บันเทิง

ศิลป์แห่งแผ่นดิน - เพลงเด็กอยู่หนใด

ศิลป์แห่งแผ่นดิน - เพลงเด็กอยู่หนใด

28 มิ.ย. 2554

ถ้าถามพ่อแม่ว่าลูกๆ ของท่านดื่มนมวันละกี่กล่อง อาจมีผู้ปกครองหลายท่านแข่งกันด้านปริมาณ โดยมีความเชื่ออย่างสุดหัวใจว่ายิ่งดื่มนมมากเด็กๆ ยิ่งมีสุขภาพดี นั่นเป็นผลมาจากการรณรงค์โดยภาครัฐให้เด็กไทยดื่มนม ที่ทำมาหลายสิบปีจนประสบความสำเร็จ คือเด็กไทย (และผู้ใ

 สมัยผมเป็นเด็กครูสอนให้รับประทานอาหารให้ครบ“5 หมู่” มีเรื่องตลกตามมาว่าตาสีตาสาเที่ยวเดินสายกินอาหารไปตามหมู่บ้านต่างๆ จนครบห้าหมู่ (บ้าน) (ก็ฮากันไป) 

 18-19 มิถุนายน ผมไปเป็นวิทยากร ค่ายพ่อแม่แต่งเพลงเด็ก “เพลงเด็กอยู่หนใด” จัดโดย  FM  เอฟเอ็ม105 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว ร่วมกับแผนงานสื่อสร้าง สุขภาวะเยาวชน จัดขึ้นที่โรงแรมพักพิงอิงทาง แถวงามวงศ์วาน มีพ่อแม่และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 40 คน  แล้วเกี่ยวอะไรกับการดื่มนมวันละหลายกล่องล่ะ ผมคงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า “พ่อแม่ให้ลูกฟังเพลงอะไร”  

 เราควรเลือกอาหารสำหรับลูกฉันใด เราก็ควรเลือกเพลงให้ลูกฟังฉันนั้น คำตอบก็คือ พ่อแม่ควรต้องเลือก “เพลงที่มีสารอาหาร”

 สังคมไทยใช่ว่าจะขาดแคลนเพลงเด็ก ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติของผู้ใหญ่ต่างหากที่ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของเพลงเด็กๆ ของเราต้องฟังเพลงที่ผู้ใหญ่ฟัง พ่อแม่น้อยรายที่เลือกเพลงให้ลูก

 เพลง “ช้าง” ช้างๆๆๆๆ น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ดูจะเป็นเพลงเด็กเพลงเดียวที่เด็กทุกคนร้องได้ เพลงนี้มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ แต่งโดยครูชิ้น ทายาทดนตรี “ศิลปะบรรเลง” โดยมีเพลง “ไก่ย่างถูกเผา เราจึงโดนไม้เสียบ เสียบตูดซ้าย เสียบตูดขวา...จ๊าก...ร้อนจริงๆ ร้อนจริงๆ เป็นเพลงยอดนิยมตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม ยันเด็กโข่งมหาวิทยาลัย

 มีคน “ทำเพลง” สร้าง “เพลงเด็ก” ต่อมาไม่ขาดสาย แพร่ขยายไปอย่างเงียบๆ เรียบๆ เรื่อยๆ  ในหมู่ในกลุ่มคนรักเด็ ครู-อาจารย์ พ่อแม่ที่เห็นคุณค่า สังคมเราจึงมีเพลง แมงมุมลาย เพลงเป็ดอาบน้ำ เพลงมดตัวน้อย และเพลง “ต้วมเตี้ยม ต้วมเตี้ยมออกมาจากไข่ เจ้าหนอนตัวใหญ่ลูกใครกันหนอ  กระดึ๊บ...กระดึ๊บ...กระดึ๊บไปบนใบไม้อ่อน...” (แต่งโดยน้านิด ผึ้งน้อย ปัจจุบันเป็น “ย่านิด”)

 ผมแต่งเพลงเด็กไว้จำนวนหนึ่ง เริ่มจากสมัยเริ่มรับราชการครู เมื่อพ.ศ.2521 จับกลุ่มตั้งวงเด็กทำเพลงกัน จนเมื่อมีลูกเป็นของตัวเอง ก็เลยแต่งเพลงร้องกล่อมลูกเป็นการใหญ่

 แต่งไปแต่งมาได้สี่ซ้าห้าสิบกว่าเพลง แจกจ่ายแบ่งปันกันฟังไปในวงแคบๆ โดยแทรกซึมไปตามวงการครูเด็กเล็ก ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา มีเพลงเด็กๆ เกิดขึ้นใหม่ (ตามค่ายกิจกรรมต่างๆ) หลายร้อยเพลง

 ครั้งล่าสุดคือ ค่ายแต่งเพลงเด็ก “เพลงเด็กอยู่หนใด”ดังกล่าว ซึ่งเป็นค่ายกิจกรรมที่ผมมีความสุขที่สุดในรอบปี เมื่อได้เห็นพ่อแม่ลูกมาร่วมกันแต่งเพลง ร้องเพลงอย่างเบิกบาน

 “เพลงเด็ก” เป็นเพลงที่เกิดจากความรัก ไม่ต้องมีความรู้เรื่องการดนตรี เรื่องการประพันธ์ มีเพลง เสียงและถ้อยคำง่ายๆ เปล่งออกมาจากข้างใน  

 ฝากผู้ใหญ่ช่วยกันเผยแพร่เพลงเด็กให้กระจายไปถึงครอบครัว ถึงโรงเรียนทุกโรงเรียน  ถึงชุมชน ถึงหู ถึงใจ ของเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่รักและหวังเห็นเด็กๆ เติบโตอย่างงดงามทั้งกายและใจ ครับผม

"ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ"