
'ท่วมทุ่งท้องนาเป็นเช่นทะเล'
'ท่วมทุ่งท้องนาเป็นเช่นทะเล':คมเคียวคมปากกา โดย... บรรณวัชร
สมัยวัยเรียน ม.ต้น เวลานั่งรถ บขส.กลับบ้านช่วงปลายฝนต้นหนาว ผ่านรังสิต ประตูน้ำพระอินทร์ วังน้อย ซึ่งสองข้างทางน้ำเต็มทุ่งนา ดูเวิ้งว้างเหมือนนั่งเรือกลางทะเล ซึ่งยามนี้ "น้ำเหนือ" เอ่อล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ไหลท่วมทุ่งเป็นประจำทุกปี
เนื่องจากน้ำไหลมาจากปิง วัง ยม น่าน จึงเรียกว่าน้ำเหนือ และชาวบ้านจึงเรียนรู้การทำกสิกรรมตามธรรมชาติ หากน้ำเหนือมาช่วงที่ข้าวแตกรวงชูคอพ้นน้ำ ก็ไม่สร้างความเสียหายให้แก่นาข้าวในปีนั้น แต่หากมันมาเร็วกว่ากว่ากำหนด นาก็ล่ม ข้าวก็ตาย
ในหนังเรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ก็มีฉากน้ำเหนือบ่าท่วมไร่นา จึงทำให้ "ไอ้คล้าว" (มิตร ชัยบัญชา) ไม่มีข้าวขาย และไม่มีเงินทองไปหมั้นหมาย "ทองกวาว" (เพชรา เชาวราษฎร์) ผมยังจำฉาก "ไพรวัลย์ ลูกเพชร" ร้องเพลง "อาลัย" ได้ดี เพราะเพลงนี้อยู่ช่วงต้นเรื่อง
"ไร่นาเจิ่งนองเมื่อมองเห็น ท่วมทุ่งท้องนาเป็นเช่นทะเล น้ำตาพี่ท่วมใจเมื่อเจ้าหันเห เดือนที่ลับขอบทะเล ยังกลับมา"
ครูประดิษฐ์ อุตตะมัง เขียนเพลงอาลัยได้เห็นภาพน้ำท่วมนา และในวันนี้ น้ำท่วมทุ่งท้องนาเป็นเช่นทะเลจริงๆ เห็นภาพข่าวทางทีวีทีไร ก็รู้สึกหดหู่หัวใจ ไม่นึกไม่ฝันว่าบ้านเมืองเราจะเจอพิบัติภัยร้ายแรงถึงเพียงนี้
"เจ้าจากตอนนาล้มน้ำล่มข้าว ดูหมองเศร้าทั่วทุ่ง เจ้ามุ่งไปไหนแก้วตา ไม่ห่วงหลังเลยหรือเจ้า ที่เคยเฝ้าดูข้าวแตกรวง แต่ก่อนนี้ยังเป็นห่วง หยอกเอินเจ้าดูเจ้าสุ่มปลา"
แม้เพลงนี้อาจจะไม่เด่นดังเท่ากับเพลงสิบหมื่น หรือเพลงแม่ร้อยใจ แต่ภาษากวีของครูประดิษฐ์นั้นลึกซึ้งกินใจ ฟังกี่ครั้งก็ยังเห็นภาพไพรวัลย์ ร้องเพลงไป เหม่อมองท้องน้ำในท้องนาด้วยอาลัย
"เจ้าจากไปไหนกัน รู้ไหมน้ำมันท่วมนา เจิ่งนองเหลือ น้ำเหนือไหลบ่า คลุกเคล้าน้ำตาท่วมใจ"
หากนำเพลงอาลัยมาเปิดในห้วงเวลานี้ มันคงเศร้าสุดบรรยาย ใครเล่าจะคิดว่าคนไทยนับแสน-แสนจะต้องเผชิญ "น้ำเหนือไหลบ่า คลุกเคล้าน้ำตาท่วมใจ"
พ.ศ.โน้น เมืองปทุมธานี และเมืองอยุธยา เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แตกต่าง พ.ศ.นี้ มันแปรสภาพเป็น "ทุ่งอุตสาหกรรม" เมื่อบ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง
เชื่อว่าไอ้คล้าว-ทองกวาวยุคที่ต้องทิ้งนามาเป็นหนุ่มสาวโรงงาน ต้องกลายเป็นคนตกงานชั่วข้ามคืน เมื่อมหาวารีขยี้นิคมอุตสาหกรรม 4 แห่งในอยุธยา มีคนว่างงานทันทีกว่า 2 แสนคน
นิคมฯนวนคร เมืองปทุมธานี ก็ต้านกระแสน้ำไม่อยู่ ย่อมส่งผลให้คนงานอีก 3 แสนกว่าคนตกงานไปด้วย
เมื่อท้องนาแปรเปลี่ยนเป็นทุ่งอุตสาหกรรม ลูกหลานชาวกสิกร ก็หันหลังให้อาชีพทำไร่ทำนา และพากันเข้าไปทำงานในโรงงาน แต่พวกเขาไม่เคยลืมเพลงลูกทุ่ง และลืมกำพืดเดิมของตัวเอง
ตลาดเพลงลูกทุ่งได้อาศัยทำมาหากินกับย่านอุตสาหกรรมมานานแล้ว คำร้องเพลงลูกทุ่งยุคใหม่ก็ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนบ้านนาในเครื่องแบบหนุ่มสาวโรงงาน
ถ้าร้องเพลงได้ พวกเขาคงร้องท่อนแยกของเพลงอาลัย "เจ้าจากไปไหนกัน รู้ไหมน้ำมันท่วมนา เจิ่งนองเหลือ น้ำเหนือไหลบ่า คลุกเคล้าน้ำตาท่วมใจ" เพื่อบอกเล่าความขมขื่น หลังจากโรงงานจมน้ำ
พวกเขาจะหางานอะไรทำนับจากนี้ไป ไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือน กว่าจะกู้โรงงานให้คืนกลับมาดังเดิม นายทุนเจ้าของโรงงานอาจมีประกันภัย และได้รับการชดเชยตามกฎหมาย
ส่วนคนงานนับแสนจะมีใครมาเยียวยายามตกทุกข์ได้ยาก ผมเห็นภาพพวกเขาเก็บข้าวของหนีน้ำกลับบ้านเกิดแล้ว รู้สึกได้ทันทีว่าปีหน้าบ้านเมืองเราท่าจะย่ำแย่
สองปีที่ผ่านมา เจอพิษการเมือง คนลูกทุ่งก็ว่าแย่แล้ว ปีนี้เจอพิษน้ำท่วม ยิ่งแย่หนัก ตลาดเพลงลูกทุ่งจมบาดาลไปแล้วครึ่งประเทศ