บันเทิง

ครูเพลงตัวเล็ก ผลงานใหญ่พีระ ตรีบุปผา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว (27 เมษายน 2545) วงการเพลงลูกทุ่งได้สูญเสียครูพีระ ตรีบุปผานักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน นักร้อง คนสำคัญไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตต่ำและเส้นเลือดตีบ ในวัย 69 ปี

 หากจะเอ่ยว่า บทเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" คือ แม่แบบของเพลงลูกทุ่งที่งดงามที่ควรนึกถึงเป็นเพลงแรกแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะมอบเสียงปรบมือให้ครูพีระ ในฐานะผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้ด้วย โดยเฉพาะท่อนอินโทรที่ครูบรรจงร้อยเรียงเสียงประสานเครื่องดนตรีที่ดูยิ่งใหญ่ ผสมผสานความเป็นสากลเอาไว้

 หรือผลงานด้านการแต่งเพลง ครูพีระ ได้สร้างชื่อกับเพลง "ผู้เสียสละ" เป็นเพลงอกหักรักสามเส้าที่ได้รับความนิยมและมีผู้นำมาขับร้องใหม่หลายครั้ง

ทีมข่าว ”คม ชัด ลึก” ขอย้อนรำลึกถึงประวัติครูเพลงมากฝีมือท่านนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงกว่า 1,000 เพลง
 
 ครูพีระเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2475 ที่อำเภอเสนา (บ้านแพน) จ.พระนครศรีอยุธยาในตระกูลพ่อค้าทอง รักเสียงเพลงตั้งแต่เด็กๆโดยเฉพาะเพลงของ สมยศ ทัศนพันธ์

  ครูพีระ เริ่มแต่งเพลงเมื่อปี 2492 โดยเลียนแบบจากเพลงของครูสมยศได้ถึง 9 เพลง วันหนึ่งมีโอกาสพบครูสมยศ ที่โรงพิมพ์แถว 4 แยกแม้นศรี จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์และนับถือเป็นเสมือนพี่ชายนับแต่นั้นมา
หลังจากนั้น ครูพีระได้มีโอกาสร้องเพลง สลับภาพยนตร์ไทย (สมัยนั้นก่อนฉายภาพยนตร์จะมีรอบพิเศษที่มีวงดนตรีเล่นก่อนการฉายภาพยนตร์) และร้องเพลงออกอากาศตามสถานีวิทยุฯ อาทิเพลง  เกล็ดแก้วแห่งความหลัง  เหยี่ยวข่าวหนังสือพิมพ์  ดวงแก้ว  ดึกแล้วพี่คอย ฯลฯ
  
ครูพีระได้ตั้งวงดนตรีชื่อ "พีระศิลป์" ขึ้นมา โดยวงดนตรีนี้ทำการบรรเลงเป็นประจำ ในภาคบ่ายของวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ในเวลา 15.30-16.00 น. โดยใช้ผลงานการประพันธ์เพลงและเรียบเรียงเสียงประสานของตัวเองทั้งหมด และก่อนออกอากาศวิทยุนั้นครูพีระต้องส่งบทเพลงให้ ดนัย ศรียาภัย ซึ่งเป็นหัวหน้ากองฯ ตรวจสอบบทเพลงก่อน 7 วัน

ด้วยเหตุที่เป็นคนที่จริงจังกับการทำงาน ครูจึงทุ่มเทเวลาให้แก่วงดนตรีอย่างหนัก โดยได้หัดเรียนเขียนโน้ตด้วยตัวเองจากการอ่านตำราของพระเจนดุริยางค์ จนกลายเป็นบันไดขั้นสำคัญที่ทำให้ก้าวเข้ามาสู่การเป็นนักเรียบเรียงเสียงประสาน หมายเลข 1 ของวงการภาพยนตร์ไทย ในยุคทองของหนังเพลงลูกทุ่ง อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง ชาติลำชี, สุรพลลูกพ่อ, มนต์รักลูกทุ่ง, ฝนเดือนหก, เพลงรักลูกทุ่ง, เทพธิดาโรงแรม, 7 ประจันบาน, ลูกสาวกำนัน, ทุ่งกุลาร้องไห้ ฯลฯ

นอกจากนั้นผลงานเพลงเยี่ยมๆ ของครูพีระ ก็ได้กำเนิดขึ้นในช่วงที่ได้ร่วมงานใกล้ชิดกับสามสุดยอดนักร้องในสมัยนั้น คือ สมยศ ทัศนพันธ์  ทูล ทองใจ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ซึ่งมีทั้งเพลงลูกทุ่งและลูกกรุง
  
ผลงานเพลงที่ครูพีระแต่งไว้นั้นมีกว่า 1,000 เพลง อาทิ แม่นางนกขมิ้น  ผู้เสียสละ  อย่ามาคิดถึงฉันเลย  แก้วลืมคอน กระท่อมวิปโยค ดึกแล้วพี่คอย เสียงครวญจากเหมันต์ ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ฯลฯ โดยลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดตกอยู่ที่ทายาท
ครูพีระ สมรสกับ นางสมจิตต์ ตรีบุปผา พักอาศัยที่บ้านหลังสุดท้าย ที่ซอยสันทัด แถวเขตดุสิต  กรุงเทพฯ  มีบุตร 2 คน คือ ระพี ตรีบุผา  ผู้เป็นบุตรชาย ซึ่งปัจจุบันอายุ 45 ปี ได้เจริญรอยตามพ่อ โดยอยู่เบื้องหลังการทำงานนักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่หลายคน ส่วน ชัฏญา ตรีบุปผา มีอาชีพค้าขาย

วันนี้ครอบครัวของครูพีระจะทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทานเพื่อรำลึกถึงครูพีระ ตรีบุปผา ที่วัดตะโก อ.พาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำกันเป็นประจำทุกปี

ผลงานเกียรติยศของครูพีระ
ปี 2508 ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ เพลง "พุทธภาษิต" 3 รางวัล ประเภทคำร้อง-ทำนอง เรียบเรียงเสียงประสาน
ปี 2514 ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ 3 ประเภท จำนวน 3 รางวัล ประเภท ก. เพลง "มนต์รักชาวไร่" (กรรมการผู้คัดเลือก) ประเภท ข. เพลง "แว่วเสียงซึง" ประเภท ค. ดนตรีลูกทุ่งยอดเยี่ยม เพลง "มนต์รักชาวไร่" (กรรมการคัด)
ปี 2516 รับรางวัล "เมขลา" (ตุ๊กตาทอง) 1 รางวัล ประเภท สร้างดนตรีประกอบภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม เรื่อง "แม่ศรีไพร" วิจิตร คุณวุฒิ ผู้สร้าง, กำกับการแสดง
ปี 2521 ได้รับ "เสาอากาศทองคำ" 1 รางวัล เพลง "ผู้เสียสละ" ประเภท เรียบเรียงเสียงประสานยอดเยี่ยม (ลูกท่ง) มอบให้ สายัณห์ สัญญา ขับร้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ