
รู้ทันกฎหมาย:ตายอย่างสงบ
รู้ทันกฎหมาย:ตายอย่างสงบ
หลับแล้วตายไปน่าจะสงบได้กว่าการตายแบบอื่นซึ่งก็คงต้องหมดสติก่อนค่อยตาย ไม่ว่าอย่างไหนก็ไม่อาจบอกได้จนกว่าจะตายเอง
เป็นที่เข้าใจได้ว่าเวลาจะตายมันไม่น่าจะสบายไม่ว่าจะแบบไหน มันจะสงบหรือไม่ก็ยากจะรู้ได้ แต่การใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายมันก็น่ารำคาญ ทั้งยังต้องทิ้งไว้ในร่างกายจนกว่าจะตายไปก็น่าจะไม่สบายเนื้อสบายตัวแน่นอน
อย่างนี้จะตายอย่างสงบได้อย่างไร เมื่อกฎหมายให้เราเลือกที่จะตายอย่างสงบได้ด้วยการสั่งไว้ว่าอย่าได้ยื้อชีวิตในกรณีที่ไม่มีทางจะรักษามันไว้ได้ รังแต่จะทรมานกายและจิตใจเสียเปล่าๆ การทำเอกสารเป็นหลักฐานที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ก็ต้องแน่ใจว่ามีคนรับรู้และนำไปใช้ได้ตอนที่จะตายมิตายแหล่ตอนนั้น
อันว่าเอกสารที่จะต้องทำกฎหมายท่านกำหนดวิธีการเอาไว้ว่าต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง ซึ่งมีผลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา(2554) นี้เอง
หนังสือแสดงเจตนาถ้าไม่เขียนเอง ก็สามารถจัดพิมพ์แล้วเซ็นชื่อได้ โดยต้องมีพยานในเอกสารกับลายมือชื่อคนพิมพ์ ใกล้เคียงกับวิธีการทำพินัยกรรมที่เป็นคำสั่งในการแบ่งสมบัติ
ในกรณีที่เพิ่งคิดได้ตอนที่อยู่โรงพยาบาลและไม่อาจทำเอกสารอะไรได้ก็ให้ใช้การบอกกล่าวกับแพทย์หรือพยาบาลที่รักษาหรือว่ากับญาติหรือคนใกล้ชิดได้ แต่คนที่รับฟังไว้ก็ต้องทำเอกสารและมีพยานกำกับเอาไว้ด้วย ไม่งั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนไข้บอกเอาไว้เช่นนั้น
ตอนที่ทำจะต้องปรากฏด้วยว่ายังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ อาการเบลอๆหรือสติไม่ค่อยจะมีสัมปชัญญะแล้วนั้น การแสดงเจตนาย่อมมีปัญหาและไม่อาจถือตามที่ว่าไว้ได้ ดังนั้น หากต้องการตายอย่างสงบก็ต้องทำตอนที่ยังสติดีอยู่
ทำแล้วอยากแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกก็ทำได้ตลอดเวลา แต่ต้องทำในขณะที่ยังสติดีอยู่ ดูๆแล้วก็ต้องคิดให้ดีเพราะอย่างที่บอกไว้ในฉบับก่อนว่า แม้แต่คนที่ฆ่าตัวตายก็มักจะเปลี่ยนใจตอนสุดท้าย
คนที่กำลังจะตายก็อาจอยากยื้อชีวิตตัวเองเอาไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งอาจรอให้คนมาดูใจครบถ้วนเสียก่อนก็มี ทีนี้เปลี่ยนใจในช่วงเวลาสุดท้ายแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ต่อให้ดิ้นพรวดพราดแค่ไหน แพทย์หรือญาติก็อาจไม่เข้าใจ มุ่งทำตามคำสั่งที่เคยตั้งใจไว้
ก่อนจะทำจดหมายใช้สิทธิที่จะตาย ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าแน่ใจ ไม่เช่นนั้น แทนที่จะได้ตายอย่างสงบดั่งใจก็เลยกลายเป็นขัดใจเอาตอนที่จะตาย จึงขอให้คิดให้รอบคอบก่อนทำเอกสารแบบนี้ไว้ จะได้ตายอย่างสงบจริงๆ