บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ผู้ชำนาญในการลำ เรียก “หมอลำ”
ผู้ชำนาญในการเป่าแคน เรียก “หมอแคน”

คมเคียวคมปากกา - ผู้ชำนาญในการลำ เรียก “หมอลำ” ผู้ชำนาญในการเป่าแคน เรียก “หมอแคน”

24 มิ.ย. 2554

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗

 สมัยเด็ก เวลามีหมอลำตามงานบุญ ตามแม่ไปทุกครั้ง ทั้งได้ดูและนอนหลับ บางครั้งหมอลำเล่นจนสว่าง คนเฒ่าคนแก่ก็นั่งเฝ้าจนสว่างเช่นกัน รวมทั้งเด็กที่หลับจนสว่างด้วย

 “เสียงหมอลำ” แว่วเป็นต้นทุนในหูก็น้อย ไปได้ยินเสียงหมอลำที่ไหน  ความรู้สึกจะตื่นตัวขึ้นมาอย่างประหลาด ฟังหมอลำเศร้าถึงขั้นน้ำตาไหล  เคยเล่าสู่กันฟังบ้างแล้ว ครั้งหนึ่งช่วงตกงาน ล่องใต้ไปค้างบ้านเพื่อนที่หาดใหญ่  ดูโทรทัศน์หมอลำ ปริศนา วงศ์ศิริ ในช่วงสงกรานต์ คิดถึงบ้าน น้ำตาไหลพราก

 “เสียงเจรียง” หรือ “เสียงกันตรึม” ก็เช่นกัน บทสนุกก็ทำคึกคัก  บทเศร้าก็ทำให้โหยหวนไปตามท่วงทำนอง เคยสังเกตเด็กที่แม้ไม่มีพื้นฐานทางการฟังดนตรีมาก่อนเลย พอได้ยินจังหวะกันตรึมสนุกๆ เขาก็อยากเต้นตามขึ้นมา หลายปีก่อนผมเชิญคณะกันตรึมจากฝั่งสุรินทร์ไปเล่นฝั่งร้อยเอ็ด ปรากฏชาวบ้านรับได้ทั้งเด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ ยายแก่ๆ เคี้ยวมากหยับๆ ประเภทหมดวัยสำราญแล้ว ยังลุกขึ้นฟ้อนอย่างมิอาจยับยั้งตัวเองได้ ราวกับว่าเพลงพื้นบ้านได้เรียกวัยสาวของคุณยายกลับคืนมากระนั้น

 ว่าด้วยหมอลำ คิดถึงหลายคนในวงการนักเขียนที่มีพื้นฐานทางนี้  อย่าง “รอน โพนทอง” หรือ ครูสมพงษ์ บุตรโรจน์ สมัยหนุ่มเคยลงพื้นที่ศึกษาติดตามการแสดงคณะหมอลำ กระทั่งได้ภรรยาเป็นนางเอกหมอลำ เขาเคยแต่งเพลง “ฝรั่งลำเพลิน” ขับลำโดย อังคนางค์ คุณไชย  เมื่อหลายปีก่อน ทั้งเขียนหนังสือว่าด้วยหมอลำไว้หลายเล่ม 

 กวีหนุ่มร่วมสมัย อังคาร จันทาทิพย์ ก็บอกเขามีบรรพบุรุษเป็นหมอลำ แม้มิได้เจริญรอยไปทางนั้น แต่การขับขานบทกวีของเขา ก็ถือว่ามีต้นทุนในความทรงจำเก่าๆ

 ยังมีครูหนุ่มคนหนึ่ง สอนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร รักชอบบทกวี กระทั่งมีรวมบทกวีของตัวเองชื่อ “อวลไอดิน” เขาชื่อ จักรินทร์  สร้อยสูงเนิน ตอนแรกก็นึกว่าเป็นคนชอบภาษาไทยธรรมดา พอเขานำต้นฉบับมาให้ผมช่วยอ่านและเขียนคำนำ คุยไปคุยมาพบว่าเขาเป็นทั้งหมอลำ และนักร้องเพลงลูกทุ่ง หมอลำนั้นเรียกว่ามีเลือดเนื้อเชื้อไขเลย  เป็นญาติของ ฉวีวรรณ ดำเนิน ด้วย เขาบอกตอนเด็กๆ ก็เบื่อๆ เพราะเห็นและได้ยินทุกวัน พอโตมาเป็นหนุ่ม เหมือนจิตวิญญาณบรรพบุรุษเรียกหา เขากลับมาหาการลำอย่างหลงใหล ปิดเทอมก็หาเวลากลับอีสานไปลำกับคณะหมอลำที่รู้จัก เขาบอกเป็นความสุขถึงขนาดว่าเคยคิดอยากลาออกจากครูไปเป็นหมอลำ ยิ่งกว่านั้น เวลาร้องเพลงลูกทุ่ง  เขาไม่ร้องเพลงลูกทุ่งปัจจุบันเลย เพราะไม่ชอบ คนหนุ่มอย่างเขาชอบร้องเพลงลูกทุ่งเก่าๆ โดยเฉพาะเพลง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เขาว่าเอ่ยชื่อเพลงไหนมาเถอะ ร้องได้หมด ทั้งที่เกิดหลังยุคที่เพลงของครูเพลงท่านนี้รุ่งโรจน์

 จิตวิญญาณกระมัง ต้นทุนกระมัง เขาถูกเลือกหรือถูกเรียกจากสิ่งเหล่านั้นกระมัง ก็น่าสนใจใคร่คิด สิ่งเหล่านี้เป็นวิชา คนเมื่อน้อมใจรับวิชาแล้ว วิชาก็จะเข้าไปสิงสู่ในจิตใจ ต้องเป็นสิ่งนั้นตลอดไป ต้องทำสิ่งนั้นตลอดชีวิต ส่วนเรื่องชื่อเสียง เงินทอง  ความมั่นคงทางอาชีพในการเลือก ก็คงต้องยกให้สิ่งที่เรียกว่า “วาสนา” ด้วยคนที่เก่งและมีวิชาเหมือนๆ กัน แต่เอาตัวไม่รอดก็มีไม่น้อย

 ถ้าทางฝั่งสุรินทร์ คิดถึงเพื่อนผู้ล่วงลับ ดาร์กี้ กันตรึมร็อค นี่ก็มีวิชาสิงสู่ในชีวิตจิตใจ โดยรับมาจากบรรพบุรุษ เขามีพลังและเสน่ห์ในการขับขานอย่างน่าทึ่ง บางทีเห็นเหมือนเมาๆ อยู่หลังเวที พอเปลี่ยนชุดเป็นผ้าพื้นเมืองสำหรับการแสดง เขาก็กลายเป็นพระเอกกันตรึมที่ตรึงใจคนได้ทันที ครั้งหนึ่งเขาบุกไปหาผมที่บ้านนอกฝั่งร้อยเอ็ด ผมไม่อยู่ อยู่แต่พ่อแม่พี่น้อง คนตื่นเต้นกันทั้งครอบครัว และหมู่บ้าน    
 
   ผมเองไม่มีวิชา “หมอลำ” “เจรียง” หรือ “กันตรึม” มีแต่ต้นทุนในโสตประสาทนั่นแหละ และมันส่งผลให้รักชอบ “การขับขานบทกวี” ไม่น้อยเลย รู้สึกทุกครั้งเวลาแต่งบทกวี เหมือนตัวเองกำลังขับขานดนตรีบางชนิดจากจิตใจส่วนลึก คิดฝันเล่นๆ เหมือนกัน ถ้าผมลำได้บ้าง เป่าแคนได้บ้าง เจรียงได้บ้าง สีซอได้บ้าง แต่งบทกวีแล้วก็ขับขานประกอบดนตรีตามงานต่างๆ คงจะ “ม่วน” และ “ซรูล” ตามกำลัง...

 แต่ไม่เอาดีกว่า เห็นนักการเมืองหลายคนเป่าแคนหาเสียงแล้ว...กลัวถูกหาว่าเลียนแบบน่ะ (๕๕๕)

"ไพวรินทร์ ขาวงาม"