
สะใจได้ฉีกแบงก์
สะใจได้ฉีกแบงก์:รู้ทันกฎหมาย โดย... ศรัณยา ไชยสุต
วิพากษ์กันมากมายในเรื่องการฉีกธนบัตร จัดเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ยาวไปถึงประเด็นร้อนทางการเมืองเรื่องหมิ่นฯ เกิดเรื่องไม่กินเส้นกันในวงกาแฟ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ดีว่าเงินที่เราใช้กันทุกวันนี้เป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ออกโดยรัฐบาลไทยเพื่อให้ประชาชนใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์หรือกระดาษธนบัตรก็ตามที และคนที่มีไว้ในครอบครองถือเป็นเจ้าของเงินนั้น
เมื่อเป็นเจ้าของก็ย่อมมีสิทธิจะนำไปใช้ ไปให้ หรือทำอะไรก็ได้กับเงินของตน ไม่เอาไปฝากธนาคาร จะนำไปฝังดินหรือโยนทิ้งกลางอากาศก็ย่อมทำได้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งการฉีกทำลายเสีย
ธนบัตรที่เราใช้กันทุกวันนี้ อาจมีคนสงสัยว่าเป็นเอกสารหรือไม่ คำว่า เอกสาร คือสิ่งที่มีรูปร่าง ซึ่งแสดงความหมายและประสงค์จะให้เป็นหลักฐาน
ในทางกฎหมายเอกสารมีชื่อให้ต้องรู้อีก 3 ตัวหลักๆ ได้แก่ เอกสารสิทธิ คือเอกสารที่มุ่งประสงค์จะให้เป็นหลักฐานแห่งสิทธิ และเอกสารราชการ คือเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขุ้น หรือรับรองในหน้าที่ กับสุดท้ายคือเอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการ
ธนบัตรอาจเรียกได้ว่า “เอกสาร” และอ่านในธนบัตรจะเขียนไว้ชัดว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” แปลแบบลูกทุ่งก็คือ มันเป็น “เงิน“ นั่นเอง
ดังนั้น เมื่อเราเป็นเจ้าของเงิน เราจะใช้อย่างไรหรือทำอย่างไรกับมันก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แม้แต่จะฉีกทำลายเสีย แต่เมื่อฉีกเมื่อทำลายหรือเสียหายแล้ว กฎหมายเงินตราท่านบอกว่า ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เงินที่เราจะฉีกจะทำลาย หากไม่ใช่เงินของเรา ก็เกิดความรับผิดเกิดขึ้น หากเจ้าของเงินเขาเสียหาย เขาย่อมเอาเรื่องเราได้ อย่างแรกก็คือ ต้องคืนเงินให้เขาไป เป็นเรื่องทางแพ่ง อีกอย่างก็คือ การเอาเงินเขาไปเป็นการลักทรัพย์
การคืนเงิน ไม่จำเป็นต้องคืนธนบัตรฉบับเดิมที่ฉีกทำลายไป ต้องคืนเท่ากับจำนวนเงินที่เอาไป
ฉีกธนบัตรไม่ใช่การทำลายเอกสารราชการ เมื่อธนบัตรคือเงิน และเงินก็ถือเป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง
การทำลายธนบัตรก็อาจเสี่ยงต่อข้อหา ทำให้เสียทรีพย์ได้ โดยผู้เสียหายคือเจ้าของทรัพย์นั้น ไม่ใช่รัฐบาลหรือราชการที่ไหน หากเจ้าของเขาไม่เอาเรื่องก็ช่วยไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็อย่าได้เลียนแบบการฉีกแบงก์ให้สะใจสนองอารมณ์ไร้คุณภาพแบบนี้ เงินที่ฉีกไป ถือว่าเป็นธนบัตรที่ชำรุด เจ้าของเงินสามารถขอออกธนบัตรใหม่ได้ แต่มีหลักเกณฑ์เงื่อนไข คงต้องเอาไว้คุยต่อในฉบับหน้าแล้วกัน
...................
(หมายเหตุ สะใจได้ฉีกแบงก์:รู้ทันกฎหมาย โดย... ศรัณยา ไชยสุต)