บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ลูกทุ่งหมอลำกับทีวีลูกอีสาน

คมเคียวคมปากกา - ลูกทุ่งหมอลำกับทีวีลูกอีสาน

22 มิ.ย. 2554

เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา นั่งชมรายการ "ตำนานเพลง พิณแคนซอ" ทางทีวีดาวเทียมช่อง "ลำโขงแชนแนล" ได้พบกับ "คนลูกทุ่งหมอลำ" สองคน ที่ห่างหายจากหน้าสื่อบันเทิงเมืองกรุงไปเสียนาน

 คนแรกคือ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ต้นฉบับ "อ.ส.รอรัก" บทเพลงที่ผมชื่นชอบอย่างยิ่ง
 "บุญชื่น เสนาราช" หรือศักดิ์สยาม หนุ่มบ้านนานกเขียน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ก้าวจากเส้นทางสมาชิกของคณะรำวงประจำตำบล ก่อนจะโลดแล่นไปกับคณะหมอลำหลายคณะ ที่มีสำนักงานอยู่ในตัวเมืองมหาสารคาม

 กระทั่งหนุ่มกองเชียร์รำวงมาสังกัดสำนักงานธุรกิจบันเทิงของเทพบุตร สติรอดชมภู โดยเริ่มร้องเพลงลูกทุ่งหน้าม่านหมอลำในนาม "บุญชื่น รื่นฤดี" อยู่พักใหญ่

 เทพบุตร สติรอดชมภู จึงนำตัวเขาเข้าเมืองหลวง ร้องเพลงอัดแผ่นเสียง 6 เพลงรวด ได้แก่เพลงตามน้องกลับสารคาม ,เสน่ห์สาวเวียงจันทน์ ,ธิดากัมปงจาม , คิดฮอดอย่างแฮง , คุยเขื่อง และเศรษฐีขายขี้กระบอง

 นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของดาวรุ่งที่ราบสูง ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ที่เลื่อนชั้นเป็นนักร้องลูกทุ่งชั้นนำของวงการ ด้วยเพลงดังอีกหลายเพลง อาทิ คักใจเจ้าแล้วบ่ , สัญญาเดือนสาม และ อ.ส.รอรัก

 "ศักดิ์สยาม" รับบทหัวหน้าวงดนตรีให้ "นายทุน" อยู่สองกลุ่มระหว่างปี 2515-2523 ช่วงแรกอยู่ที่มหาสารคาม และช่วงหลังไปอยู่แถวสระบุรี ก่อนจะหยุดการเดินสายร้องเพลงเมื่อชื่อเสียงเริ่มราโรย

 ปี 2524 พี่ชายชวนตั้งคณะหมอลำชื่อ "เพชรเม็ดเยี่ยม" ศักดิ์สยามกลายเป็นพระเอกหมอลำ แต่การที่เป็นนักร้องที่ใช้เสียงสูง เมื่อมาเป็นหมอลำที่ต้องใช้เสียงต่ำลงมา ทำให้เขาเกิดความอึดอัด จึงประกาศเลิกต่อหน้าแฟนหมอลำที่มาชมการแสดงเมื่อเดือนเมษายน 2525

 ปัจจุบัน ศักดิ์สยามยังรับงานโชว์เพลงดังในอดีต เดือนหนึ่งอย่างต่ำมี 3-4 งาน ซึ่งเป็นความโชคดีของเขา ที่มี "วิทยุชุมชน" เกิดขึ้น และสถานีเหล่านี้นิยมเปิดเพลงลูกทุ่งเก่า จึงทำให้เจ้าภาพอยากพบนักร้องตัวจริง

 ศักดิ์สยามบอกว่า ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ เขาจะร้องเพลงกำนัลแฟนๆอย่างเต็มที่ บางงานเขาต้องร้องเพลง "อ.ส.รอรัก" ถึง 3-4 รอบ ขอให้แฟนเพลงมีความสุข เขาทำให้ได้ทั้งนั้น ไม่จำกัดว่างานหนึ่งต้องร้องแค่สองสามเพลง

 เมื่อวันเปิดตัว "ลำโขงแชนแนล" ศักดิ์สยามก็มาร้องเพลงขับกล่อมแฟนๆ บนเวทีลานเพลินลำโขง แม้อายุอานามจะมากโข แต่เขาก็ยังโชว์ลีลาไอ้หนุ่มกองเชียร์ได้สนุกสนานไม่แพ้วัยหนุ่ม

 คนลูกทุ่งหมอลำอีกคนหนึ่งที่พบหน้าทางลำโขงแชนแนลคือ คำเกิ่ง ทองจันทร์ นักปั้นหมอลำที่มีฉายาว่า "อินทรีอีสาน" ในแวดวงสื่อมวลชนสายลูกทุ่งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

 อาจารย์คำเกิ่งหายหน้าไปจากเมืองหลวง โดยปักหลักอยู่ที่อาณาจักรส่วนตัวที่มหาสารคาม ยังเขียนเพลงเขียนกลอนลำ และฝึกสอนหมอลำรุ่นใหม่ ว่างๆ ก็ทำนาตามประสาลูกอีสาน

 ยุคหนึ่งชื่อ "ทองจันทร์โปรโมชั่น" จะต้องคู่กับห้างแผ่นเสียงกรุงไทย เมื่ออาจารย์คำเกิ่ง ผลิตนักร้องหมอลำดังเข้าสู่ตลาดเพลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ สาธิต ทองจันทร์, เดือนเพ็ญ อำนวยพร และเอ๋ พจนา

 เมื่อวิถีลูกทุ่งหมอลำเปลี่ยน คำเกิ่งก็เลิกทำวงหมอลำ และกลับมาทำงานอนุรักษ์ศิลปะหมอลำแบบเรียบง่าย โดยต้นฉบับกลอนลำดัง "พลทหารโข่ง" ยังทำงานเบื้องหลังสร้างสรรค์งานเพลงให้นักร้องเหมือนเดิม

 สรุปว่าตัวจริงเสียงจริงไม่ได้หายไปไหน ในยุคสื่อใหม่ครองเมือง จะอยู่บ้านนอกบ้านนา ก็สามารถสร้าง "พื้นที่การแสดง" ให้ตัวเองได้ ดังเช่นคนดังในอดีตกับลำโขงแชนแนล!

"บรรณวัชร"