บันเทิง

หนีน้ำเที่ยววัดโพธิ์เก้าต้น

หนีน้ำเที่ยววัดโพธิ์เก้าต้น

01 พ.ย. 2554

หนีน้ำเที่ยววัดโพธิ์เก้าต้น:ศิลป์แห่งแผ่นดิน โดย... ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

          พาเด็กๆ หนีน้ำเที่ยววัดไปจนกว่าน้ำจะลด เกือบ 3 เดือนแล้ว ผมยังเข้าบ้านไม่ได้ ถึงวันนี้น้ำยังอยู่ระดับเข่า ผมต้องรอจนถนนอีก 7 กิโลเมตร แห้งนั่นแหละ
 
          ตัวจังหวัดสิงห์บุรี สามารถต้านทานน้ำได้อย่างทรหด แม้จะต้องเสียพื้นที่บางส่วนไปบ้าง ผมขับรถจากบ้านแม่ที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท (ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ไปตามถนนสายเอเซีย ข้ามสะพานที่จังหวัดสิงห์บุรี ไปฝั่งตะวันตก มุ่งไปอำเภอค่ายบางระจัน แวะไหว้พระนอนจักรสีห์ แล้วพาเด็กๆ ไป “ดูควาย” ใช่แล้วครับท่านผู้อ่าน เดี๋ยวนี้อยากเห็นควายคงต้องไปดูที่ที่เขาจัดแสดงควาย ที่ศรีประจันต์ มี “บ้านควาย” ให้ชม ที่วัดพระนอนฯ นี่ก็มีควายเขาโง้งที่เคยเข้าฉากภาพยนตร์มาหลายเรื่อง มีควายด่อน หรือควายเผือก ผิวกายสีชมพู เด็กๆ ของผมชอบควายกันมาก ถึงขั้นขอดูควายก่อนไหว้พระ ผมยังได้เดิน “ดูผัก” เจอผัก “เท้ายายม่อม” ด้วยครับ เรียก “เท้าย่าม่อม” ก็ได้ จะย่าจะยายก็ผู้หลักผู้ใหญ่ของเรา มีรสขมนิดๆ กินสดๆ กับน้ำพริกปลาร้าหรือปลาร้าสับ ยังได้ “มะเขือน้ำหยด” (หรือ “หยดน้ำ”) มะเขือกรอบ ผิวลาย ขนาดเล็ก รูปทรงคล้ายหยดน้ำ สมนาม “น้ำหยด” ติดมือมาด้วย
 
          จากวัดพระนอนฯ เลยมาอีกไม่ถึง 10 นาที ถึงวัดโพธิ์เก้าต้น ที่มีตำนานชาวบ้านบางระจันนั่นแหละครับ ผมต้องสวมวิญญาณชาวบ้านยุคนั้นเล่าเรื่องให้ลูกฟังเป็นตุเป็นตะ เริ่มตั้งแต่พระอาจารย์ธรรมโชติ จากวัดเขานางบวช มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่า มีชาวบ้านจากวิเศษไชยชาญ นายดอก นายแก้ว ซึ่งลวงทหารพม่าไปฆ่า ได้หลายคน ได้อพยพลงมาสมทบกับชาวบางระจัน มีนายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว เป็นพระเอก นายโชติ นายอิน นายเมือง นายทอง แสงใหญ่ ขุนสรรค์พันเรือง ล้วนแต่เป็นบุคคลในตำนาน ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่าง “ประติมากรรม” ณ อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน ที่ตั้งอยู่ในสวนที่จัดวางภูมิทัศน์งดงาม อยู่ตรงข้ามกับวัดโพธิ์เก้าต้น
 
          วีรชนบางระจัน สามารถต่อสู้กับพม่าได้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ตีพม่าหน้าแตกกลับไปถึง 7 ครั้ง จนครั้งที่ 8 ทัพพม่าจึงสามารถทำลายค่ายบางระจันได้
 
          ปัจจุบันเหลือเพียงตำนานเล่าขานสืบมาที่มีหลักฐานให้ค้นคว้าก็ปรากฏในมิติประวัติศาสตร์
 
          ในบริเวณวัดยังมีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ ทราจัตุรมุข มีรูปเคารพพระอาจารย์ให้กราบบูชา
          หน้าอุโบสถ(แบบร่วมสมัย) มีต้นลาน ใกล้ต้นลานมีศาลทองเหม็นที่เท่สุดตรงที่ขี่ควายเขาโง้ง
 
          พาครอบครัวหนีน้ำเที่ยววัดกราบพระพุทธรูปมาหลายองค์ น้ำยังไม่ลงก็ไม่เป็นไร ผมยังมีเวลาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนร่วมชะตากรรม...
 
          ทำใจยอมรับว่าน้ำท่วมปีนี้อ่วมอรทัยจริงๆ