ขณะนี้ (I):เล่นหูเล่นตา โดย... เจนนิเฟอร์ คิ้ม

           ฉันตื่นขึ้นหลังเที่ยง … หลับเหมือนคนตาย หลังจากสะบักสะบอมกับการเดินทางและงานหนัก แถมด้วยอาการปวดท้องเมนส์ ปวดเนื้อ ปวดตัว ปวดหัวสารพัด (ตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไร … แค่อยากจะ ‘ อวด ’ ว่ายังมีเมนส์อยู่! แม้ดูจากสภาพจะไม่น่าเชื่อถือก็ตาม) …
 
          การตื่นขึ้นมากับตัวเองอย่างไม่รีบร้อนและพบว่ายังมีชีวิตอยู่ ณ ขณะนี้ช่างวิเศษจริงๆ (แม้จะไม่มีคนหน้าตาดีอยู่ข้างๆ) ฉันตื่นขึ้นมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 มันก็เหมือนกับทุกๆ วัน เสียงจากโรงเรียนอนุบาลใกล้ๆ คอนโด ดังผ่านไมโครโฟน  เสียงอู้อี้ที่เรียกชื่อเด็กๆ ซึ่งผู้ปกครองมารับ เด็กบางคนเกิดจากความตั้งใจ บางคนเกิดจากความบังเอิญ หรือแม้บางคนอาจจะเกิดจากเงื่อนไขบางอย่างทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาก็เกิดมาและเติบโตไปตามกาลเวลาพร้อมที่จะให้ทั้งคุณและโทษกับครอบครัวและสังคมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เลี้ยงให้ดีอาจจะไม่ได้ดี เลี้ยงตามมีตามเกิดก็อาจจะได้ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองที่จะมีธรรมชาติดั้งเดิม อาจเรียกว่าต้นทุน 
 
          ความดีในจิตใจที่ติดตัวมาแต่กำเนิดที่แข็งแกร่งเพียงใดและสามารถต่อต้านกับสิ่งเร้าอันเลวร้ายได้แค่ไหน เด็กบางคนราวกับว่าเป็นพระกลับชาติมาเกิด บางคนก็ยิ่งกว่าเป็นมารหนีมาเกิด และหลายดวงมาจากดวงวิญญาณสัมภเวสีไม่มีที่จะไป ถ้ามองในทางธรรมะ … แต่ในทางโลกนั้นเด็กทุกคนคือผ้าขาวที่ถูกย้อมสีแต้มลายตามการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีสิ่งใดมารับรองได้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นคนดีหรือเลว แต่ประเด็นกลับอยู่ตรงที่หากเลวแล้วจะกลับตัวได้หรือไม่? ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญกว่า! … การมีลูกจึงเหมือนกับการเดิมพันด้วยชีวิตและความภาคภูมิใจของพ่อแม่ (แค่คิดก็มดลูกหดเสียแล้ว!) …
 
          เสียงของเด็กอนุบาลเงียบลงไปแล้ว ฉันกลับมาอยู่กับความสงบอีกครั้ง สงบจนฉันคิดไปได้เองว่า ท่ามกลางความสงบนั้นบางทีจิตวิญญาณดวงน้อยๆ  หลายพันดวงคงกำลังคุยกันเจี๊ยวจ๊าวในมิติคู่ขนานกับเวลาอันเงียบเชียบ ณ ขณะนี้ บางทีสาระคงมีอยู่ว่า “ คืนนี้ใครจะได้ไปหล่นอยู่ในท้องของใคร? ” แล้วจะมีโอกาสได้อยู่ในนั้นครบ 9 เดือนหรือไม่ ถ้าไม่คงต้องรอปีต่อไป ราวกับว่าประตูแห่งวิญญาณที่กำลังจะไปเกิดจะเปิดกว้างที่สุดในวันนี้ … “ วันวาเลนไทน์ ”
 
          “ฉันอยากไปเกิดเป็นลูกของคนคู่นี้ ”
          “ก็ไปสิคืนนี้ ” ดวงวิญญาณสีขาวนวลแบบวอร์มไลท์ 2 ดวง กำลังคุยกัน (ถ้าใครจะได้ยิน)
          “ไม่ได้หรอก ” ดวงวิญญาณสีขาวนั้นซีดหม่นลงในทันที
          “ทำไมล่ะ? ” แสงสีขาวของวิญญาณอีกดวงสว่างจ้าขึ้นด้วยความอยากรู้
 
          “เขาจะป้องกันไม่ให้ฉันเข้าไปได้ในคืนนี้ด้วยอะไรบางอย่างที่เป็นยางบางๆ แต่เหนียว มันเหมือนยันต์ทำให้ฉันทะลุเข้าไปไม่ได้น่ะสิ ”
 
          หลายสิ่งบนโลกนี้ก็มิได้เป็นไปตามบุญตามกรรมเสียทั้งหมด ยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์แล้ว อุบัติเหตุอาจไม่ใช่ข้ออ้างที่ฟังขึ้นอีกต่อไปสำหรับคนที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร …
 
          ฉันอยู่อย่างมีความสุขตามอัตภาพด้วยการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่ฉันรัก แม้บางวันจะต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเองก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องคิดและทำ เมื่อความรับผิดชอบมาก่อนความรักและเป้าหมายของชีวิตมันยิ่งใหญ่กว่าแค่อารมณ์ (รัก-ใคร่) หลายครั้งก่อนวันนั้นของเดือนผู้หญิงก็มักจะมีอารมณ์พลุ่งพล่านร่านเสียวเจี๊ยวจ๊าวโวยวาย ก็พอเข้าใจได้ว่ามันมีสาเหตุจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มันพุ่งปรี๊ด เมื่ออยู่อย่างเข้าใจว่า “ ทุกสิ่งย่อมมีเหตุและผล ” เมื่อนั้นเราก็รู้เท่าทันมัน การควบคุมก็ทำได้ง่ายหรืออย่างน้อยก็เข้าใจว่าทำไมถึงกลายเป็น “ อีบ้า! ” ในบางวัน … ชีวิตโสดอันวุ่นวายของฉันไม่ได้ถูกจำกัดด้วยการยึดวิถีธรรมคำสอนเฉพาะทางหรือเฉพาะอาจารย์เป็นกรอบในการดำรงชีวิต ฉันเรียนรู้ชีวิตและแนวทางอันควรจากสิ่งรอบตัว ตั้งแต่คน สัตว์ หนังสือ ภาพยนตร์ ไปจนถึงสารคดี บางทีแค่วิถีของอาหารก็สะท้อนถึงวิถีของคน ช่องดิสคัฟเวอรีมีเชฟญี่ปุ่นที่เป็นระดับเทพของการทำอาหารที่ผสมผสานธรรมชาติและปรัชญาของศาสนาพุทธนิกายเซนเข้าด้วยกัน ทำอาหารจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในฤดูกาลนั้นๆ  ตกแต่งประดับประดาออกมาราวกับภาพวาดของธรรมชาติอันงดงาม นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า เซน (Zen) คือ “ การอยู่กับปัจจุบัน ” ไม่ต้องไปไขว่คว้าหาอะไรที่มันไกลกว่า ณ ขณะนี้ ไม่หาอะไรที่มันไม่มีหรือหายากในช่วงเวลานั้นมาเติมเต็มความพึงพอใจเพื่อตอบสนองความอยากอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ตรงกับคำสอนของพ่อหลวงว่า   “อยู่อย่างพอเพียง” ที่ว่าไว้ว่า “สิ่งใดที่มีอยู่และดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องไปหาสิ่งอื่นมาทดแทน” นั่นคือการกำหนดความพอดีให้แก่ชีวิต ไม่ต้องมองหาสิ่งที่ดีกว่าเสมออันจะนำไปสู่ความโลภอย่างไม่สิ้นสุด การอยู่กับปัจจุบันและอยู่อย่างพอเพียง มีแก่นที่ร่วมกันอยู่ก่อนตรงที่ต้อง “พอใจ” ในสิ่งที่มีอยู่ก่อน และ “สำนึก” ถึงคุณค่าที่มีอยู่ในสิ่งนั้นๆ คนญี่ปุ่นสำนึกว่า “อาหารญี่ปุ่นนั้นสุดยอด” และทำให้ทุกๆ คนสำนึกร่วมกัน มันจึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งและกลายเป็นจุดขาย (จุดแข็ง) ที่ทำให้คนชาติอื่นๆ เชื่อตาม ในทางเดียวกันอาหารไทยนั้นสุดยอดไม่เป็นรองใคร มันสะท้อนถึงทุกสิ่งที่เป็นไทย แต่คนไทยรุ่นใหม่กลับมองข้าม “สำนึก” นั้น เห็นได้จากจำนวนร้านและราคาของอาหารต่างชาติที่พุ่งทะยานขึ้นกลบค่านิยมเดิมๆ ของไทยให้กลายเป็นแค่ร้านข้าวแกงหรืออาหารตามสั่ง ไม่ใช่แค่อาหารแต่ลามไปถึงศิลปิน ยิ่งคิดยิ่งปวดใจ ปวดติ่งทุกติ่งที่มีอยู่ในตัว ในอนาคตคงจะหมดความเป็นเรา เหลือแค่ความเป็นเขา ถึงเวลานั้นฉันก็คงตายไปแล้ว (ดีที่ไม่ต้องรับรู้)
 
          เรามีจุดแข็งในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมอันดีงามมากมายที่แสดงถึงความเป็น “เรา” แต่เด็กรุ่นหลังกลับไม่ใส่ใจ เพราะอยากจะเป็นคนชาติอื่น มันหมายความว่า “ง่ายที่จะเลียนแบบ แต่ยากที่จะเป็นตัวเอง ” เพราะยังหาตัวเองไม่เจอ วิธีง่ายๆ ที่จะหนีจากตรงนั้นจึงต้องเป็นอย่างอื่นไปเลย ก็ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่ พวกเขาเหล่านั้นจะโตเป็นผู้ใหญ่พอที่จะเข้าใจว่า
 
          จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (อย่างพอเพียง) ณ … ขณะนี้
...................
(หมายเหตุ ณ ขณะนี้ (I):เล่นหูเล่นตา โดย... เจนนิเฟอร์ คิ้ม)