บันเทิง

ทำไมไม่ใช้คำไทย

ทำไมไม่ใช้คำไทย

10 ส.ค. 2554

ทำไมไม่ใช้คำไทย:มองผ่านเลนส์คม โดย... นคร ศรีเพชร

           เราผ่านวันภาษาไทยแห่งชาติเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พยายามตรวจสอบดูว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นบ้างในแวดวงสื่อผู้ใช้ภาษาไทยกันบ้าง ซึ่งได้พบว่า บางสื่อโดยเฉพาะวิทยุ ยังใช้คำไทยปนอังกฤษแบบที่ไม่น่าจะเหมาะสมกันอยู่
 
          ข่าวราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น และทำ New High ใหม่ในช่วงเวลา 30 ปี ซึ่งคำว่า New High เป็นศัพท์ทางการตลาด สามารถเข้าใจกันได้ในหมู่ของคนที่มีการศึกษาทั่วไป แต่ถ้าจะให้ดีแล้ว สื่อวิทยุซึ่งออกอากาศทั่วประเทศ เมื่อเอ่ยคำว่า New High เป็นคำแรกในหัวข่าว น่าจะมีการขยายความสั้นๆ ถึงคำแปลความหมายในครั้งแรกในการนำเสนอข่าวสักครั้งเพื่อให้ผู้ฟังหรือชาวบ้านร้านช่อง ผู้ที่อ่อนด้อยเรื่องการศึกษาได้เข้าใจกันง่ายๆ
 
          อย่าให้ศัพท์ยากๆ เหล่านี้เป็นกำแพงกั้นการรับรู้ของชาวบ้านทั่วไปอีกเลย ถ้าพอจะหาคำแปลไทยๆมาใช้ได้ ก็ควรจะหามาใช้แทน ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะบากหรือตีบตันทางความคิด
 
          ยกเว้นว่า บางคำหาคำอธิบายได้ยาก หากจะใช้ทับศัพท์และคนทั่วไปรับรู้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและให้อภัยกันได้ เพราะคนที่ต่อต้านการพูดไทยปนฝรั่ง เขาก็ใช่ว่าจะต้านกันหัวชนฝา ไม่ดูเหตุผลความจำเป็น
 
          แต่สิ่งที่ผมยอมรับกันไม่ได้เลยคือ ข่าวพิ้นดินเลื่อนไหลจากภูเขาสร้างความเสียหายในหลายจังหวัดขณะนี้ ผู้รายงานข่าววิทยุบางช่องรายงานข่าวโดยใช้คำว่า เกิดเหตุดินสไลด์ (slide) ที่จังหวัด.....
 
          ไม่ได้ใช้ผิดความหมายหรอกครับ เพราะในภาษาอังกฤษ คำว่า landslide (แลนด์สไลด์) แปลว่า แผ่นดินถล่ม แผ่นดินทลาย หรือการได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมทัน
 
          ในเมื่อถ้าพูดเป็นภาษาไทย สามารถใช้คำว่า ดินถล่ม ดินทลาย ดินเลื่อนไหล หรือดินเคลื่อนตัว ใช้แค่สองพย่างค์เหมือนกันและเข้าใจได้ง่ายกว่าด้วย
 
          ภาษาไทยของเรารุ่มรวยคำและมีคลังคำให้เลือกใช้มากมาย อยู่ที่ว่า คนรายงานข่าวหรือบรรณาธิการข่าวจะขยันหรือพยายามศึกษาที่จะนำมาใช้หรือไม่ ไม่ใช่รังแต่จะหาคำฝรั่งมาพูดปนไทยให้มันดูดโก้เก๋ ยกระดับตัวเองว่ามีการศึกษาสูงเท่านั้น
 
          ถ้าไม่ติงกันอีกหน่อยคงรายงานข่าวกันเปรอะว่า เกิดเหตุดินสไลด์ในพื้นที่สโลป (slope เอียง,เทลาด,เฉียง) กันอย่างแน่นอน
 
          หลายวันก่อน มีเรื่องเข้าใจผิดระหว่างคนทำงานกับทีมงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งข้อความมาหากันว่า “ถ้าเรทแบบคราวที่แล้ว เขารับไม่ได้” ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่า หมายถึง rate คือ ราคาหรืออัตรา สืบไปสืบมา เธอเขียนผิดเพราะตั้งใจจะหมายถึง late คือ สายหรือมาช้า ทำเอาตกใจกันยกใหญ่
 
          ถ้าเธอเลือกเขียนมาเป็นคำภาษาไทย คงจะสื่อความหมายกันง่ายๆ ไม่ต้องมาตีความผิดๆ วุ่นวายกันเปล่าๆ