บันเทิง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 4 ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 4 ศึกนันทบุเรง

18 ส.ค. 2554

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 4 ศึกนันทบุเรง:หนังจอกว้าง โดย...ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          ถ้าภาค 3 ยุทธนาวี สร้างความผิดหวังอย่างรุนแรงให้แก่แฟนๆ หนังชุด ‘นเรศวร’ รวมถึงแฟนๆของ ‘ท่านมุ้ย’ แล้วล่ะก็ การเดินทางมาถึงภาคที่ 4 ศึกนันทบุเรง น่าจะเป็นการกลับมาแก้มือ ได้สวยงามที่สุดอีกครั้งหนึ่งของราชนิกูล ผู้ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในคนทำหนังฝีมือดีที่สุดของวงการหนังไทย
 
          หนังเกริ่นเพียงย่นย่อ เล่าถึงศึกสำคัญเมื่อพระเจ้านันทบุเรงแห่งอาณาจักรหงสาวดี กรีธาทัพไพร่พลมหาศาลนับแสนนาย ทัพช้าง ทัพม้าร่วมหมื่น หมายมุ่งตีกรุงศรีอยุธยาให้ตกเป็นเมืองขึ้นอีกครั้ง หลังปราชัยพ่ายแพ้เมื่อครั้งศึกพระยาพะสิม และพระเจ้าเชียงใหม่
 
          เมื่อเห็นศึกครั้งนี้ดูท่าใหญ่หลวงนัก เหล่าบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ทางเหนือเริ่มหวาดหวั่นเกรงว่ากรุงศรีอยุธยาไม่อาจต้านทางศึกนี้ได้จึงพากันตีตัวออกห่าง หันไปเข้าข้างฝ่ายพม่ารามัญไม่ว่าจะเป็นพระยาพิชัยแห่งเมืองอุตรดิตถ์และออกญาสวรรคโลก ทั้งสองยังออกปากชักชวนออกญากำแพงเพชรให้ร่วมคบคิดกันตีตัวออกห่าง แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือ ซ้ำยังสมัครเข้าเป็นทัพหน้า ร่วมรบหวังความดีความชอบในฐานะขุนศึกคู่ใจหลังเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่พระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก เมื่อครั้งอดีตมาแล้ว รวมถึงพระยาละแวกที่ถูกพระอนุชาเป่าหู ป้ายร้ายใส่ความพระนเรศวรจนนำมาสู่การตัดสัมพันธไมตรีในที่สุด
 
          ‘พระองค์ดำ’ เตรียมรับมือทัพพม่า ด้วยการจัดทัพเล็กทัพน้อย ออกไปเก็บเกี่ยวเสบียงกรังตามหัวเมืองต่างๆหวังกักตุนเลี้ยงไพร่พลรับศึกใหญ่ แต่แล้วหัวเมือง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของออกญากำแพงเพชรกลับถูกทัพพม่าตีแตก แย่งชิงเสบียงไปได้ หนำซ้ำทหารฝีมือดียังถูกฆ่าตายมากมาย กลายเป็นความผิดมหันต์ที่ไม่อาจยกโทษได้ของเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ อดีตข้าเก่าของพระมหาธรรมราชาพระราชบิดา
 
          ไม่เพียงเดินตามร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และจำลองออกมาได้อย่างสมจริงสมจังเหมือนทุกภาค ที่ผ่านมาแล้ว (รวมถึง ‘สุริโยไท’) ‘นเรศวร 4’ ยังให้มิติของตัวละครไว้อย่างรอบด้าน ปูพื้นของเหตุและผล อันนำมาเพื่ออธิบายแรงจูงใจของตัวละครสำหรับการตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างที่เหตุการณ์ดำเนินไปบนพล็อตรองที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเสริมมิติให้แก่ตัวละคร ท่านมุ้ยยังเพิ่มเติมอรรถรสความน่าติดตามให้แก่หนัง ด้วยการสร้างสถานการณ์คับขันบีบคั้นให้คนดูได้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นฉากประหารชีวิตออกญากำแพงเพชร หรือฉากกองทหารเมืองคังยกทัพช่วยทัพอยุธยาในวินาทีสุดท้าย
 
          ‘นเรศวร 4’ ยังให้น้ำหนักไปกับฉากดราม่า และโรแมนซ์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะชีวิตรักของพระราชมนูและเลอขิ่น ธิดาเมืองคัง หลังทั้งคู่ออกอาการพ่อแง่แม่งอนกันไปในภาคที่แล้ว (ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง) เท่านั้นไม่พอ หนังยังให้ภาพความไร้สาระของสงคราม ผ่านฉากที่เลอขิ่นตัดสินใจถอนตัวออกจากกองทัพเมืองคัง เพราะเธอรู้สึกว่า ไม่รู้จะสู้รบกันไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ผู้คนและชนชาติของเธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในศึกสงครามครั้งนี้เลยแม้แต่น้อย
 
          นอกจากวีรกรรมพระแสงดาบคาบค่ายอันลือลั่นแล้ว การทำศึกด้วยรูปแบบกองโจรของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อรับมือต่อกรกับศึกมหาสงครามจากการนำทัพของพระเจ้านันทบุเรง สำหรับหนังอิงประวัติศาสตร์แล้ว ถือเป็นการออกแบบฉากสู้รบใหม่ๆ ให้แก่วงการหนังไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น กลศึกในการจัดขบวนทัพ ตั้งป้อมปราการ แปรแถวทหารม้าและทหารราบ ตั้งค่ายกลทั้งเพื่อรับมือ โอบล้อม และหลอกล่อข้าศึกให้ตกอยู่ในกับดักวงล้อม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในหนังอิงประวัติศาสตร์ไทย นับจาก “สุริโยไท” เป็นต้นมา (แต่เป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับคอหนังจีน)
 
          ฉากการสู้รบกันบนหลังม้าระหว่าง ‘พระองค์ดำ’ กับ ‘ลักไวทำมู’ ทหารเอกแห่งทัพพม่า แสดงให้เห็นถึงความหาญกล้าในฐานะลูกผู้ชาย ที่ตัดสินใจออกมาดวลกันแบบตัวต่อตัว มิให้เสียกำลังไพร่พลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ด้วยว่าเป็นเรื่องของการแก้แค้น หาใช่สู้รบทำศึกรับใช้ใคร หรือเพื่อมุ่งเอาชนะคะคานหวังช่วงชิงบ้านเมืองใด พานให้นึกไปถึงฉากสำคัญของหนังไทยในอดีตเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เมื่อกษัตริย์ตะโกนก้องบอกแก่เหล่าทหารไพร่พลของตนและข้าศึกว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ขอให้เป็นเรื่องของตนและแม่ทัพเพียงลำพัง ขอให้เหล่าทหารล่าถอยไปมิให้ต้องมาพลีชีพจากการศึกครั้งนี้เลย
 
          ความยาวกว่าสองชั่วโมง แม้หนังจะเสียเวลาไปกับฉากดราม่ามากมายที่แสดงให้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง เรื่องของคุณธรรมน้ำมิตร และความกตัญญูรู้คุณ แต่เรื่องราวก็ยังคืบหน้ามุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางที่วางไว้ ผิดกับภาค 3 ยุทธนาวี ที่แม้เต็มไปด้วยรายละเอียดเยอะแยะมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีผลกับตัวเรื่อง ซ้ำยังพาหนังออกนอกลู่นอกทาง สะเปะสะปะ ไม่มีเนื้อหาให้จับต้องได้ ผิดกับภาคนี้ที่ทั้งเน้นให้เห็นมิติของตัวละคร นัยยะของการวิพากษ์สงคราม และการทำศึกที่ไม่ใช่แค่ถั่งโถมโหมกำลังเข้าประจัญบานกันอย่างไม่คิดชีวิต หากแต่มีกลศึก รู้จักวางหมากกล จัดสรรสรรพกำลัง ออกอุบายได้อย่างชาญฉลาดและน่าติดตาม รวมถึงฉากจบในภาคนี้ ที่ต้องบอกว่า โปรดอย่าลุกจากที่นั่ง จนกว่าเครดิตสุดท้ายจะเลื่อนหายไปจากจอ เพราะอาจต้องพลาดอีกฉากสำคัญของเรื่องก็เป็นได้
 
          เป็นการกลับมาคืนฟอร์มของท่านมุ้ย และหนังชุด ‘นเรศวร’ ที่ชวนให้เราต้องกลับมาติดตามกันต่อไปว่า ในภาคที่ 5 จะยังเป็นศึกยุทธหัตถีหรือไม่? และจะมีภาค 6-7 ตามมาอีกหรือเปล่า?

ชื่อเรื่อง : ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4 ศึกนันทบุเรง
 ผู้เขียนบท : ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคคล, ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
ผู้กำกับ : ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคคล
นักแสดง : พ.ท.วันชนะ สวัสดี, นพชัย ชัยนาม, พ.ท.วินธัย สุวารี, สรพงษ์ ชาตรี, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นภัสกร มิตรเอม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, อินทิรา เจริญปุระ
เรตติ้ง : ส. ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้ดู
วันที่เข้าฉาย : 11 สิงหาคม