บันเทิง

ชรัส เฟื่องอารมย์การกลับมาของผู้ชายมาดนุ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชรัส เฟื่องอารมย์การกลับมาของผู้ชายมาดนุ่ม:กวนเพลงให้น้ำใส โดย... อนันต์ ลือประดิษฐ์

          สัปดาห์นี้ ผมหยิบ “น้ำพริกถ้วยเก่า” มาฝากครับ
 
          ไม่ใช่ใครที่ไหน ชรัส เฟื่องอารมย์ กับงานชุดนี้ ที่ชื่อ “น้ำพริกถ้วยเก่า” กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ "คม ชัด ลึก อวอร์ด" ประเภทเพลงไทยสากลพอดี
 
          ชรัส เป็นนักร้องเสียงดีในยุค 80 น้ำเสียงของเขามีเอกลักษณ์ ด้วยบุคลิกภาพอบอุ่น มีเสน่ห์ กับสไตล์ดนตรีที่กระเดียดไปทางป๊อปแจ๊ส ทางเดินคอร์ดมีเชนจ์สวยๆ คอร์ดแปลกๆ ซึ่งถือว่าเป็นทั้งความก้าวหน้าและแปลกใหม่สำหรับวงการเพลงไทยในยุคก่อน ภายใต้การดูแลโปรดิวเซอร์ พนเทพ สุวรรณะบุณย์ แห่งวง “แฟลช” ซึ่งเมื่อกาลก่อนเคยเล่นประจำอยู่ที่ เดอะ ไนล์ โรงแรมแมนดาริน
 
          สำหรับภาพรวมของ “น้ำพริกถ้วยเก่า” น่าจะเป็นมินิอัลบั้ม หรือ “อีพี” มากกว่า “แอลพี” เพราะจากทั้งหมด 8 เพลง มีเพลงใหม่จำนวนหนึ่ง และที่เหลือเป็นเพลงเก่าที่นำมาเรียบเรียง ร้องบรรเลง และบันทึกเสียงใหม่ ซึ่งให้ความไพเราะไปอีกแบบ
 
          ศูนย์กลางของอัลบั้ม คือเสียงร้องของ ชรัส ที่ยังสุขุมลุ่มลึก ให้ความรู้สึกอบอุ่น และสะท้อนด้านโรแมนติก เหมือนอย่างเคยแล้ว ภาคดนตรีในคราวนี้ เป็นหน้าที่ของ อนุกูล บูรณะคุปต์ โดยมีเพื่อนนักดนตรี อย่าง ธเนส สุขวัฒน์, ศรายุทธ สุปัญโญ และ เมธี ทวีทรัพย์ ร่วมบรรเลง พร้อมด้วยนักร้องที่มาร่วมร้องคอรัสมากมาย เช่น "อุ้ย" รวิวรรณ จินดา, "ตุ๊ก" วิยะดา โกมารกุล ณ นคร, "ฟอร์ด" สบชัย ไกรยูรเสน, "จุ๋ม" นรีกระจ่าง, "กบ" ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, มาลีวัลย์ เจมีน่า, ป้อม ออโต้บาห์น, "ปั่น" ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว จนถึง "เท่ห์" อุเทน พรหมมินทร์
 
          เริ่มต้นด้วยเพลงแรก แม้จะเป็น “บอสซา โนวา” (ซึ่งผมกำลังอยู่ในอาการเลี่ยนกับจังหวะนี้เต็มที เพราะทำกันมากและซ้ำซากเหลือเกิน) แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า เพลง “น้ำพริกถ้วยเก่า” คือไฮไลท์ของงานนี้ ที่สะท้อนตัวตนและความเป็นไปของนักร้องหนุ่มใหญ่คนนี้ได้ดี ตั้งแต่คำร้องที่เหมาะเจาะ สื่อตรงถึงความหมาย จนถึงภาคดนตรีที่คลี่คลายอย่างเป็นธรรมชาติ โปร่งเบา และรื่นรมย์
 
          “เพลงหลากหลายนำสมัย ไม่นุ่มนวลเหมือนเพลงเก่า เสียงนักร้องไม่ถูกหูไม่ถูกใจ ไม่นุ่มนวล เหมือนนักร้องรุ่นเก่า..."
 
          เพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม แม้ไม่เด่นนัก แต่ก็มีคุณค่าควรแก่การฟังเช่นกัน เริ่มจาก “ทรีท มี ทูไนท์ (Treat Me Tonight - ไม่ใช่ Teach Me Tonight เพลงของ จีน เดอ พอล) ถือเป็นการกลับมาของเพลงรักของคนรุ่นเดอะ ที่หลายคนคงฟังแล้วน่าจะรู้สึกกระชุ่มกระชวยยิ่งกว่ากินโสมเกาหลีเสียอีก (ฮา) ด้วยชั้นเชิงการถ่ายทอดน้ำเสียงของชรัส กับเสียงร้องคอรัส และการเชื่อมต่อของท่อนแร็พ เป็นไปอย่างลงตัว 
 
          อินโทรของเพลง “ยังไม่แก่เกินไปที่จะรัก” ชวนให้เกิด “เรฟเฟอเรนซ์” ถึงเพลงป๊อปแจ๊สสากลอีกเพลงขึ้นมาตงิดๆ ยิ่งทำนองยิ่งละม้ายใช่ ...  แต่ด้วยคำร้องของเพลง มีมิติและบรรยากาศร่วมสมัย แน่นอนทีเดียวว่าน่าจะสร้างความกระชุ่มกระชวยในใจผู้ฟังรุ่นราวคราวเดียวกับ ชรัส ได้ไม่น้อย
 
          “ก็ยังฟังเพลงหวาน ดูหนังเศร้า ฉันยังเฝ้าติดตามเสมอ ก็ยังเพียรถาม ยังขอจันทร์ให้พบเจอคนเข้าใจ ยังอ่านหนังสือนิยาย ยังแชทยังดาวน์โหลดเพลงฟังอยู่ เมื่อมาเจอคนที่เข้าใจ ทำให้ใจฉันมันหวั่นไหว...”
 
          ตามมาด้วย “โบกบิน” บทเพลงดีๆ อีกเพลงที่ฝากลายเซ็นของ ชรัส อย่างชัดเจน งดงามและลงตัว 
 
          ในช่วงท้ายอัลบั้ม มีเพลงเก่า อย่าง “นึกถึงฉัน” ของ มาลีวัลย์, “รักนิรันดร์” ของ ปั่น และ “อัศจรรย์รัก” ที่ชรัสนำมาตีความอีกครั้งในลีลาแตกต่างออกไป
 
          ใครที่เคยหลงใหลบทเพลงยุคแรกๆ อย่าง “รู้อยู่แก่ใจ” , “ผีเลื้อ” , “อัศจรรย์รัก” , “รักเองช้ำเอง” หรือบทเพลงในเวลาต่อมา อย่าง “ทั้งรู้ก็รัก” , “คนไม่มีวาสนา”  ผมคิดว่า งานใหม่ของ ชรัส เฟื่องอารมย์ ชุดนี้ จักช่วยลดทอนความคิดถึงที่มีต่อศิลปินลงไปได้บ้าง.
...................
(หมายเหตุ
ชรัส เฟื่องอารมย์การกลับมาของผู้ชายมาดนุ่ม:กวนเพลงให้น้ำใส โดย... อนันต์ ลือประดิษฐ์)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ