บันเทิง

๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร (๓)

๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร (๓)

17 ก.พ. 2555

๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร (๓):คมเคียวคมปากกา โดย... ไพวรินทร์ ขาวงาม

เขียนต้นฉบับวันพุธที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕  แรม ๘ ค่ำ  เดือน ๓
 
          วันเวลา ๒๐ ปีของอะไรสักอย่างในชีวิตคนเรา  มันก็ไม่มากนัก  แต่ไม่น้อยเลยสำหรับจุดเปลี่ยนในชีวิตและกิจกรรมการงานต่างๆ หลายหน่วยงาน-หลายองค์กรได้ฉลองวาระครบรอบ ๒๐ ปีบ้าง  หลายคู่สมรสได้ฉลองวาระครบรอบ ๒๐ ปีบ้าง 
 
          มองย้อนหลัง ๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จึงเห็นหลายอย่างอยู่ในระยะสายตา  สิ่งหนึ่งนั้นคือแรงบันดาลใจ  อันก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนสำหรับผู้คนมากหน้าหลายนาม  หลายคนพบกันบ่อย จนกลายเป็นความคุ้นเคยเหมือนอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ผมก็เหมือนนักรบรับจ้างที่จรยุทธ์ไปปฏิบัติหน้าที่ตามค่ายต่างๆ เท่าที่ได้รับเชิญ แต่นานเข้าก็กลายเป็นพี่เป็นน้อง กลายเป็นครู กลายเป็นอาจารย์ สุดแท้แต่ใครจะเรียก
 
          คิดดูแล้ว วิชาชีพที่เข้าทางกันได้ในเนื้อหาเดียวกัน ก็คือวิชาชีพการสอนหนังสือ และวิชาชีพการเขียนหนังสือ ครูกับนักเขียนจึงได้พบปะพึ่งพากันเสมอ ครูก็ต้องอยู่กับเอกสาร อยู่กับการค้นคว้า อยู่กับตำรา อยู่กับวิชาการ อยู่กับการเขียนการอ่าน อยู่กับหนังสือ อยู่กับการสื่อสาร  และคนเขียนหนังสือแม้ไม่ได้รับราชการหรืออยู่ในระบบรั้วสถาบันใด  ก็มีวัตรปฏิบัติหลายอย่างที่คล้ายกันนั้น 
 
          สำหรับ ครูไพฑูรย์  ธัญญา  บังเอิญเขาเป็นนักเขียนอยู่ในตัว  เป็นครูด้วย  เป็นศิลปินด้วย  สอนหนังสือก็หนัก  ยังทำงานหนักทางวรรณกรรมด้วย  ลักษณะเช่นนี้มีให้เห็นไม่น้อย  ที่นึกได้ตอนนี้ก็เช่น ครูพนม นันทพฤกษ์ และ ครูวีระ  สุดสังข์ เป็นต้น
 
          สำหรับผม แม้มิได้เป็นครู แต่ทำไปทำมา ก็กลายเป็นครูสำหรับหลายคนไปโดยปริยาย ที่ตอนเป็นเด็กฝันอยากเป็นครูแต่ไม่ได้เป็นนั้น ก็คงจะได้เป็นครูในแบบหนึ่งกับเขาตอนนี้กระมัง
 
          แต่หากถามว่าทำได้ไหม หากให้ไปรับราชการสอนประจำที่ไหนสักแห่ง คงต้องบอกว่าทำไม่ได้อย่างแน่นอน ขนาดหลายแห่งจะให้ไปสอนพิเศษเป็นบางวันบางเวลายังทำไม่ได้เลย แต่ถ้ามีโรงเรียนตามป่าตามเขา แม้ต้องเดินทางโยกโยนตัวเองลำบากและไกลหน่อย ก็ยินดีไป 
 
          นอกจากความเป็นคนสอนหนังสือและคนเขียนหนังสือจะสอดคล้องกันแล้ว ลองสังเกตอีกชั้นหนึ่งก็คือ อาชีพครูเป็นอาชีพที่ดำรงรักษาความใฝ่ฝันในวัยหนุ่มสาวไว้ได้ยาวนานที่สุด ในวัยหนุ่มสาวที่เล่าเรียนในวิยาลัยครูหรือที่ไหนก็ตาม หลายคนที่มีอุดมคติ มีความใฝ่ฝันทางการประพันธ์ เมื่อเรียนจบออกมาเป็นครูแล้ว เชื้อไฟจากวันเวลานั้นก็จะยังติดตัว  มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล แต่ที่เห็นเข้มข้นเสมอต้นเสมอปลายก็มีไม่น้อย กระทั่งบางคน-บางทีแทบจะแยกไม่ออก เขาเป็นครู หรือศิลปินกันแน่?         
    
          สมมุติเขาเรียนจบมาแล้ว บังเอิญชีวิตได้ไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ค้าขาย เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นนายธนาคาร แม้จะรักชอบทางการประพันธ์ แต่ลักษณะหน้าที่การงานก็คงจะเอื้อเวลาได้ไม่มากนัก
 
          ผมถึงว่า อาชีพที่ดำรงรักษาความใฝ่ฝันทางการประพันธ์ไว้ได้ยาวนานที่สุด ก็คืออาชีพครู
 
          ๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร แม้ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมด้วยทุกปี แต่ก็มีส่วนได้เห็นความเคลื่อนไหว เห็นการแตกแขนง เห็นกิ่งก้านสาขา เห็นดอกเห็นผล อย่างนักศึกษาสมาชิกค่ายหลายคนเมื่อหลายปีก่อนนั้น  วันนี้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้วก็มี เช่น ชัชวาลย์ โคตรสงคราม และ กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล เป็นต้น
 
          บางปี-บางที หลังเลิกกิจกรรมค่าย นั่งรถกลับคันเดียวกับ ครูไพฑูรย์ ธัญญา ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยสรุปงาน กินดื่มคลายเหนื่อย ทำให้รับรู้ความในใจของคนจัดงานไม่น้อย การทำกิจกรรมย่อมมีปัญหา  มีแรงกดดัน  มีแรงเสียดทาน  ยิ่งเป็นกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันการศึกษา  ย่อมมีเรื่องการเมือง  การเงิน  การงบประมาณ อะไรสารพัด 
 
          บางครั้ง-ผมได้ยินเสียงถอนหายใจของเขา ได้ยินเสียงบ่นเบื่อ บ่นเหนื่อย และอยากเลิก แต่พอถึงช่วงกิจกรรมของอีกปี เขาก็จัดกิจกรรมครั้งใหม่อีก-เหมือนความเหนื่อยนั้นมลายหายไปในสายลม!

...................
(หมายเหตุ ๒๐ ปี วรรณกรรมสัญจร (๓):คมเคียวคมปากกา โดย... ไพวรินทร์ ขาวงาม)