บันเทิง

The Conspirator
เพราะการเมืองคือการวางแผน

The Conspirator เพราะการเมืองคือการวางแผน

08 ก.ค. 2554

ถ้าจะนับเอาแค่หนังที่ออกฉายในบ้านเรา ราวๆ สัก 6 เดือนที่ผ่านมา จุดร่วมอย่างหนึ่งที่ the fighter และ black swan รวมมาถึง the conspirator เรื่องนี้ มีเหมือนกัน ทั้งอย่างตั้งใจและไม่เจตนาก็คือ ความหมายแฝงหรือ sub-text ง่ายๆ ให้คนดูตีความ

           กล่าวคือ “ชื่อเรื่อง” ที่มาพร้อมกับภาพรูปตัวละครในโปสเตอร์นั้น ชวนให้คนดูคิดไปเองว่า มันคือเขามันคือเธอ แต่เมื่อดูหนังจบลง กลายเป็นว่า ความหมายที่ชื่อหนังพาดไว้นั้น เป็นตัวละครที่ “ซุกซ่อน” อยู่ในหนัง และอาจไม่ได้มีรูปออกมาเสนอหน้า ใน the fighter นั้น ภาพเบื้องแรกก็คือ นักมวยที่ต่อสู้บนเวทีกับคู่ชก

          แต่ในหนังเมื่อดูกันจริงๆ คำนี้มีน้ำหนักทั้งหมดถึงคนที่อยู่ข้างๆ เวที แม่และพี่น้อง ส่วน black swan นั้น ยังไม่ทันดูแค่อ่านพล็อตก็ต้องคิดว่า นักแสดงคู่แข่งยั่วสวาทที่มารับบทของ หงส์ดำ นั่นสิ เป็น black swan ตัวจริง

          แต่เมื่อดูหนังไปเรื่อยๆ แท้จริงแล้ว นาตาลี พอร์ทแมน ที่มาใสตั้งแต่แรกๆ นี่เอง ที่มีความเป็นหงส์ดำอย่างธรรมชาติที่สุด และในที่สุดเมื่อหงส์ดำทำร้ายเธอ มันก็กลายเป็น black swan อย่างสมบูรณ์ กรณีของทนายความหนุ่มไฟแรงอย่าง เฟรเดอริก ไอเคน (เจมส์ แมกอะวอย) ใน the conspirator ก็เช่นกัน เขาเป็นคนไฟแรงและอยากสร้างชื่อกับคดีใหญ่อันเกี่ยวกับการสังหารประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งเป็นผู้ที่ปลดปล่อยทาส (น่าสังเกตว่า โอบามา ก็เดินทางตามแนวของ ลินคอล์น ชัดเจนหลายอย่าง จนนิตยสาร GQ เอามาล้อเลียน)

          ลินคอล์นถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมจากสงครามกลางเมือง และคนที่ถูกปรักปรำก็คือ แมร์รี่ เซอร์แรตต์ (โรบิน เพนน์) สตรีเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการสังหาร เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้คนทั้งประเทศหันมาเป็นศัตรูกับเธอ แมร์รี่จึงต้องหันมาพึ่งความช่วยเหลือจากทนายผู้หนึ่งในการค้นหาความจริง เพื่อปกป้องชีวิตเธอเอง

          และทนายความคนนั้นก็คือ เฟรเดอริก ไอเคน ที่จะตกลงใจที่จะช่วยแก้ต่างให้แมรีเป็นคดีแรก เพราะเชื่อว่าผู้หญิงคนนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ถูกทางการใช้เป็นเหยื่อล่อลูกชายของเธอ The conspirator มีลักษณะบางอย่างของความเป็น courtroom drama แม้จะไม่มาก แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์จากฉากต่างๆ ในชั้นศาลได้ ปัญหาของบทนั้น เกิดขึ้นอย่างชัดเจนใน 30 นาทีแรกเมื่อการเดินเรื่องของหนัง ค่อนข้างเงียบเชียบ เหตุการณ์ต่างๆ ถูกบอกเล่าจากคนนอก มีเพียงแค่ตอนต้นที่นำเสนอออกมาจริงๆ

          เมื่อเป็นแบบนี้ ช่วงที่เป็นส่วนของดรามาติคจึงไม่มี ประกอบงานของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด นั้น เป็นงานที่ไม่ค่อยสนใจความเป็น situation สักเท่าไหร่ คนดูจึงรู้สึกว่า หนังไม่สามารถอยู่กับผู้ชมได้ สิ่งที่เป็นข้อดีไปสอดคล้องกับบรรยากาศของการเมืองในบ้านเราตอนนี้ ตรงที่ว่าเมื่ออะไรๆ ผ่านพ้นๆไป ไม่ว่าจะฝ่ายใครก็ตาม มันมีคำถามว่า แท้จริงแล้ว มีใครบางกลุ่มที่วางแผนไว้ ไม่ต่างอะไรกับ conspirator ใช่ไหม เฟรเดอริก อาจจะถูกเสนอภาพกับผู้ชมว่า เขาจำเป็นต้อง “ผู้วางแผน” ตามความหมายของหนัง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทุกฝ่ายนั้น ล้วนได้รับบทบาทของ conspirator ไปคนละเล็กละน้อย โดยที่ฝ่ายรัฐบาลนั้น ได้บทบาทนี้ไปมากที่สุด

         ในฉากสุดท้าย หนังก็แฉให้เราเห็นว่า กฎหมายน่ะหรือจะสู้ “อำนาจมืด” เพราะไม่ว่า เฟรเดอริก จะฟาดฟัน ประนีประนอม อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนจะชนะ หรือถูกต้อง มันก็กลายเป็นผิดและถูกตัดสินไปตามทิศทางต่างๆ ของหนังได้ในที่สุด คนที่พยายามจะเล่นบท conspirator อย่างทนายความ เฟรเดอริก เพราะเชื่อว่าถ้าชนะได้ เขาจะเป็นทนายความที่โด่งดังคนหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้น ก็ต้องเผชิญหน้ากับคนที่เล่นบท นักวางแผนหรือ conspirator ที่ใหญ่กว่า

          นั่นคือ คนที่มีอำนาจสูงสุดในตอนนั้น แต่นักวางแผนหรือ conspirator ในหนังนั้น ไม่น่ากลัวหรอก คนที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ นักวางแผน โดยเฉพาะพวกที่วางแผนจากที่ไกล และไม่ได้อยู่ในบ้านเกิดตัวเอง

สวัสดี

 

บายไลน์ : นันทขว้าง สิรสุนทร