
ลิมพ์ บิซกิท'นูเมทัล'ลูกผสมแฟชั่น
ลิมพ์ บิซกิท'นูเมทัล'ลูกผสมแฟชั่น:กวนเพลงให้น้ำใส โดย... อนันต์ ลือประดิษฐ์
แฟนเพลงทั่วโลกรู้ดีว่า การแสดงสดของวงนู เมทัล ชื่อดัง “ลิมพ์ บิซกิท” (Limp Bizkit) สร้างภาพลักษณ์จากพื้นฐานของเด็กสเกตบอร์ด ทั้งการใส่เสื้อทีมโปรดเอ็นบีเอ และการคาดหมวกแก๊ปสีแดงกลับหลัง
ความโดดเด่นของมือกีตาร์ ยิ่งดึงดูดความสนใจมากยิ่งขึ้น เมื่อรสนิยมการแต่งกายของเขา การทาร่างกายเป็นสีดำ รวมถึงการสวมเสื้อผ้ากึ่งๆ คอสเพย์และแฟนตาซี คือความแตกต่างที่นักกีตาร์คนนี้จงใจนำเสนอ
ย้อนกลับไป ณ ช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับปัญหา “วายทูเค” ขณะนั้นวง “นู เมทัล” อเมริกัน อย่าง ลิมพ์ บิซกิท กำลังติดลมอย่างฉุดไม่อยู่ โดยปีค.ศ. 1999 พวกเขามากับผลงาน “ไซนิฟิแคนท์ อาเธอร์” และ 1 ปีต่อมา นำเสนอผลงานชื่อยาว “ช็อกโกแลต สตาร์ฟิช แอนด์ เดอะ ฮอท ด็อก เฟลเวอร์ด วอเตอร์” ตอกย้ำถึงความสำเร็จและกลายเป็นผลงานระดับตำนานตั้งแต่นั้น โดยมีซิงเกิลอย่าง “มาย เจนเนอเรชั่น”, “โรลลิน”, “เทค อะ ลุค อะราวด์”, “มาย เวย์” etc. กลายเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงทั่วโลก
พวกเขาฟอร์มวงเมื่อปีค.ศ. 1995 ในแจ็คสันวิล รัฐฟลอลิดา โดยมี “เฟร็ด เดิร์สท์” เป็นแร็พเพอร์ และแต่งเพลง, “เวส บอร์แลนด์” กีตาร์, “แซม ริเวอร์ส” เบส, “จอห์น อ็อตโต” กลอง และ “ดีเจ เลธัล” เทอร์นเทเบิล พวกเขาออกผลงานชุดแรกกับค่ายเมเจอร์ อย่าง “อินเตอร์สโคป” เมื่อปีค.ศ. 1997 ด้วยการออกทัวร์คอนเสิร์ตอย่างหนักหน่วง ประกอบกับลีลาการแสดงที่สดใหม่ เต็มไปด้วยพละกำลัง ทำให้ “ธรี ดอลลาร์ บิลล์, ยู ออลล์” เข้าสู่ชาร์ตท็อป 200 ได้ไม่ยาก
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกาศแยกตัวของ เวส มือกีตาร์เมื่อปี ค.ศ. 2001 กระทบต่อความเป็นไปของวงอย่างชัดเจน เนื่องจากผลงานอย่าง “รีซัลท์ เมย์ แวรี” (2003) ที่ติดตามมานั้น ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก อย่างไรก็ดี เวส บอร์แลนด์ ตัดสินใจกลับมาร่วมงานกับวงอีกครั้งในชุด “ดิ อันเควสชันเนเบิล ทรูธ” (ภาค 1) เมื่อปี ค.ศ. 2004 และข่าวดีมีขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2009 ที่ทั้งคู่ คือ เฟร็ด เดิร์สท์ และเวส บอร์แลนด์ ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของวงว่า พวกเขาจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง จนกลายมาเป็นผลผลิตชุดล่าสุด ในชื่อ “โกลด์ คอบรา”
เวส มือกีตาร์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานชุดล่าสุดว่า ยังคงสไตล์เพลงและความเป็น ลิมพ์ บิซกิท อย่างเหนียวแน่น ซึ่งหากใครไม่ชอบซาวด์แบบนี้ ก็ยังคงไม่ชอบต่อไป อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนๆ ที่ได้ฟังแล้ว ต่างบอกว่า มีความสดใหม่มากขึ้น อาจเป็นเพราะธาตุเคมีที่เข้ากันได้ดีของสมาชิกภายในวงเอง พวกเขาต่างมีพลังงานมากมาย และต้องการเล่นเพลงของพวกเขาเอง
ทั้ง 16 เพลง ‘เดิร์สท์’ รับหน้าที่แต่งเพลงและโปรดิวซ์ โดยที่ ‘เวส’ รับหน้าที่วาดภาพหน้าปกของอัลบั้มนี้ สไตล์เพลงยังคงโครงสร้างแบบ ลิมพ์ บิซกิท ที่มีท่อนแร็พกล่าวถึงเรื่องรอบๆ ตัว และท่อนโซโลที่ยังคงกระหน่ำความแรง เต็มด้วยพละกำลัง
แน่นอนว่าสำเนียงกีตาร์ของ ‘เวส’ ยังคงโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นแทร็ค “ดุยช์ แบ็ก”, “ช็อตกัน”, “ออโตทูนเอจ” สำหรับแฟนเพลงสาวๆ น่าจะชอบ 3 แทร็กสุดท้ายของชุด อย่าง “แบ็ค พอร์ช”, “มาย โอน โคเบน” และ “แองเจิลส์” มากกว่า ซึ่งมาด้วยสไตล์เบาๆ ลอยๆ ไม่รกหู มีกรู้ฟ และท่วงทำนองที่เป็นมิตรต่อหูมากกว่า
นอกจากเพลงที่ยืนหยัดในแนวทางเดิมแล้ว คนฟังเพลงอย่างผม ยังไม่หายสงสัยว่า แล้วสไตล์การแต่งตัวสำหรับโชว์ของ ‘เวส บอร์แลนด์’ จะกลายมาเป็นเทรนด์สำหรับวงการออกแบบในอนาคตหรือไม่